xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” เชื่อ กม.ออกครบจะได้เห็นบางอย่างที่เปลี่ยนไป แนะ สนช.ชงศาล รธน.ตีความ กม.ลูก ป.ป.ช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กรธ. ดีใจบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญถูกหยิบมาใช้ทันที คาด กฎหมายออกมาครบจะได้เห็นโฉมหน้าบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เผย กมธ.วิฯ กฎหมายลูก ป.ป.ช. ไม่ติดใจปมให้ ป.ป.ช. อยู่ต่อ แต่ติงเว้นลักษณะต้องห้ามขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าให้เว้นเฉพาะก็น่าห่วง รอดูโหวตวันจันทร์นี้ แนะ สนช.ชงศาล รธน. ตีความ จะได้จบปัญหา

วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่สมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเวลา 16.00 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานในพิธีปิดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้แก่สื่อมวลชน โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นโครงสร้างและเสาหลักของประเทศ โดยปกติจะเขียนสั้นๆ แต่วิวัฒนาการของไทยเปลี่ยนแปลงไปจากประเทศต่างๆ ตรงที่เขียนรัฐธรรมนูญบ่อยเป็น 10 ฉบับ จึงมีวิวัฒนาการมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ คนทั่วไปก็เริ่มรู้ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ใครมีส่วนได้เสียในส่วนไหนก็อยากให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อรับรอง คุ้มครอง หรือรับรู้ความคงอยู่ของส่วนได้เสียตรงนั้น เมื่อร่างกันมานาน รัฐธรรมนูญก็มากขึ้น เมื่อเวลานานขึ้นก็ทำความเข้าใจยากเนื่องจากกฎหมายเมื่อเขียนแล้วจะโยงไปถึงหลายส่วน นอกจากนี้เริ่มแรกจะไม่ได้ใช้บทบัญญัติครบทุกบท แต่พอนานเข้าบทบัญญัติ เช่น ในส่วนที่เขาเขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม กำหนดความสัมพันธ์แห่งอำนาจเริ่มออกฤทธิ์ มีการนำมาใช้ประชาชนก็จะตกใจว่ามีบทบัญญัตินี้ด้วยหรือ และหาว่าไปหมกเม็ดไว้ที่ไหน ดังนั้น เราจึงประกาศรัฐธรรมนูญให้คนดู แต่เนื่องจากบางคนไม่ได้ใส่ใจจึงไม่ทราบว่ามันมีอยู่

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนดีใจว่าคราวนี้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่สำคัญเกือบทั้งหมดในรัฐธรรมนูญถูกหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติในทันที เพราะรัฐบาลที่อยู่และจะต้องทำตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นรัฐบาลเดียวกันกับคนที่ได้ร่าง จึงลงมือทำได้ทันที เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เข้ามา เช่น รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 กฎหมายที่ควรจะต้องออกตามรัฐธรรมนูญกำหนดกับไม่ได้ออก แต่คราวนี้ได้ออกและออกใกล้จะครบทุกฉบับแล้ว ส่วนที่ยังค้างก็อยู่ในท่อกำลังทยอยออกมา

“ผมมองว่าเมื่อกฎหมายทั้งหมดออกมาครบแล้ว เชื่อว่าเราจะได้เห็นโฉมหน้าบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงไป” นายมีชัย ระบุ

นอกจากนี้ นายมีชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ในมาตรา 178 ที่ให้ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี และยกเว้นไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ป.ป.ช. บางประการตามร่างพ.ร.ป.มาบังคับใช้ ซึ่งอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยไม่ติดใจว่าจะให้อยู่ต่อไป แต่ติดใจตรงที่ไปยกเว้นลักษณะต้องห้าม และเขาไม่แน่ใจว่าการเขียนเช่นนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากขัดเมื่อไปวินิจฉัยเรื่องใดหากมีคนโต้แย้งขึ้นมาจะลำบาก คิดว่า เมื่อมีการยกเว้นเป็นการเฉพาะเช่นนั้นก็น่าเป็นห่วง ซึ่ง สนช. อาจจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความจะได้จบปัญหา ทั้งนี้ กรธ. แม้จะสามารถยื่นโต้แย้งได้ แต่ไม่มีช่องทางจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ต้องเป็นหน้าที่ของ สนช. ดังนั้น กรธ. จึงทำได้เพียงบอกว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่ต้องระวังและต้องติดตามประเด็นนี้อีกครั้งหลังการลงมติของ สนช. ในวันที่ 25 ธ.ค. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น