xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ชวนรวมใจเป็นหนึ่งขับร้องบทเพลง “สดุดีจอมราชา” วันเฉลิมฯ “ร.10”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐบาลชวนคนไทย ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “วันเฉลิมพระชนมพรรษา ร.10” รวมใจแสดงความจงรักภักดี ขับร้องบทเพลง “สดุดีจอมราชา” โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ คุย 4 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่น ไว้ใจจากประชาคมโลก ทำให้มีอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ ชี้ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ควรเผาไปใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นวิธีการที่เกิดประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (27 ก.ค.) เวลา 20.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ รัฐบาล ขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทย ทุกหมู่เหล่า รวมใจเป็นหนึ่งเดียว แสดงพลังแห่งความจงรักภักดี ด้วยการร่วมขับร้องบทเพลง “สดุดีจอมราชา” โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ในพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน สถิตเป็นพระมิ่งขวัญ ปกเกล้า ปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎร์ ตราบกาลนาน

ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาล และ คสช.ได้วางรากฐานการพัฒนาประเทศ โดยก้าวข้ามกับดัก ก้าวไปข้างหน้า ให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ จน สามารถสร้างความเชื่อมั่น ไว้ใจจากประชาคมโลก ทำให้มีอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ

นอกจากนี้ เรายังถูกจัดให้เป็นผู้นำในหลายๆ ด้าน เช่น การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง การจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร และที่สำคัญคือ การเป็น “1 ใน 20 ประเทศ” ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านนวัตกรรม

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเป็น “หลักฐานเชิงประจักษ์” ที่สากลให้การยอมรับ ในฐานะและจุดยืนของประเทศไทย ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การเดินทาง เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ เป็นไปด้วยความราบรื่น

สำหรับประเด็น “การนำพลังงานจากขยะเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า” นั้น เรามีวิธีกำจัดขยะหลายวิธีนะครับ แต่ปัจจุบันมักใช้ “การฝังกลบ หรือเทกอง” ซึ่งไม่ใช่การจัดการขยะ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะยังคงมีปริมาณขยะตกค้าง อยู่เป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานในการย่อยสลาย

ส่วน “การเผา” เพื่อลดปริมาณขยะนั้น นับเป็นวิธีที่จะทำให้การจัดการขยะ มีประสิทธิภาพ และ สามารถนำพลังงานที่เกิดจากการเผาขยะ ไปใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ก็จึงเป็นวิธีการที่เกิดประโยชน์สูงสุด

และได้มีการกำหนดไว้ใน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอย และขยะอันตรายรวมทั้ง แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 แล้ว

เราต่างเข้าใจตรงใจว่า “การจัดการขยะ เป็นเรื่องที่รอไม่ได้” เรามีขยะเกิดขึ้นทุกวัน มีอัตราการเกิดขยะเพิ่มขึ้น ตลอดเวลา เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

ดังนั้น หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนแล้ว ก็จะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จนยากที่จะรับมือนะครับ

คำต่อคำ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ตั้งแต่ทรงดำรงพระราชฐานะพระรัชทายาท เมื่อเสร็จสิ้นทรงราชย์ทรงห่วงใย และทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์เป็นสำคัญ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะสนองพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกนาถด้วยการสืบสานรักษา และต่อยอดศาสตร์พระราชา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และประเทศชาติเจริญก้าวหน้ามั่นคง อาทิ พระราชทานความสุขแก่ประชาชน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้พระลานพระราชวังดุสิต จัดการแสดงดนตรี โดยมีวงดนตรีจากหน่วยงานต่างๆ หมุนเวียนกันมาจัดแสดงจัดงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

รวมถึงเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติ เผยแพร่ความงดงามของความเป็นไทย และวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตถึงปัจจุบัน ทรงส่งเสริม สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ ได้แก่ งาน เถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในการบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน อีกทั้งสร้างสรรค์สัมพันธ์ระหว่างข้าราชบริพาร หน่วยงานในพระองค์ หน่วยงานของรัฐ เอกชน และประชาชน ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ รวมทั้งทหาร ตำรวจที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ไปมอบสิ่งของพระราชทาน พร้อมเชิญพระราชกระแสทรงห่วงใย และให้กำลังใจ สร้างความซาบซึ้ง และปลาบปลื้มปีติแก่ทหาร ตำรวจ และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง พระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กที่ยากจน และด้อยโอกาส มีรับสั่งให้องคมนตรีดูแลติดตามเรื่องของการศึกษา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้มีพื้นฐานชีวิตที่เข้มแข็ง ตลอดจนพัฒนาระบบการศึกษาทรงไกลผ่านดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีพระบรมราโชบายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏผลิตครูที่มีคุณภาพ และทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่น ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และทุกๆ ศาสนาในประเทศ ทรงปลูกฝังให้ชาวไทยปฏิบัติธรรม สวดมนต์ สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เพื่อแสดงกตัญญุตาคุณประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความดีงาม สุจริต เที่ยงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์บทเจริญพระพุทธมนต์ และทรงออกแบบปกด้วยพระองค์เอง พระราชทานแก่พระราชบริพาร และประชาชน

อีกทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2561 รัฐบาลขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้รวมใจเป็นหนึ่งเดียว แสดงพลังแห่งความจงรักภักดีด้วยการร่วมขับร้องบทเพลงสดุดีจอมราชา โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ในพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน สถิตเป็นพระมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎร์ ตราบกาลนาน

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ในช่วงเวลา 4 ปีที่่ผ่านมา รัฐบาลและ คสช.ได้ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีมานานในอดีต และวางรากฐานการพัฒนาประเทศโดยก้าวข้ามกับดัก เพื่อจะเดินไปข้างหน้าให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศอย่างสมภาคภูมิ สามารถสร้างความเชื่อมั่น ไว้ใจจากประชาคมโลกได้โดยลำดับ อาทิ เรื่องการบินพลเรือน (ICAO) การประมงที่ถูกต้องตามหลักสากล (IUU) และสถานการณ์ค้ามนุษย์ที่อยู่ในระดับที่ดีขึ้น TIP report มาโดยลำดับ ล่าสุด องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ได้เปิดเผยรายงานการประเมินผลดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2561 โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับที่ 51 ในปีที่แล้ว มาเป็นอันดับที่ 44 ในปีนี้ จากทั้งหมด 126 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ เรายังถูกจัดให้เป็นผู้นำในหลายๆ ด้าน เช่น การส่งออกสินค้าที่สร้างสรรค์ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง การจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร และที่สำคัญคือ การเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านนวัตกรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สากลให้การยอมรับในฐานะและจุดยืนของประเทศไทย ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การเดินทางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ เป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งผลการเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส เมื่อเดือนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี ตามที่ผมเคยได้เล่าให้ฟังไปแล้ว และล่าสุดการเยือนศรีลังกาโดยให้ความสำคัญของการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ระหว่างไทย และศรีลังกา อาทิ การเชื่อมไทย และศรีลังกาผ่านกรอบความร่วมมือ ACMECS และการเชื่อมท่าเรือโคลัมโบของศรีลังกากับระนองของไทย เป็นต้น

ซึ่งจะไม่เป็นเพียงการพูดคุย แล้วก็ผ่านไป แต่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆ แล้ว และจะส่งต่อให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ที่หวังเอาไว้

สำหรับการเยือนภูฏานนั้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือให้แน่นแฟ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการพัฒนาประเทศ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญอย่างที่สุด คือ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน

ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ที่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินี มีพระบรมราชานุญาต ให้ผม และคณะ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ระราชวังทาชิโช อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อมโยงทางพุทธศาสนา สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะ สถาบันกษัตริย์ อันเป็นจุดเชื่อมโยงจิตใจของประชาชนทั้งสองประเทศด้วย

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่อยู่ในบริบทของความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ ด้านการพัฒนา สาธารณสุข และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

โดยภูฏาน มองไทยันั้นเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอดคล้องกับทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ ของภูฏาน

สำหรับโครงการความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการผลิตภัณฑ์โอกอป OGOP ของภูฏาน และโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ ทางการเกษตร ในพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ณ เมืองพูนาคา

ซึ่งได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้เป็นต้นแบบ ในการออกแบบโครงการด้านระบบชลประทาน และการบริหารจัดการน้ำ สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ อีกด้วย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นว่า ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เป็นสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพและเอื้อประโยชน์แก่กันได้ จึงเห็นควรผลักดันความร่วมมือดังกล่าวนะครับ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย - ภูฏาน (JTC) ก็เป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ สำหรับการเดินทางไปตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 หรือ กลุ่มจังหวัดราชธานีเจริญศรีโสธร ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดินที่เราจำเป็นต้องลงพื้นที่ เพื่อติดตาม ประเมินผลการขับเคลื่อนในระดับปฏิบัติ แต่ละภูมิภาคของประเทศและรับฟังปัญหาโดยตรงจากปากพี่น้องประชาชน

รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งผมและคณะรัฐมนตรี ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ข้าราชการ และทุกภาคส่วนในพื้นที่นะครับ ที่ให้การต้อนรับ อย่างอบอุ่น

