xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เห็นชอบร่าง กม.ท้องถิ่น คาดส่ง ครม.26 ก.พ. หวั่นกฤษฎีกาแก้กฎหมาย อปท.ไม่ครอบคลุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 ในฐานะรักษาการรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
กกต.เห็นชอบร่าง กม.เลือกตั้งท้องถิ่น แก้ 4 ประเด็น ให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เตรียมเปิดรับฟังความเห็นก่อนเสนอรัฐบาล 26 ก.พ. หวั่นกฤษฎีกาเสนอแก้กฎหมายท้องถิ่นแค่ 5 มาตรา เข้า ครม.สัปดาห์หน้า ไม่ครอบคลุมพอ ทำเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดปัญหา

วันนี้(16 ม.ค.) นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 ในฐานะรักษาการรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ... ตามที่สำนักงานเสนอ โดยมีการแก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. แก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญคืออำนาจของ กกต.ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอำนาจการสั่งเลือกตั้งใหม่ หลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สิทธิสมัครเป็นของศาลอุทธรณ์ 2.แก้ไขให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนู( พ.ร.ป.)ว่าด้วย กกต. ที่เปลี่ยนจาก กกต.จังหวัดเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นดุลยพินิจของ กกต.เป็นครั้งๆ หากเห็นว่า การเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นมีความรุนแรง หรือมีแนวโน้มว่าจะมีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็จะสามารถมีมติส่งผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้าไปดูแลได้

3.แก้ไขให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เช่นในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุในการเลือกตั้งโดยให้กรรมการประจำหน่วย หรือผู้ติดตามผู้มีสิทธิออกเสียง กากบาทลงในบัตรเลือกตั้งแทนผู้มีสิทธิออกเสียงได้โดยต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิออกเสียง ส่วนในเรื่องของวิธีการห้ามหาเสียง เช่นการห้ามจัดมหรสพนั้น ที่ประชุม กกต. ให้รอการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ของที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25-26 ม.ค. ก่อนว่าจะยังยืนยันให้เป็นลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงหรือไม่ หากที่ประชุมสนช.มีมติให้จัดมหรสพในการหาเสียงได้ ทางกกต.ก็จะยืนยันในจุดยืนเดิมคือควรกำหนดไว้เป็นลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง

4. แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานท้องถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องการที่ผู้บริหารท้องถิ่นชิงความได้เปรียบโดยการลาออกก่อนครบวาระ ก็จะมีการกำหนดให้ผู้บริหารที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ มีวาระเท่าที่เหลืออยู่ของสภา อีกทั้งกำหนดให้ 90 วันก่อนการลาออกของผู้บริหารท้องถิ่น หากมีการอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งให้ถือว่าเข้าข่ายกระทำการในลักษณะซื้อเสียง

นายณัฏฐ์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ กกต.ก็จะรอการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของที่ประชุม สนช.ในประเด็นมหรสพ ให้เแล้วเสร็จก่อนเพื่อจะปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว จากนั้นก็จะดำเนินการในเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยจะส่งร่างไปยังสำนักงาน กกต.จังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังองค์กปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน และในวันที่ 7 ก.พ. จะรับความคิดเห็นกลับมาก่อนประมวลความเห็นเสนอต่อที่ประชุม กกต.ภายในวันที่ 20 ก.พ. และวันที่ 21-23 ก.พ. ก็จะปิดประกาศรายงานผลความคิดเห็นให้ประชาชนได้รับทราบ โดยคาดการณ์ว่าจะเสนอร่างไปยังคณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 ก.พ.

" ที่ประชุม กกต.มีความห่วงใยกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอร่างกฎหมายท้องถิ่นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมสัปดาห์หน้า เพราะไม่แน่ใจว่า ร่างที่จะเสนอนั้นเป็นร่างกฎหมายที่กฤษฎีกายกร่างแก้ไขแล้วมีเพียง 5 มาตราหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้และถ้าไม่แก้ก็จะมีปัญหาในภายหน้า"

อย่างไรก็ตามที่ประชุม กกต.ไม่ได้มีหารือถึงวันเวลาที่จะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเห็นว่าขึ้นกับผู้มีอำนาจ กกต.เพียงแต่อยากให้มีความพร้อมในทางกฎหมาย ซึ่งถ้าพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จก็จะสามารถเลือกตั้งท้องถิ่นในได้ทุกประเภท แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลก็จะหารือกับ กกต.ถึงความพร้อมในการจัดการเพราะจะต้องมีเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่มาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 50-60 วัน เช่นจะมีการเลือกตั้งตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด การเพิ่มของประชากรในพื้นที่ทำให้ต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการส่วนนี้ ตามร่างกฎหมายที่ กกต.เสนอ ในบทเฉพาะกาล ก็จะมีการกำหนดไว้วว่า ภายใน 45 วันนับแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จจึงจะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าจังหวัดใดไม่ต้องแบ่งเขตใหม่ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น