xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไม่หนักใจมี 1 เสียงทำหน้าที่แย้งปรับแก้ กม.ส.ส.-ส.ว. ยึดมติเป็นหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (แฟ้มภาพ)
ประธาน กกต.เผยไม่หนักใจทำหน้าที่ 1 เสียง กกต. แย้งปรับแก้กฎหมาย ส.ส.-ส.ว. ยึดมติ กกต.เป็นหลัก

วันนี้ (14 ก.พ.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเป็นตัวแทน กกต.ในคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ส่วนตัวไม่มีความกังวลอะไร พร้อมเป็นตัวแทนของ กกต.เพื่อไปทำหน้าที่ โดยประเด็นที่จะนำไปแถลงและชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมการร่วม 3 ฝ่ายก็จะเป็นการไปยืนยันมติของ กกต.ที่มีความเห็นแย้ง 6 ประเด็น ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.5 ประเด็น และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.1 ประเด็น คือ มาตรา 64 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้อำนาจศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับการสรรหาได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 226

“จากที่เห็นรายชื่อกรรมการในส่วนของ สนช.และ กรธ.แล้ว ไม่รู้สึกกังวลใดๆ เพราะมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ พร้อมชี้แจงเหตุผลซึ่งเป็นไปตามมติของ กกต.

ก่อนหน้านี้ กกต.มีมติที่จะทำความเห็นแย้ง ในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.5 ประเด็น ประกอบด้วย 1 เรื่องที่ให้ผู้สมัครพรรคการเมืองมีหมายเลขแตกต่างกันไปตามเขตเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.เห็นว่าขัดกับมาตรา 224 (2) ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ กกต.มีบทบาทในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม การมีหมายเลขแตกต่างกันในแต่ละเขตของแต่ละพรรคจะทำให้กระบวนการจัดเตรียมพิมพ์บัตรต้องกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดบัตรปลอมมากขึ้น แทนที่จะพิมพ์ในส่วนกลางที่สามารถควบคุมบัตรเลือกตั้งให้ปลอดภัย ไม่สามารถปลอมแปลงบัตรได้ ทำให้ยากจะจัดการเลือกตั้งให้เกิดการสุจริต เที่ยงธรรมได้

2. ประเด็นมหรสพ ที่กำหนดให้การหาเสียงของผู้สมัครสามารถจัดมหรสพได้ จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะการคำนวณค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้จะทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็ก ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 224 (2) 3. มาตรา 62 วรรค 2 กรณีที่กำหนดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองเท่ากัน ตามหลักเกณฑ์ที่กรรมการการเลือกตั้งกำหนด 4. มาตรา 133 เรื่องขอบเขตอำนาจศาลให้ใบเหลืองหลังประกาศผลเลือกตั้งได้ เป็นการเขียนเกินขอบเขตของกฎหมาย เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใบแดงกับใบดำเท่านั้น ขัดกับสาระของรัฐธรรมนูญเท่ากับขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และ 5. มาตรา 138 ภายหลังประกาศเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งด้วย หรือที่เรียกว่าใบดำ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ได้ทั้งใบดำและใบแดง แต่ในกฎหมายเขียนให้ใบดำเพียงอย่างเดียว จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กกต.เห็นแย้งในมาตรา 64 เรื่องที่ให้อำนาจศาลให้ใบดำเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการเขียนให้สอดรับกับร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญศาลสามารถให้ได้ทั้งใบดำและใบแดง


กำลังโหลดความคิดเห็น