xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ มอบนโยบายทูต-ผู้ว่าฯ เน้นบูรณาการเชื่อมโยงพัฒนายั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายเอกอัครราชทูต และผู้ว่าราชการจังหวัด เน้นสร้างบรูณาการการทำงานเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้รอยต่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (10 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและมอบนโยบายในการประชุมเต็มคณะกับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ภายใต้คำขวัญ “เชื่อมโลกสู่ไทย เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมจังหวัดสู่เพื่อนบ้านและโลก” ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

โดยมีผู้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 32 จังหวัด เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นต้น รวมทั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมด้วย

โอกาสนี้ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงานสรุปการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงและการไปมาหาสู่ในระดับประชาชน การค้าชายแดนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการประชุมระดับยุทธศาสตร์ อาทิ ACMECS ASEAN ยิ่งเพิ่มความร่วมมือกในระดับยุทธศาสตร์กับเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านคือหัวใจสำคัญของความร่วมมือ โดยเน้นรูปแบบ win/win บนพื้นฐานความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีตั้งแต่ระดับประชาชน เยาวชน จังหวัด ประเทศ ขณะเดียวกัน นายจักร บุญหลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวเสริมสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ ในพื้นที่ด้วย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการทำงานเป็นทีมอย่างบูรณาการ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานหลักด้านกิจการภายในประเทศ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาค และโลก สอดคล้องกับแนวทางและกลไกที่ยั่งยืนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี นโยบาย “ไทยนิยม ยั่งยืน” และ “ประชารัฐ” รวมทั้งโมเดลการพัฒนา “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะระดับฐานรากในพื้นที่จังหวัดชายแดน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี คือ การเน้นการพัฒนาทุนทางเศรษฐกิจ ตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจภาคประชาชนที่เน้นกลุ่มประชาชนฐานราก การพัฒนาคู่ขนานทั้งสองด้านนี้จะทำให้การพัฒนาประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถหลุดจากกับดักรายได้และไม่ติดกับดักใหม่

รัฐบาลยังมีนโยบายไทยแลนด์+1 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความเชื่อมโยงระหว่างความร่วมมือกับประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคและนอกภูมิภาค โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงการต่างประเทศขับเคลื่อนความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาไทยและประเทศเพื่อนบ้านในกรอบต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในส่วนภูมิภาคและจังหวัดโดยอาศัยกลไกต่างๆ ที่มีอยู่

ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในทุกระดับ ผ่านนโยบายพลังประชารัฐ และไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อสร้างการรับรู้การดำเนินงานของรัฐบาลและส่วนราชการ ขณะเดียวกันก็รับทราบความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ส่วนราชการต้องดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพ บูรณาการ มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการให้บริการและการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้ทั่วถึง เป็นธรรม และตรวจสอบได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ใช้หลักการระเบิดจากข้างใน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้น ไทยต้องเสริมสร้างความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ในทุกมิติ ด้วยการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือลดอุปสรรคต่อการค้าและความเชื่อมโยงระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน การค้าชายแดน การพัฒนาด่านชายแดน การท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค และเน้นการสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งจากรากฐาน รวมทั้งส่งเสริมลู่ทาง/ชี้ช่องทางเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการของไทยทั้ง start-up และบริษัทขนาดใหญ่ ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาชายแดนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการ SEP for SDGs เพื่อให้อนุภูมิภาคมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า รัฐบาลได้ให้หลักการสำคัญด้านการต่างประเทศ คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศอย่างจริงใจ เหมือนการจับมือกันอย่างอบอุ่น หาความต้องการที่แท้จริง เน้นการสร้างความยั่งยืนในทุกระดับทั้งกรอบทวิภาคี พหุภาคีและไตรภาคี สำหรับการสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ต้องครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ การคมนาคม การเดินทางท่องเที่ยว ระดับประชาชน รวมทั้งกฎระเบียบที่ต้องสอดคล้องกัน ขณะเดียวกัน ต้องมีกลไกที่สามารถติดตามการลงนามความร่วมมือต่างๆให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน และขอให้กระทรวงต้องไปจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของตนเอง ขณะเดียวก็ต้องคงอัตลักษณ์ความเป็น ASEAN ด้วย สำหรับการที่ไทยจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้านั้น ไทยจะต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนอย่างแท้จริง ร่วมมือกันขจัดปัญหา อุปสรรคของอาเซียน เพื่ออาเซียนเข้มแข็งไปด้วยกัน (Stronger Together) นายกรัฐมนตรีย้ำว่า “การดำเนินงานด้านต่างประเทศมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน จึงต้องบูรณการงานร่วมกัน และต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องเชื่อมโยงประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ ต่างประเทศจะต้องมีบทบาทเป็นศูนย์ดำรงธรรมเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศด้วย คือ เชื่อมไทย เชื่อมโลก ที่แท้จริง”







กำลังโหลดความคิดเห็น