xs
xsm
sm
md
lg

ครม.วางโครงสร้างพื้นฐานบก-น้ำ-อากาศ รับอีอีซี กระตุ้นท่องเที่ยวจันท์-พัฒนาแหลมฉบัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ครม.เห็นชอบปูพรมวางโครงสร้างพื้นฐาน “บก-น้ำ-อากาศ” รองรับอีอีซี กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองจันท์ ขยายช่องทางขึ้นเขาคิชฌกูฏรองรับนักท่องเที่ยว พร้อมพัฒนาแหลมฉบังรองรับสินค้าภาคตะวันออก

วันนี้ (6 ก.พ.) เวลา 16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.รับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ภาคตะวันออก ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยการพัฒนาด้านการขนส่งทางบกได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างถนนในพื้นที่ภาคตะวันออก วงเงินงบประมาณระหว่างปี 2557-2562 รวม 77,323.283 ล้านบาท ในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงิน 20,200 ล้านบาท มีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2563 การขยายช่องทางการจราจรทางหลวง ทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา-ท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อลดความแออัดของการจราจรทางหลวงมีนบุรี-ฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา และเส้นทางเลียบชายทะเลตะวันออก ชลบุรี-ระยอง จะมีการสร้างเส้นทางจักรยาน จุดพักรถ และจุดชมวิว รวมถึงพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวรอบเกาะช้าง

ขณะที่ในระยะต่อไป กระทรวงคมนาคมมีแผนจะดำเนินโครงการต่างๆ เช่น ในปี 2563-2566 จะก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา เพื่อเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา-หนองคาย นอกจากนี้ยังมีแผนจะเพิ่มช่องทางจราจร (เขาไร่ยา)-เขาคิชฌกูฏ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

นายณัฐพรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 236,700 ล้านบาท และการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์บริเวณมักกะสัน และที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา ขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ รวมถึงยังมีแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับประเทศจีนตอนล่าง เข้ากับท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ และมีแผนรอบรับนิคมอุคสาหกรรม เชื่อมโยงโครงการรถไฟฟ้าทางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-ทองใหญ่ ระยะทางรวม 275 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 (งบกลาง)

อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ให้มีการรองรับการขยายตัวทางการค้า และรองรับปริมาณสินค้าที่ผ่านทางเรือให้มากขึ้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2568 ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 1 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงินงบประมาณ 10,300 ล้านบาท เพื่อนำร่องในอีอีซีในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน และเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล


กำลังโหลดความคิดเห็น