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมแปลกใจ คือ กลุ่มจังหวัดนี้ แม้ว่าจะมีแม่น้ำโขง ชี มูล หล่อเลี้ยงภาคการผลิต ที่นับว่าตั้งอยู่ในผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม มีผลผลิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร และแหล่งแปรรูปสมุนไพรที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน แต่ทำไมยังคงเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีภูมิศาสตร์ที่ตั้ง อยู่บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นระยะทางยาว มีจุดผ่านแดน ทั้งจุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรน รวม 9 ช่องทาง อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่โดดเด่นอยู่เป็นจำนวนมาก

แต่คงเป็นเพราะยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เนื่องจากโครงการพัฒนาต่างๆ ในอดีต ไม่กระจายมาถึงที่นี่ และไม่มียุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องระยะยาว

ในครั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้ลงไปเห็นด้วยตาสัมผัสถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนด้วยใจ โดยโครงการต่างๆ ที่เสนอขึ้นมา หากสามารถเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ และมีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ต้องพิจารณาปรับให้มาดำเนินการ เร็วขึ้น

อาทิ การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ เพื่อการท่องเที่ยว และเชื่อมโยงการค้าชายแดน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และแก้ไขปัญหาอุทกภัย การยกระดับการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น โครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และ ศูนย์การแพทย์แผนไทยพนา ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจรเป็นต้น เพื่อจะให้กลุ่มจังหวัดนี้ ได้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ของคนในพื้นที่ ก็คือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และเกษตรอินทรีย์เพิ่มมูลค่า การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การค้าชายแดนได้มาตรฐานสากล

ก้าวแรกแห่งความสำเร็จนี้ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีก็คือ เราได้เห็นผลสำเร็จจากการส่งเสริมสมุนไพรไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การผลิตยา (GMP)

ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดสมุนไพรไทยโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถส่งออกสมุนไพรและสารสกัดได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่าภายในปี 2564 เราจะสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า 5.69 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาชีพการปลูกสมุนไพรก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบในการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงและยื่นกรรมสิทธิ์เพื่อการออมมูลค่าของเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 58 ชนิด เช่น พะยูง แดง , เต็ง เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ นับว่าประเทศได้ป่า ประชาได้ประโยชน์ เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

พี่น้องประชาชน การพัฒนาครอบครัว และชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากของสังคมให้เข้มแข็งนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก เราต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการ และด้อยโอกาส ให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกันในสังคม ในการนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เตรียมจัดงานไทยแลนด์ โซเชียล เอ็กซ์โป 2018 ขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคมนี้ ณ ฮอลล์ 5-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ซึ่งเกิดจากองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสังคม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 80 หน่วยงาน ตามแนวทางประชารัฐ พร้อมด้วยหลักการทำงานตามแนวคิด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นการทำงานด้านความมั่นคงครั้งแรกของประเทศไทย และเตรียมก้าวสู่บทบาทนำในประชาคมอาเซียนปีหน้าด้วย

พี่น้องประชาชน สำหรับประเด็นที่อยากทำความเข้าใจให้ตรงกันวันนี้ เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ เช่น พระราชบัญญัติเทศบาล 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และพระราชบัญญัติบริหารราชการเมืองพัทยา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนองค์กรปกครองดูแลส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนดอีกชั้น ซึ่งไม่ใช่อำนาจในการบังคับบัญชา ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ คำแนะนำ เพื่อให้ข้อปฏิบัติต่างๆ อยู่ในกรอบอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ เพราะ อปท. เป็นดำรงฐานะนิติบุคคลด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในการบริหารจัดการขยะอย่างครบถ้วน ถึงมีพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 เพื่อให้ครอบคลุมในทุกประเด็นที่มากกว่าจัดเก็บขยะ อาทิ ประเด็นส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ การคัดแยกขยะ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใหม่ หาประโยชน์จากการจัดการขยะมูลฝอย โดยเป็นธุรกิจ การให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงกลไกในการจัดการที่เป็นเอกภาพ เป็นต้น

ส่วนประเด็นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน รัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทยจะเข้าไปครอบงำ กระบวนการจัดการขยะมูลฝอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการนั้น ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเรียบร้อยของบ้านเมือง ได้อำนวยความสะดวกให้เอกชนที่มีส่วนร่วมดำเนินการให้ยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

ทั้งนี้ เพื่อความรอบครอบในการการดำเนินการอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในการดำเนินการของเอกชน กฎหมายจึงกำหนดให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมาประกอบการดำเนินการด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องได้กำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้น ในการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ และอำนาจในการให้ความเห็นชอบเป็นอำนาจของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ดังนั้น การที่ประกาศเจ้ากระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความเห็นชอบ ในหลักการของโครงการที่จะมอบหมายให้เอกชนดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการกำจัดมูลฝอย จึงเป็นไปตามหลักการเดียวกันกับกฎหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งไม่ใช่การเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดเฉพาะ ซึ่งหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเอกชน โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐมาบังคับใช้โดยอนุโลม

