xs
xsm
sm
md
lg

ถกตั้งพรรคใหม่คึกคัก การเมืองแห่ร่วม เตือนขัดข้อบังคับเจอยุบ “เมียบิ๊กจ๊อด” เปิดตัวตั้งพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต.ประชุมชี้แจงตั้งพรรคใหม่ สุดคึกคัก 114 กลุ่มการเมืองร่วมฟังวง แจงขั้นตอน “ธีรวัฒน์” ชี้ ปชต.ไม่ใช่ภาพลวงตา แค่ยังกะเวลาไม่ได้ “นายทะเบียนพรรค” เตือนทำข้อบังคับพรรคให้รอบคอบ หากขัดกฎหมายเสี่ยงถูกยุบพรรค ด้าน “เมียบิ๊กจ๊อด” เปิดตัวตั้งพรรคเพื่อชาติไทย หวังเชื่อมแนวคิด 2 กลุ่มปฏิวัติ-การเมือง ยุติขัดแย้ง ไม่เกี่ยงหนุนทหารเป็นนายกฯ คนนอก

วันนี้ (9 ก.พ.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางกระบวนการและขั้นตอนการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมีกลุ่มการเมืองที่สนใจจะจัดตั้งพรรคการเมืองเข้าร่วม 114 กลุ่ม 291 คน และมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก รวมมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า กระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายใหม่มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก กกต.จึงพยายามอำนวยความสะดวกให้การจัดตั้งพรรคการเมืองสำเร็จลุล่วง โดยตระหนักดีว่ารัฐธรรมนูญมุ่งพัฒนาให้เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ พรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชน ล้วนมีความสัมพันธ์กัน หากพรรคการเมืองมีคุณภาพก็จะทำให้นักการเมืองพัฒนาตนไปในทางที่ดี ประชาชนก็จะมีพัฒนาการทางการเมืองที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งผู้ถูกว่าร้ายตลอดมาก็คือนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่ขณะนี้เราอยู่ในบรรยากาศการปฏิรูปการเมือง บรรยากาศในวันนี้เราเห็นแสงสว่างรำไรของถนนประชาธิปไตยที่มั่นคง เป็นความหวังและน่ายินดี แต่ก็มีหลายคนเตือนว่าแสงสว่างรำไรที่เห็นอาจจะเป็นภาพลวงตา แต่ตนเห็นว่าไม่ใช่ภาพลวงตา เพียงแต่เราไม่มีความสามารถที่จะกะระยะได้แน่นอนว่ากว่าจะเดินถึงจุดแสงสว่างนั้นจะต้องใช้เวลากี่วัน กี่คืน และกี่ปี

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า กรอบความคิดของกฎหมายต้องการให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและส่งผู้สมัคร ขณะที่คุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมืองเรียกได้ว่าเกือบเท่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเลย ถือว่ามีคุณสมบัติที่เพิ่มเติมขึ้นจากเดิม ดังนั้น พรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องดูคุณสมบัติของสมาชิกพรรคให้ดี ตลอดจนเรื่องทุนประเดิมพรรค ค่าธรรมเนียมพรรค และการจัดตั้งสาขาพรรค ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และตามกฎหมายใหม่พรรคการเมืองจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะการทำข้อบังคับพรรคที่จะมีผลเลยหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติรับรอง ไม่ต้องมาผ่านการตรวจสอบของนายทะเบียนพรรคการเมืองลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเหมือนที่ ดังนั้นพรรคจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น หากข้อบังคับพรรคหรืออุดมการณ์พรรคไปเป็นการล้มล้างการปกครองก็จะทำให้ถูกยุบรวมทั้งต้องกำกับดูแลสมาชิกพรรค หากไปทำตามกฎหมายกรรมการบริหารพรรคก็จะถูกแบน และต้องเปลี่ยนเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ทั้งนี้ หลังการบรรยายแนวทางการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ระบุให้กลุ่มการเมืองเริ่มดำเนินการยื่นจัดตั้งได้ในวันที่ 1 มี.ค.แล้ว ผู้แทนของกลุ่มการเมืองก็ได้มีการสอบถามแนวทางปฏิบัติ เช่น ในเรื่องเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง และเงินบำรุงพรรค ที่หลายคนยังสับสนว่าเป็นเงินส่วนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งทาง กกต.ก็ชี้แจงว่าเงินทั้งสองส่วนเป็นคนละส่วนกัน ไม่สามารถนำเงินทุนประเดิมมาใช้เป็นเงินในการจ่ายค่าบำรุงพรรคได้ ส่วนความสงสัยเรื่องการตั้งสาขาพรรค 4 สาขานั้น ทาง กกต.ชี้แจงว่าแม้ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 145 จะกำหนดว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้หากพรรคการเมืองมีสาขาเพียง 1 แห่งในจังหวัดนั้น ก็สามารถส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้แต่ในกรณีการเลือกตั้งครั้งอื่นๆ หากพรรคที่มีความประสงค์จะส่งผู้สมัครแบบเขตทั้ง 350 เขต ก็จะต้องมีการตั้งสาขาพรรคทั้ง 350 สาขา

