xs
xsm
sm
md
lg

พช.ชวนคนไทยอัปเดตข้อมูล จปฐ. พัฒนาประเทศขับเคลื่อนลดเหลี่อมล้ำ ก้าวข้ามความยากจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มท.ส่งอาสาสมัครลงพื้นอัปเดตข้อมูล จปฐ.2561 เป้าหมาย 12,935,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มี.ค. เพื่อสรุปผลเป็นแนวทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด ขจัดความจน ลดความเหลี่อมล้ำ

วันนี้ (11 ม.ค.) นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดกิจกรรม “จปฐ.UPDATE 2018 : ลดความเหลี่อมล้ำ ก้าวข้ามความจน” ว่าคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) ได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในเขตชนบททั่วประเทศเป็นประจำทุกปี โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน และได้มีการปรับปรุงข้อคำถามและเครื่องชี้วัดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี โดยข้อมูล จปฐ. คือ ข้อมูลครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือนในด้านต่างๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้ว่าคนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ

สำหรับการดำเนินการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ปี 2561 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) คณะกรรมการอำนวยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (พชช.) ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้มีการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนมีนาคม 2561 โดยมีอาสาสมัครลงพื้นสอบถามข้อมูลตามครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน 12,935,000 ครัวเรือน และได้มีการปรับปรุงเครื่องชี้วัดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งเป็น 5 หมวด 31 ตัวชี้วัด ได้แก่ ประกอบด้วย หมวดสุขภาพ หมวดสภาพแวดล้อม หมวดการศึกษา หมวดการมีงานทำและรายได้ และหมวดที่ 5 ค่านิยม โดยข้อมูลที่จัดเก็บสามารถเข้าถึงได้ที่เว็บไซต์ ebmn.cdd.go.th ผลสรุปจากการจัดเก็บข้อมูลจะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ จะนำผลสรุปจากการจัดเก็บข้อมูลไปดำเนินการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย เช่น กรมนำไปใช้ในกระบวนการจัดทำแผนชุมชน แผนพัฒนาตำบล/อำเภอ/จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สนับสนุน ส่งเสริมให้นำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ใช้ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อมูลคัดกรองการจัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกร สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ใช้ข้อมูล จปฐ.รายครัวเรือนจัดทำรายงานผลการสำรวจข้อมูลลูกหนี้เกษตรกรฯ กระทรวงศึกษาธิการ ใช้ข้อมูล จปฐ.เรื่องรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อคนต่อปี แยกรายอำเภอ จังหวัด ในการจัดสรรเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำข้อมูลไปใช้เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายการฌาปนกิจแก่ครัวเรือนที่มีผู้เสียชีวิต รายละ 2,000 บาท เฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี กระทรวงแรงงาน ใช้ข้อมูลเรื่องการมีงานทำและรายได้เฉลี่ยครัวเรือน เพื่อค้นหาและสนับสนุนผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ.ที่ประสงค์จะทำงาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ใช้ข้อมูล จปฐ.เรื่องสุขลักษณะของครัวเรือน เพื่อค้นหาและพัฒนากลุ่มเป้าหมาย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ใช้ข้อมูลในการพัฒนารายได้และสาธารณูปโภคของหมู่บ้านขอบชายแดน สำนักนายกรัฐมนตรี ใช้ข้อมูลเรื่องการออมภายใต้โครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบ ABC ที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้ข้อมูลในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการนำข้อมูล จปฐ.ไปใช้เพื่อพัฒาคุณภาพชีวิตคนไทยในด้านต่างๆ เท่านั้น ดังนั้นการให้ข้อมูลแก่ “อาสาสมัครจัดเก็บข้อมูล จปฐ.” ที่กำลังลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลฯ จึงนับเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้

นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนยังได้มุ่งมั่นต่อการพัฒนารูปแบบของการใช้ข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยล่าสุดได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ ว่าด้วย “ความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่” กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “GISTDA” เพื่อประยุกต์ใช้ระบบภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์ วางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาชุมชน สนับสนุนการแก้ปัญหาชุมชน ในมิติด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ว่ากันอย่างง่ายคือนำข้อมูลมาพล็อตลงบนแผนที่ประเทศไทยเพื่อให้สะดวกรวดเร็วต่อการใช้งาน อีกทั้งยังมีความแม่นยำอีกด้วย

ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.ในปี 2560 ที่ผ่านมาข้อมูลโดยสรุปผลการจัดเก็บที่ผ่านเกณฑ์ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 หมวดที่ 5 ด้านค่านิยม ตัวชี้วัดที่ 27 : ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน คิดเป็นร้อยละ 99.94% จากการสำรวจ 6,826,988 คน อันดับ 2 หมวดที่ 1 ด้านสุขภาพ ตัวชี้วัดที่ 3 : เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คิดเป็นร้อยละ 99.91% จากการสำรวจ 4,452,255 คน อันดับ 3 หมวด หมวดที่ 5 ด้านค่านิยม ตัวชี้วัดที่ 29 : ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน คิดเป็นร้อยละ 99.91% จากการสำรวจ 734,777 คน

ส่วน 3 อันดับแรกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จปฐ.มากที่สุด อันดับ 1 หมวดที่ 4 ด้านการมีงานทำและมีรายได้ ตัวชี้วัดที่ 23 : ครัวเรือนมีการเก็บออม คิดเป็นร้อยละ 17.22% จากการสำรวจ 2,211,075 ครัวเรือน อันดับ 2 หมวดที่ 5 ด้านค่านิยม ตัวชี้วัดที่ 25 : คนในครัวเรือนไม่สูบบุหรี่ คิดเป็นร้อยละ 7.30% จากการสำรวจ 2,626,564 คน อันดับ 3 หมวดที่ 5 ด้านค่านิยม ตัวชี้วัดที่ 24 : คนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา คิดเป็นร้อยละ 6.90% จากการสำรวจ 2,483,099 คน ในส่วนของรายได้ มีครัวเรือนที่ ตกเกณฑ์รายได้เฉลี่ย 38,000 บาท/คน/ปี จำนวน 126,102 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 0.98% และรายได้เฉลี่ยคนไทยคิดเป็น 81250 บาท/คน/ปี

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561 จะมีอาสาสมัครลงพื้นที่ทั่วประเทศไปเคาะประตูบ้านเพื่อสอบถาม และจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ข้อมูลที่ได้จะไม่กระทบสิทธิใดๆ ตรงกันข้ามจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา บนหลักคิดที่ว่า ร่วมพัฒนาประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูล จปฐ.ที่เป็นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น