xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์จับตา “ปัญญาประดิษฐ์” แย่งงานมนุษย์เพิ่ม พบ “หนี้ครัวเรือน” ไตรมาส 3 ปี 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์เปิดตัวเลข “หนี้ครัวเรือนคนไทย” ไตรมาส 3 ปี 60 ยังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในอัตราชะลอลง ที่ร้อยละ 3.1 ในมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วน “สินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต” พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยเท่ากับร้อยละ 1.19 จ้างงานลดลงร้อยละ 1.6 จับตา “ปัญญาประดิษฐ์ (IE)” แย่งงานมนุษย์เพิ่มในยุคดิจิตอล

วันนี้ (7 ธ.ค.) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยถึงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสามปี 2560 โดยพบว่า หนี้สินครัวเรือนของคนไทย (ไตรมาสที่ 2) เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสสองปี 2560 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,602,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในอัตราชะลอลง สัดส่วนลดลงเป็นร้อยละ 78.4 ต่อ GDP

โดยไตรมาสสองปี 2560 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,602,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มี ร้อยละ 3.1 หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 4.4 ในไตรมาสสองปี 2560 เป็นร้อยละ 5.5 ในไตรมาสนี้ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ เพิ่มขึ้น 6.5 สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.74 อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตพบว่าลดลง

สภาพัฒน์ยังพบว่า การจ้างงานลดลงร้อยละ 1.6 โดยภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบอุทกภัยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกิดความเสียหายทั้งด้านพืช ประมงและปศุสัตว์ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่การจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 1.8 ในสาขาการผลิต การก่อสร้าง การขายส่ง และโรงแรมและภัตตาคาร แม้มูลค่าการผลิตภาคนอกเกษตรยังขยายตัวได้ดี แต่การจ้างงานจะลดลง เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตและดำเนินธุรกิจ และ การส่งออกที่ขยายตัวดีในกลุ่มที่ใช้ทุนเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ขณะที่การส่งออกในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังขยายตัวช้า อาทิ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ และสินค้าบางประเภทเป็นการทยอยระบายสินค้าในสต๊อค

อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยเท่ากับร้อยละ 1.19

อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยเท่ากับร้อยละ 1.19 ทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและแรงงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาร้อยละ 43.4 และร้อยละ 85 ของคนกลุ่มนี้ใช้เวลาหางานมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายลงมาและหางานมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงานก่อนกลุ่มอื่นและจะหางานยากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าสามารถทำงานซ้ำๆ แทนคนได้ ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เป็นการเพิ่มในภาคเกษตรกรรมร้อยละ 2.0 และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการจ้างงานที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องและมีการกระจายตัวมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ รวมถึงการกระจายการผลิตไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าหรือผลิตรายย่อยมากขึ้น และเกิดการขยายตำแหน่งงาน

นอกจากนี้ยังพบว่า การปรับตัวของภาคเกษตร พบว่า ลดลงต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 42 ของกำลังแรงงาน ในปี 2544 เหลือร้อยละ 31.2 ในปี 2559 โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่า อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าช่วยในการทำเกษตร อาทิ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการบินฉีดพ่นยาและใส่ปุ๋ย ที่ทำให้ประหยัดแรงงานคน เวลา ปุ๋ยและเคมี รวมถึงเป็นผลดีต่อสุขภาพเกษตรกรในระยะยาว หรือการใช้เทคโนโลยีการพยากรณ์สภาพอากาศ ทำให้เกษตรกรมีการวางแผนการเก็บเกี่ยวเพาะปลูกได้ดีและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

มีแนวโน้มการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่

สภาพัฒน์ยังพบว่า ทักษะแรงงานในตลาดยุคดิจิตอล มีแนวโน้มการนำปัญญาประดิษฐ์ ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต มาใช้ในการผลิตและการจัดการมากขึ้น โดยเฉพาะในกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์และรวบรวมทางสถิติที่มีผลแม่นยำยิ่งขึ้นในธุรกิจการเงินการธนาคารรวมถึงการตลาด การใช้ระบบ Automation ในกระบวนการการผลิต ทำให้บริษัทมีการลดจำนวนแรงงานเหลือเพียงแต่ผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักร การเปิดธุรกิจในรูปแบบ E-commerce และธุรกิจบริการในรูปแบบ Online booking and Check-in ที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่ออาชีพพนักงานขายและบริการลูกค้าที่ลดลง ขณะเดียวกันความต้องการผู้ดูแลระบบออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น แรงงานในยุคใหม่จึงจำเป็นต้องมีทักษะสามารถที่ตอบสนองต่องานในรูปแบบใหม่และความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคุณลักษณะและทักษะที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานในยุคดิจิตอลได้ อาทิ มีความสนใจใฝ่รู้ทันโลกทันเหตุการณ์ คุ้นเคยหรือใช้เทคโนโลยีเป็น สามารถวิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำงานหลากหลาย (Multi-Skill) มีทักษะด้านภาษา รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการทำงาน”

เพิ่มภาษีเหล้า-บุหรี่ ไร้ผล คนไทยยังดื่ม-สูบเพิ่ม ร้อยละ 3.4 ต่อครัวเรือน

สำหรับการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพจิตคนไทยในภาวะน้ำท่วม ในไตรมาสสามปี 2560 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 23.8 โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3

แต่หลังจากมีการเร่งส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอในทุกกลุ่มวัยเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี จากการสำรวจข้อมูลกิจกรรมทางกายในประเทศไทย พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยประมาณ 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ขณะที่ระยะเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งในแต่ละวันสูงถึงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุเริ่มเกิดความตระหนักถึงภัยคุกคามจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

รายงานยังพบว่า ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น แม้จะมีการบังคับใช้มาตรการด้านภาษีและราคา ไตรมาสสามปี 2560 ค่าใช้จ่ายสุราเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.2 ขณะที่ค่าใช้จ่ายบุหรี่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 หรือเป็นร้อยละ 3.4 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น