สำหรับประเด็นการนำพลังงานจากขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้านั้น เรามีวิธีกำจัดขยะหลายวิธี แต่ปัจจุบันมักใช้การฝังกลบ หรือเทกอง ซึ่งไม่ใช่การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะยังคงมีปริมาณขยะตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานในการย่อยสลาย ส่วนการเผาเพื่อลดปริมาณขยะนั้น นับเป็นวิธีที่จะทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพ และสามารถนำพลังงานที่เกิดจากการเผาขยะไปใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ก็จึงเป็นวิธีการที่เกิดประโยชน์สูงสุด และได้มีการกำหนดไว้ในโรดแมป การจัดการขยะมูลฝอย และขยะอันตราย รวมทั้งแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 แล้ว

ทั้งนี้ การขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศนั้นจะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งได้กำหนดโควตา อัตราค่าไฟฟ้า ในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ เป็นพลังงานทดแทนประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะของประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพบเห็นอยู่เสมอ ก็คือเมื่อมีโครงการกำจัดขยะจะเกิดขึ้นที่ใด ก็จะมีการต่อต้านจากประชาชนอยู่เสมอ ในกรณีนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการว่า ขยะเกิดที่ไหน ต้องกำจัดที่นั่น เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มีข้อยกเว้นใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

1. การยกเว้นการปฏิบัติตามผังเมืองให้สามารถก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะในพื้นที่สีเขียวได้ เพราะสถานที่กำจัดขยะจำเป็นต้องอยู่ห่างจากชุมชนในระยะที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องมีการควบคุมการดำเนินงาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ หรือเหตุรำคาญแก่สภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างเคร่งครัดด้วย และ

2. การนำประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับโครงการที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอย เป็นเชื้อเพลิง มาใช้เป็นการอำนวยความสะดวกให้การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีมาตรการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ใครโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าต้องมีความเหมาะสมในการก่อสร้าง มีปริมาณขยะที่เพียงพอ เราคงไม่สามารถก่อสร้างได้ทุกๆ พื้นที่ และต้องมีการจัดกลุ่มให้ดี ระหว่างพื้นที่จัดตั้งศูนย์คัดแยกและโรงไฟฟ้าให้เหมาะสม เราต่างเข้าใจตรงใจว่า การจัดการขยะเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เรามีขยะเกิดขึ้นทุกวัน มีอัตราการเกิดขยะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ดังนั้น หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนแล้ว ก็จะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จนยากที่จะรับมือ

สุดท้ายนี้หากพิจารณาดูแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้นักฟุตบอลเยาวชนหมูป่า ซึ่งประสบภัยทางธรรมชาติอย่างแสนสาหัส แต่ก็สามารถรอดพ้นวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ก็ด้วยความเป็นนักกีฬา ที่มีน้ำอดน้ำทน มีสุขภาพกายและจิตใจที่เข้มแข็ง ดังนั้น ผมจึงอยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทยหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้นเป็นกิจวัตร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ปราศจากโรคภัย ประหยัดค่าหมอ ค่ายาแล้ว ก็ยังช่วยให้ทุกคนมีสปิริตนักกีฬา มีทักษะการคิด การตัดสินใจที่ดี ภายใต้แรงกดดันอีกด้วย

ทั้งนี้ การวิ่งนับว่าเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก หากเป็นการวิ่งการกุศลแล้ว ก็จะได้บุญไปด้วย เช่น งานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เดิน-วิ่งการกุศล เพื่อจะหาเงินรายได้ส่วนหนึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นการสนองพระปณิธานใน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผู้ป่วยยากไร้ในท้องถิ่นห่างไกล ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงการบริบาลด้านสาธารณสุข ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยสามารถจะร่วมสร้างกุศล ด้วยการร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน ศกนี้ หรือร่วมแสดงพลังน้ำใจคนไทย ด้วยการสมทบทุนตามช่องทางต่างๆ ตามหน้าจอ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พี่น้องประชาชนครับ พรุ่งนี้รายการเดินหน้าประเทศไทย ทุกวันเสาร์ เราปฏิรูป จะเป็นการนำเสนอในแนวใหม่ที่เน้นสร้างการรับรู้ เข้าใจ และร่วมมือ เพื่อสร้างไทยไปด้วยกัน ผมอยากให้รอติดตามชม เหมือนทุกๆ เย็น หลังเคารพธงชาติ ที่รัฐบาลและ คสช. พยายามที่จะนำเสนอเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ สำหรับทุกคน

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ และทุกครอบครัว มีความสุข ปลอดภัยในช่วงวันหยุดยาว สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น