xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ จี้ ขสมก.เร่งฟื้นฟูองค์กร หลัง ครม.ให้กู้ 4.9 พันล้าน ชี้ข้อมูลอีบิตดา 9 ปี ติดลบ 2.1 พันล้าน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ จี้ ขสมก.เร่งฟื้นฟูองค์กร ปรับแผนบริหารหนี้ระยะยาว หลัง ครม.เปิดทางกู้ 4.9 พันล้าน ชำระหนี้ระยะสั้น เสริมสภาพคล่องปี 2561 เผยข้อมูล “อีบิตดา” ปีงบ 2551-2559 เฉลี่ย “ขสมก.” ติดลบ 2.1 พันล้าน/ปี แสดงถึงความไม่สามารถดำรงอยู่ขององค์กร หวั่นหากรัฐยังทำเช่นเดิมจะมีหนี้เพิ่มขึ้น

วันนี้ (12 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 ก.พ. โดยได้อนุมัติตามที่นายสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจที่กำกับกระทรวงคมนาคม ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินรวม 4,975 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายใน 2 ส่วน ได้แก่ การกู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินต้น ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 1 มี.ค. 2561 จำนวน 2,962 ล้านบาท แยกเป็นเงินกู้จากธนาคารออมสิน 2,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 962 ล้านบาท ส่วนที่ 2 จะเป็นเงินกู้เพื่อการเสริมสภาพคล่องทางการเงินปีงบประมาณ 2561 จำนวน 2,013 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานต่อ ครม.ว่า ขสมก.จะขาดเงินสดเพื่อใช้ดำเนินงานช่วงเดือน ก.พ. 2561 ส่วน ขสมก.ระบุว่าได้สนองนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จึงเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน และไม่สามารถขึ้นค่าโดยสาร จึงขาดสภาพคล่องทุกปี

ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ขสมก.ควรทำแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะ ยาวและแผนบริหารหนี้ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกำหนดไว้ ส่วนกระทรวงการคลังระบุว่าข้อมูลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อีบิตดา) ของ ขสมก.ในปีงบประมาณ 2551-2559 เฉลี่ยติดลบ 2,100 ล้านบาท/ปี แสดงถึงความไม่สามารถดำรงอยู่ขององค์กร และหากทำเช่นเดิมจะมีหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมควรเร่งแก้ไขปัญหา

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีปี 2553 ได้อนุมัติให้ ขสมก.กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าดอกเบี้ย จำนวน 2,041.677 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการ เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน พร้อมกำหนดให้ ขสมก. รับข้อสังเกตของสภาพัฒน์ เกี่ยวกับการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ ขสมก. และให้ ขสมก.เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และรับความเห็นของสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขประเด็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการปรับปรุงการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระหนี้สินที่สะสมมาต่อเนื่องทุกปี ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2554 ขสมก.ต้องชำระค่าดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้จำนวน 2,338.400 ล้านบาท ด้วยการนำรายได้ค่าโดยสารคงเหลือไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ย 296.723 ล้านบาท โดยยังขาดเงินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว จำนวน 2,041.677 ล้านบาท.

ขณะที่ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 ครม.อนุมัติให้ ขสมก.กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิง และค่าเหมาซ่อมรถปรับอากาศ ประจำปีงบประมาณ ปี 2561 จำนวน 2,833 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเชื้อเพลิง จำนวน 1,905 ล้านบาท และค่าเหมาซ่อม จำนวน 927 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน ทั้งนี้การกู้เงินดังกล่าวจะทำให้ ขสมก. ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยลง 5% คิดเป็นประมาณเดือนละ 11.92 ล้านบาท หรือปีละ 143 ล้านบาท เพราะจากเดิมตามสัญญากรณีผิดนัดชำระหนี้ ขสมก.ต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 7.12-7.375% แต่เมื่อ ขสมก.กู้เงินก็จะจ่ายดอกเบี้ยเพียง 2.152 %

“การดำเนินการกู้เงินในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของ ขสมก. เพราะในปีงบประมาณ ปี 2561 มีการประมาณการว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือประมาณ 29,856 ล้านบาท โดยเป็นค่าเชื้อเพลิง และค่าซ่อมเหมา รวม 2,833.084 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าไถ่ถอนธนบัตร และค่าเงินกองทุนบำเหน็จของพนักงาน ซึ่งทาง ขสมก.จะดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อมาชำระหนี้ในส่วนที่เหลือต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการรถโดยสารประจำทางแก่ประชาชน”


กำลังโหลดความคิดเห็น