xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กฉัตร” มอบนโยบาย สสส.ห่วง เยาวชน-ผู้สูงอายุ เป็นเหยื่อสื่อออนไลน์ก่อภัยสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ฉัตรชัย” ประชุม สสส. นัดแรก หลังรับตำแหน่ง พร้อมมอบนโยบาย ห่วง “เยาวชน - ผู้สูงอายุ” ตกเป็นเหยื่อสื่อออนไลน์ - ก่อภัยสุขภาพ เห็นชอบแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ลั่นรักษาระดับการดำเนินงานตามเป้าหมายและพันธกิจขององค์กรต่อไป หลังมีคะแนนประเมินสูง

วันนี้ (25 ธ.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายในการประชุมมอบนโยบายซึ่งเป็นนัดแรกภายหลังรับตำแหน่ง ว่า ตลอดเวลาที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้ดูแลงานในด้านต่างๆ ตนทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ละครั้งภารกิจหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะครั้งนี้ได้รับมอบหมายการดูแลงานสำคัญหลายหน่วยงาน แม้ต้องทำงานหนักกว่าเดิม แต่ตนก็พร้อมทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่า สสส. มีเป้าหมายเดียวกันในการทำเพื่อประโยชน์ของชาติ และจากผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสหรือ ITA ประจำปี 2560 ที่ประเมินโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นที่น่ายินดีว่า สสส. มีผลประเมินอยู่ในระดับสูงมาก ได้คะแนนร้อยละ 91.61 และมีผลประเมินอยู่ในระดับสูงมากอย่างต่อเนื่องจากปี 2558 ได้คะแนนร้อยละ 79.16 และร้อยละ 81.41 ในปี 2559 โดยดัชนีชี้วัดแต่ละด้าน ได้แก่ 1. ความโปร่งใส 2. พร้อมรับผิด 3. ปลอดจากทุจริต 4. วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร และ 5. คุณธรรมการทำงาน มีสัดส่วนที่สูงขึ้นทุกด้าน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 422 หน่วยงาน สสส. มีผลประเมินอยู่อันดับที่ 26 และเป็นอันดับ 3 ของหน่วยงานในกลุ่มเดียวกัน ขอชื่นชมและเชื่อว่า สสส. จะรักษาระดับการดำเนินงานตามเป้าหมายและพันธกิจขององค์กรต่อไป

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาและเห็นชอบแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเน้นยุทธศาสตร์ปี 2561 ในการสร้าง “พลเมืองตื่นรู้” ใน 3 ประเด็น คือ รู้เท่าทันสื่อยุค 4.0 (Media Literacy) ฉลาดรู้สุขภาพ (Health Literacy) สุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคสื่อเปลี่ยนวิถีชีวิต ประชาชนทุกคนคือผู้ผลิตและผู้ใช้สื่อ สมาร์ทโฟนคือศูนย์กลางของสื่อยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเด็กไทยอายุ 6 - 14 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตในอัตราสูงขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 61.4 ในปี 2559 สูงขึ้นจากร้อยละ 58 ในปี 2558 เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงสื่อไม่ดีมากกว่าสื่อดี เนื่องจากการสำรวจพบว่าในช่วงเวลาสำหรับเด็ก มีการเผยแพร่สื่อที่ปรากฏเนื้อหาความรุนแรงถึงร้อยละ 57 มีเนื้อหาและการใช้ภาษาส่อทางเพศและหยาบคายถึงร้อยละ 53 และร้อยละ 9 ตอกย้ำอคติ/การเลือกปฏิบัติ เช่น ขาวกว่าก็ชนะได้ อีกด้วย

“ประเด็นเรื่องสื่อมีความสำคัญและเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า ปัจจุบันสื่อส่งผลกระทบต่อประชาชนแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กเยาวชน จากผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์ทั้งด้านการเรียน สุขภาพ บางคนเข้าสู่ภาวะติดอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 29 เคยถูกคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่วัยทำงานใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง เข้าสู่ภาวะเนือยนิ่ง ส่งผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม สร้างสังคมก้มหน้า และความสัมพันธ์แบบเสมือน และผู้สูงอายุ 75% ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย โดยไม่รู้เท่าทัน มีสัดส่วนการส่งต่อภาพไม่เหมาะสมโดยไม่ตรวจสอบสูงถึงร้อยละ 30” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว และว่า ปี 2561 สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เน้นขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนานโยบาย สร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นฐานสู่นักสื่อสารสุขภาวะในกลุ่มวัยต่างๆ สร้างพลเมืองตื่นรู้ที่สามารถใช้สื่อเป็นเครื่อมือนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นยินดีที่ สสส.เห็นความสำคัญ และมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้เพื่อพลิกมุมมองสังคม โดยเฉพาะเด็กเยาวชน และผู้สูงอายุ
กำลังโหลดความคิดเห็น