xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า เปิดตัวหนังสือวิเคราะห์ นายกฯ ม.7 รับหวั่นวุ่น แนะแก้ทุกวิกฤตอย่าแค่ตั้งนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส.พระปกเกล้า เปิดตัวหนังสือวิเคราะห์นายกฯ ม.7 “ไชยันต์” แจงมาตรา 5 ตาม รธน.60 การไม่มีเจ้าภาพ-ต้องตีความประเพณีการปกครอง เสี่ยงทำวุ่น “นรนิติ” ชี้เป็นอำนาจศาล รธน.ตีความเพื่อหาทางออก แนะมอง ม.5 เป็นยาทั่วไปใช้แก้ได้ทุกปัญหาวิกฤตบ้านเมืองที่ไร้ทางออก ไม่ใช่แค่ขอตั้งนายกฯ

วันนี้ (20 ก.พ.) สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข : บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (มุมมองทางรัฐศาสตร์)” ที่นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เขียนขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า โดยนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เรื่องมาตรา 7 ซึ่งในรัฐธรรมนูญปัจจุบันคือมาตรา 5 ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เรื่องดังกล่าวมีโจทย์คำถามหลายอย่างว่า อะไรคือประเพณีการปกครอง แล้วต้องเอาประเพณีการปกครองตามศาสตร์ของใคร เอาหลักของใครมาตอบคำถามเรื่องประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และในรัฐธรรมนูญปี 60 มีการใส่ข้อความว่าเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทย ซึ่งจะต้องดูว่าประเพณีการปกครองของประเทศไทยคืออะไร ดังนั้นจึงเป็นการคลี่คลายคำถามที่น่าสงสัยเหล่านี้ เพราะหากมีปัญหาขึ้นมาในอนาคตเราจะได้มีคำตอบ และเป็นส่วนในการช่วยหาทางออก

นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนสนใจเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นต้นเหตุของวิกฤติการณ์ทางการเมืองถึง 2 ครั้ง คือ ปี 2549 และปี 2556 ซึ่งมีการยกประเด็นมาตรา 7 ขึ้นมาอ้าง ทั้งนี้ ปกติมาตรา 7 จะไม่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเลย แต่เริ่มมีมาหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา แต่ไม่มีการเขียนไว้ชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าภาพในเรื่องมาตรา 7 ทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ มีการระบุคณะบุคคลที่จะมาวินิจฉัยมาตรา 7 ไว้ชัดเจน คือ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย มีข้อดีคือรักษาสถาบันฯ ไม่ให้ต้องมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ถูกคว่ำไป และในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ไม่ได้ระบุผู้ที่เป็นเจ้าภาพไว้ ก็จะทำให้สถาบันฯ ต้องมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ก็มีข้อดีว่าในยามบ้านเมืองมีความขัดแย้งไร้ทางออก เราก็ยังมีศูนย์รวมดวงใจ

อย่างไรก็ตาม หากถ้ามองข้ามช็อตไปถึงหลังการเลือกตั้งครั้งหน้านี้แล้วเกิดปัญหาไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ทั้งจากคนในและคนนอก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องว่ากันตามประเพณีการปกครอง แต่ก็จะต้องมาตีความว่าประเพณีการปกครองของประเทศไทยจะต้องทำอย่างไร คือการนำมาสู่นายกฯ ตามมาตรา 7 เดิม หรือตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 60 ใช่หรือไม่

ด้านนายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าวันนี้การตีความเรื่องนี้คนจะตีความได้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น เรื่องมาตรา 5 ไม่ใช่เรื่องการตั้งนายกฯ อย่างเดียว แต่ครอบคุลมถึงทุกปัญหาวิกฤตบ้านเมืองที่ไม่มีทางออกซึ่งเป็นความหมายที่กว้างมาก ดังนั้น มาตรา 5 จริงๆ จึงถือเป็นยาทั่วไป หากไม่มีทางออกก็ต้องมาใช้มาตรานี้ ที่เปิดทางให้แก้ปัญหาวิกฤตได้ในหลายๆ อย่าง



กำลังโหลดความคิดเห็น