xs
xsm
sm
md
lg

ทีใครทีมัน vs ตัวใครตัวมัน ตำรวจไล่เบี้ยกู้ภาพลักษณ์ “สีกากี” “แก๊งจอมทรัพย์” ซวยยกกระบิ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ


กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง สำหรับกรณี นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครูโรงเรียนบ้านม่วงไข่ ประชาราษฎร์สงเคราะห์ จ.สกลนคร ที่ได้ไปร้องขอให้ “กระทรวงยุติธรรม” ช่วยรื้อฟื้นคดีคดีขับชนคนเสียชีวิต เหตุเกิดในพื้นที่ สภ.นาโดน อ.เรณูนคร จ.นครพนม เมื่อปี 2548 และศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกเมื่อปี 2556 เป็นเวลา 3 ปี 2 เดือน และได้รับอภัยโทษออกมาเมื่อปี 2558 รวมเวลาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ขึ้นมาใหม่ โดยอ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ

จนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อช่วงต้อนปี 2560 ที่ผ่านมา และได้รับการขนานนามว่า “ครูแพะ” มาตั้งแต่ตอนนั้น สร้างกระแสโจมตีการทำงานของตำรวจ จนหลายคนออกตัวถือหาง “ครูแพะ” แบบหมดหน้าตัก เพราะแม้จะมีข้อสังเกตหรือพิรุธหลายประการ แต่ด้วยความชังตำรวจเป็นทุน จึงเลือกที่จะรุมถล่มตำรวจแทบจมธรณี

แต่พลันที่ ศาลนครพนม ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกายกคำร้องการขอรื้อฟื้นคดี พร้อมทั้งบรรยายมูลเหตุของคดีอย่างละเอียดยิบ หักล้างคำให้การของฝ่าย “ครูจอมทรัพย์” จนสิ้นสงสัย ส่งผลให้โมเมนตัมของเรื่องนี้พลิกกลับทันที

จากเดิมที่ฝ่าย “ครูจอมทรัพย์” แทคทีมกับ กระทรวงยุติธรรม โดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้มีบทบาทในกระบวนการรื้อคดี เคยเป็นฝ่ายไล่เบี้ยทางตำรวจ จนแทบไม่มีทางเดิน กระทั่งการที่จู่ๆ นายสับ วาปี พยานสำคัญที่รับว่าเป็นผู้ขับรถก่อเหตุชนคนตาย ไม่ขึ้นให้การในชั้นศาลเมื่อช่วงเกือน ก.พ.ที่ผ่านมา วันนั้นทางตำรวจนครพนมก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่า ข่มขู่จนนายสับ วาปี ถอนตัวจากการเป็นพยาน ทว่ามาวันนี้กลับกลายมาเป็นฝ่ายตำรวจรุกกลับแบบ “ทีใครทีมัน”

หลังคำพิพากษาชี้ขาดของศาลออกมา พล.ต.ต.สุวิชาญ ญาณกิตติกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธร (ผบก.ภ.) จ.นครพนม ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย เกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีการสร้างพยานเท็จรับผิดแทน โดยจะใช้สำนวนคำให้การในการเบิกความต่อศาลจังหวัดนครพนม มาเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดี

เบื้องต้นได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ “ขบวนการสร้างพยานเท็จ” ทั้งหมด 7 ราย ประกอบด้วย 1.“ครูอ๋อง” นายสุริยา นวลเจริญ อายุ 54 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนของครูจอมทรัพย์ และเป็นบุคคลสำคัญที่มีหลักฐานว่าเป็นคนจัดตั้งขบวนการรับจ้างทำผิดในคดีครูจอมทรัพย์ 2.นายสับ วาปี อายุ 61 ปี ที่อ้างเป็นพยานปากสำคัญของครูจอมทรัพย์ เนื่องจากเป็นบุคคนที่เคยมาให้การกับตำรวจ รวมถึงเบิกความต่อศาลว่าเป็นคนขับตัวจริง

3.นางจัน วาปี อายุ 59 ปี ภรรยานายสับ วาปี 4.นายบุญเทิง วาปี อายุ 63 ปี 5.นายเลิศ วาปี อายุ 66 ปี 6.นายรัน โทนแก้ว อายุ 60 ปี เป็นญาตินายสับ วาปี

และ 7.นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ อายุ 61 ปี ถือเป็น “พยานปากสำคัญ” ที่ออกมายืนยันกับตำรวจ และเบิกความต่อศาลว่า อยู่ในเหตุการณ์ช่วงเกิดเหตุ และเห็นว่าคนขับรถยนต์ชนเป็นผู้ชายลงมาดูผู้เสียชีวิตก่อนขับรถหนีไป

