xs
xsm
sm
md
lg

ตีปี๊บปฏิรูป “บริหารราชการแผ่นดิน-กระบวนการยุติธรรม” ยันตอบโจทย์ แย้มปรับตามฐานะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐตีปี๊บปฎิรูป “บริหารราชการแผ่นดิน-กระบวนการยุติธรรม” รวดเร็วตอบโจทย์ชีวิตประชาชน สถานีตำรวจทำงานเบ็ดเสร็จ ปชช.ร้องทุกข์ผ่าน สน.ไหนก็ได้-ลดเหลื่อมล้ำคนจน ลงโทษปรับตามฐานะและรายได้

วันนี้ (22 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นางเบญจวรรณ สร่างนิทร รองประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดิน และนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ กรรมการและเลขานุในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ร่วมกันแถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “สร้างมิติใหม่ภาครัฐ ยืนหยัดยุติธรรม” โดยนางเบญจวรรณกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดินว่า ได้มีการกำหนดกลไก เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 6 เรื่อง ได้แก่ การบริการภาครัฐ สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน ระบบข้อมูลภาครัฐมีมาตรฐาน ทันสมัย และเชื่อมโยงกันก้าวสู่รัฐบาลดิจิตอล โครงสร้างภาครัฐกะทัดรัด ปรับตัวได้เร็วและระบบงานมีผลสัมฤทธิ์สูง กำลังคนภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสมและมีสมรรถนะสูงพร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระบบบริหารงานบุคคลที่สามารถดึงดูด สร้างและรักษาคนดีคนเก่งไว้ในภาครัฐ และสุดท้ายคือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คล่องตัว โปร่งใส และมีกลไกป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

ด้านนายชาญณรงค์กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ว่า มี 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจะต้องทำให้รวดเร็ว โดยเร็วๆ นี้จะมีการเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐบาล เรื่องการกำหนดระยะเวลาในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมที่จะมีเนื้อหา วิธีการ และประชาชนจะตรวจสอบความคืบหน้าได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี 2. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจะให้สถานีตำรวจบริการแบบเบ็ดเสร็จ ประชาชนสามารถร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจไหนก็ได้ ไม่เฉพาะในเขตพื้นที่เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แล้ว มีสัญญาณว่าจะทำได้ 3. การสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมในเรื่องความโปร่งใส โดยกำหนดให้ใช้กล้องบันทึกภาพในการจับ ตรวจค้น สอบปากคำผู้ต้องหา และ 5. ปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราวผู้มีรายได้น้อย โดยพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลคุมประพฤติมาใช้ การมีมาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก เช่น การทำงานเพื่อสังคม และการลงโทษปรับตามฐานะและรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น