xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ย้ำ ปชต.ไทยนิยมไม่ทิ้งหลักสากล ยันแก้คนจนเฟส 2 ไม่หวังสืบเก้าอี้นายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
นายกฯ แจงซ้ำนิยาม “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ต้องไม่ทิ้งสาระสำคัญ “ประชาธิปไตยสากล”ต้องสร้างจิตสำนึก-อุดมการณ์ ให้คนไทยทุกฝ่ายยอมรับ งัดสูตรปฏิรูปจีนตั้ง คกก.เกือบ 8 พันชุด ลุยถามความต้องการ ปชช. ยันเดินหน้าลงทะเบียนคนจนรอบ 2 ปัด หวังคะแนนนั่งนายกฯ อีกสมัย

วันนี้ (16 ม.ค.) เวลา 13.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นิยามของประชาธิปไตยไทยนิยมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องอยู่หลายวัน ตนได้พูดในเรื่องประชาธิปไตยไทยนิยม มีหลายคนไปบิดเบือนว่าจะเป็นแบบตน จะไม่ไปสู่ประชาธิปไตยสากลหรือเปล่า หรือจะเป็นแบบที่ตนเป็นอยู่วันนี้ ไม่ใช่เลย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบใดก็ตาม มันจะต้องไม่ทิ้งกลไกหรือทิ้งสาระสำคัญของคำว่าประชาธิปไตยอันเป็นสากลไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใสและเป็นธรรม

“การที่ผมต่อเติมไปด้วยว่าไทยนิยม หมายความว่าประเทศไทยท่านต้องสังเกตดู การจะทำอะไรให้สำเร็จ มันต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันให้ได้ ฉะนั้นผมจึงใช้แนวคิดของตนเองคืออะไรที่ชอบก็ชอบ สนับสนุนตลอดทุกอย่าง อะไรที่ไม่ชอบก็ไม่สนับสนุน ผมจึงคิดว่าต้องหาประชาธิปไตยที่คนไทยทั้งหมดทุกพวกทุกฝ่ายเข้าใจและมีอุดมการณ์อันเดียวกันที่จะทำให้ประเทศชาติเรามั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืน นั่นแหละคือไทยนิยมของผม การจะทำอะไรต่างๆ คนไทยต้องทำให้ทุกคนยอมรับให้ได้ และการยอมรับให้ได้คือต้องไม่ทิ้งกลไก ทิ้งสาระสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยสากลของเรา เพราะเราเป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉะนั้น อย่าไปกังวลกันตรงนี้ว่าไทยนิยมคือไทยนิยมของผม มันไม่ใช่ไทยนิยมคือคนไทยทั้งหมด นิยมประชาธิปไตยที่มันถูกต้อง หลายคนหลายฝ่ายก็ไม่เข้าใจ” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ช่วงนี้มีหลายปัญหาที่ทับซ้อนการทำงาน นี่คือประเด็นปัญหาที่ต้องแก้กันต่อไปด้วยกฎหมายและกระบวนการต่างๆ สิ่งที่ตนได้ให้ทำความเข้าใจวันนี้คือ เรากำลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตามแผนการปฏิรูป แก้ปัญหาความยากจน ตนได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายขับเคลื่อนการใช้งบประมาณของทุกกระทรวงทบวง กรม ให้สอดรับกับความต้องการของประเทศจะเชื่อมโยงการปรองดองสมานฉันท์ร่วมกับมาตรการแก้ไขความยากจน เพิ่มประสิทธิภาพประเทศ จะมีคณะทำงานระดับรัฐบาลลงสู่ระดับจังหวัด ตำบล อำเภอ รวม 7,800 กว่าชุด ลงไปเดินข้างล่างทั้งหมดเพื่อสอบถามความต้องการสนับสนุนหาแนวทางที่ประชาชนมีความต้องการอันแตกต่างเป็นการใช้หลักการคล้ายกับที่ประเทศจีนทำมา 5 ปีที่แล้วเป็นสูตรที่ตรงกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 1 และ 2 ไม่อยากให้สังคมเข้าใจว่า เราทำเพื่อรักษาคะแนนเสียงหรือหาคะแนนเสียงไปสู่อนาคตการเป็นนายกรัฐมนตรีอะไรทำนองนี้ ตนไม่เคยคิดอย่างนั้น แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นทำเพื่อประชาชน

“ไม่ว่าเวลาไหน ผมจะอยู่ไม่อยู่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องทำให้ประชาชนที่เดือดร้อนในวันนี้ให้เขามีความสุข ไม่ใช่ทำเพื่อการเมือง หากทุกอย่างเราผลักดันเป็นการเมืองทั้งหมด มันก็ตีกันอยู่แบบนี้ และเกิดความขัดแย้งกันอยู่แบบนี้ ต้องดูว่าประเด็นที่เราทำในวันนี้มันตรงความต้องการประเทศหรือไม่” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ 3 ปีที่ผ่านมามีอะไรที่แก้ไขแล้วบ้างในเชิงฟังค์ชั่น เชิงนโยบายเชิงบูรณาการ ทุกอย่างยืนยัน ผมได้ปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมาย กฤษฎีกากระทรวงการคลังทั้งหมด สามารถทำได้ ฉะนั้น การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 62 มีวงเงินที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่และจะตั้งงบประมาณเกินดุลเท่าไหร่ อะไรต่างๆ ที่ต้องเร่งรัดพัฒนาในช่วงปีที่ยังเหลืออยู่ จำเป็นต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายกลางปีขั้นมา การให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบที่ 2 ที่เดินหน้า ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงิน ทุกคนต้องมาแจ้งความประสงค์ว่าจะทำอะไรจึงจะเพิ่มเงินได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปเพิ่มเงินให้ 200-300 บาท แบบนั้นทำไม่ได้ ตนไม่ทำอยู่แล้ว ส่วนครั้งแรกที่ทำเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทะเบียน

“ผมถึงบอกว่าคนไทยมันต้องไทยนิยม ทุกคนต้องเข้ามาร่วมมือ และเราต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเขาในระยะที่ 2 และอาจต้องมีระยะที่ 3 และ 4 ไปเรื่อยๆ จะทำอย่างไร ในเมื่อประชาชนเขาเดือดร้อนในเวลานี้ หากจะใช้วิธีการที่ยากมากๆ ก็จะเกิดไม่ได้ซักอัน ยืนยันว่าผมจะใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุดและให้เกิดความโปร่ง” นายกฯ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น