ทั้ง 7 ราย ส่วนข้อหาคือ ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ตามกฎหมาย ป.อาญา มาตรา 267 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมือรู้ว่า ภัยมาถึงตัว ทีนี้ก็ “ตัวใครตัวมัน” โดย นายสับ วาปี ที่เคยยืนยันหลายกรรมหลายวาระว่าเป็น “คนขับตัวจริง” ก็โร่มามอบตัวและให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนแรก พร้อมลากไส้ “แก๊งจอมทรัพย์” ว่า “ครูอ๋อง” หรือนายสุริยา นวลเจริญ เพื่อนครูจอมทรัพย์ได้เป็นผู้ว่าจ้างให้รับผิดแทนว่าเป็นผู้ขับรถชนคนเสียชีวิต ซึ่งครั้งนั้นนายสุริยารับปากว่าจะมอบเงินให้ 4 แสนบาท แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด

ก่อนที่ครอบครัวของนายสับ จะเข้ามอบตัวกับทางตำรวจตามหมายเรียก โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการแต่อย่างใด

ทั้งคำพิพากษาของศาล และคำให้การของนายสับ วาปี ได้ทำให้เครดิตและความน่าเชื่อถือของตำรวจได้ฟื้นกลับคืนมา รวมทั้งเพิ่มเครดิตให้กับ อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ที่เคย “สวนกระแส” นำหลักฐานภาพถ่ายขบวนการรับจ้างติดคุกคดีครูจอมทรัพย์ พร้อมยืนยันว่า “ครูจอมทรัพย์” คือ “แกะ” เป็นผู้ขับรถชนคนตายจริง ไม่ใช่ “แพะ”

ขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำความผิดพลาดของ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ออกตัวแรงมาตั้งแต่ต้น ก่อนมาตกม้าตายจากคำพิพากษาล่าสุด แล้วถึงมาอ้างว่า เป็นการทำตามหน้าที่ จากการที่ “ครูจอมทรัพย์” เข้ามาร้องขอความเป็นธรรมที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเจ้าตัวกำกับดูแลอยู่ในขณะนั้น โดยมาพบว่าคำให้การของ นายสับ วาปี และนายสุริยา นวลเจริญ หรือครูอ๋อง ไม่ผ่านเครื่องจับเท็จ บ่งชี้ว่าให้การไม่เป็นความจริง และอาจมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จ

แม้ว่าดำเนินการของ “รองฯดุษฎี” ที่ถูก วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม สั่งให้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง อาจจะไม่เข้าข่ายมีความผิดทางอาญา แต่ก็ต้อง “เสียรังวัด” จากเรื่องนี้ไปไม่น้อย นำไปสู่การพิจารณาทบทวนกระบวนการช่วยเหลือการรื้อฟื้นคดีอาญา หรือหลักเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความยุติธรรม

ประเด็นต่อเนื่องก็มีคำถามว่าเหตุใด “ครูจอมทรัพย์” ถึงลุกขึ้นมารื้อฟื้นคดีที่รู้อยู่เต็มอกว่า ตัวเองเป็นผู้กระทำผิดและรับโทษในเรือนจำไปจนได้รับอภัยโทษแล้วขึ้นมาอีก จนต้องมาตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง ด้วยโทษที่หนักกว่าเดิมเสียด้วย ตลอดจนตัวเลขค่าจ้างที่นายสับ วาปี อ้างว่ามีการตกลงกับ “ครูอ๋อง” ซึ่งถูกระบุว่า เป็นตัวการใหญ่ของขบวนการติดคุกแทนครั้งนี้ มากถึง 4 แสนบาท แลกกับอิสรภาพที่จะต้องสูญเสียไป

ก็เคยมีการคำนวณกันว่า หากสามารถทำให้ “ครูจอมทรัพย์” กลายเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ก็จะได้รับค่าทดแทนความเสียหายในรูปแบบต่างๆ อาทิ เงินเงินทดแทนจากอาชีพครู เงินช่วยเหลือในการดำรงชีพ ค่าทำขวัญทางจิตใจ ค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย ตลอดจนค่าทดแทนวันที่สูญเสียอิสรภาพ รวมๆแล้วอาจได้มากถึง 4-5 ล้านบาทเลยทีเดียว

เงินก้อนโตนี้เองที่ก่อทำให้เกิดความคิดในทางที่ผิด หวังอาศัย “ช่องว่างทางกฎหมาย” เพื่อหาประโยชน์ที่ไม่ควรจะได้รับ อีกทั้งยังมีผู้ยอมรับโทษแทนในราคาย่อมเยา 10 เปอร์เซ็นต์ ของยอดรวมทั้งหมดที่อาจจะได้ แต่กลับกลายมาเป็ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง หมดอนาคต ไปแทนเสียนี่

กลายเป็นอุทรหรณ์อันล้ำค่าให้กับทั้ง “แก๊งจอมทรัพย์” รวมทั้ง “บิ๊กข้าราชการ” ที่อาศัยจังหวะสร้างชื่อ กระทั่งคนในสังคมที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลให้การตัดสิน จนหงายเงิบไปตามๆกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น