นอกจากนั้นยังมีคำถามเรื่องการตั้งชื่อพรรคซึ่งบางคนสนใจที่จะนำเอาชื่อชาติพันธุ์มาตั้งเป็นชื่อพรรค แต่ทาง กกต.ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะการใช้ชื่อของชาติพันธุ์มาตั้งเป็นชื่อพรรคนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจจะก่อให้เกิดการแบ่งแยกของคนในสังคมขึ้นได้ ขณะที่ตัวแทนกลุ่มการเมืองหลายรายเรียกร้องให้ กกต.เป็นคนประสานงานกับ คสช. เพื่อให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่สามารถประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งแรกได้ แทนที่จะให้แต่ละพรรคต้องเป็นคนขออนุญาตเอง และก็มีบางพรรคที่อ้างว่าทาง คสช.แจ้งอนุญาตให้จัดประชุมกลุ่มเพื่อดำเนินการเรื่องการจัดตั้งพรรคได้ในวันที่ 1 มี.ค.โดยกำลังรอหนังสืออนุญาตอย่างเป็นทางการอยู่ ซึ่งทาง กกต.ก็ยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยพรรคการเมืองจะต้องเป็นคนขออนุญาตเอง

นอกจากนั้น มีตัวแทนกลุ่มการเมืองจำนวนหนึ่งสอบถามถึงความชัดเจนเรื่องวันเวลาในการจัดการเลือกตั้ง หรือการประกาศเขตเลือกตั้ง โดยทาง กกต.ชี้แจงว่าทั้ง 2 เรื่องยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะจะต้องรอดูการปฏิบัติตามข้อ 8 ของประกาศ คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งหัวหน้า คสช.อาจจะมีการเรียก กกต.รวมทั้งพรรคการเมืองไปให้ความเห็น ตรงนี้จะเป็นโรดแมปที่แท้จริงของการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองใหม่ที่เข้ารับฟังคำชี้แจงในวันนี้มีกลุ่มที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มเพื่อชาติไทย นำโดยนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร หรือคุณยุ้ย ภรรยาอีกคนหนึ่งของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือบิ๊กจ๊อด อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช., กลุ่มพลังพลเมือง นำโดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ นายเอกพร รักความสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และกลุ่มไทยศรีวิไลย์ นำโดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และนายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์ค พิทบูล” โดยยังมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

นายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองมาร่วม 10 ปี วันนี้จึงอยากมาสู้ในระบบ และคิดว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่อยากมารับช่วงต่อจาก คสช.ที่ดูแลบ้านเมืองมาแล้ว 4 ปี นโยบายของกลุ่มไทยศิวิไลย์เน้นเรื่องของการแก้ไขปัญหาทุจริต การลดความขัดแย้ง โดยทางกลุ่มจะส่งผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ลงสมัครครบทั้ง 350 เขต ส่วนผู้ที่จะเป็นนายกฯ พรรคก็ไม่ได้ต่อต้านนายกฯคนนอก ถ้าถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้รับการเสนอชื่อและประชาชนยังให้การสนับสนุนพรรคก็พร้อมสนับสนุน แต่ถ้าหากประชาชนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เองก็ควรที่จะเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้ไปทำหน้าที่

ด้านนางอัมพาพันธ์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการตั้งพรรคเพื่ออยากเชื่อมแนวคิดของกลุ่มคนที่ปฏิวัติกับการเมืองให้ประสานสองฝ่ายนี้กันได้ ซึ่งจะเป็นแนวคิดที่ยุติความขัดแย้ง ส่วนเรื่องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกฯ ต้องดูแนวทางที่มาว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าคุณเป็นทหารแล้วมาในแนวทางที่ถูกต้องเราก็สนับสนุนได้

ส่วนนายสัมพันธ์กล่าวว่า จะนำแนวทางการจัดตั้งพรรคใหม่ที่ทาง กกต.เสนอในวันนี้ ไปดำเนินการโดยทางกลุ่มกำลังยกร่างนโยบายของพรรค พรรคจะชูการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ลดความเหลื่อมล้ำ ยอมรับว่ากฎเกณฑ์กติกาใหม่ที่ออกมามีความยุ่งยากพอสมควร แต่คนที่เป็นนักการเมืองมาก่อนมีประสบการณ์มา และมีความตั้งใจก็สามารถที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้นได้ อีกทั้งเห็นว่าหลักเกณฑ์ใหม่บางเรื่องเป็นผลดี เช่น ให้พรรคมีทุนประเดิม สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทำให้พรรคมีทุนในการที่จะพัฒนาพรรค ส่วนเรื่องการสนับสนุนคนเป็นนายกฯ ในเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องก็สามารถที่จะสนับสนุนได้ทั้งนายกฯ คนนอก และนายกฯ ที่เป็น ส.ส. คิดว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นหลัก การจะเลือกใครเป็นนายกฯ กลุ่มคิดว่าเอาที่เป็นคนดีมีสามารถ แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะเสนอ เพราะยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง















กำลังโหลดความคิดเห็น