xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบเพิ่มทำ กม.ใน พ.ร.บ.คุ้มครองคนแฉโกง ให้ข่าวกรองฯ ค้นข้อมูลราชการได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ครม. เห็นชอบเพิ่มทำกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองชาวบ้านต้านโกง ให้ ป.ป.ท. สนับสนุนความรู้ กันพยานละเว้นดำเนินคดี ระบุ นายกฯ ส่งคนลงไปเช็กข้อมูลส่วยใต้เอง มั่นใจ ครม. ไม่คิดโกง แต่ให้ระวังคนใกล้ตัว พร้อมเห็นชอบให้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ มีอำนาจสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการทุกหน่วยได้

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.30 น. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า หลังจากที่ ครม. มีมติผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปทำความเห็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบพบว่าเนื้อหา สาระของกฎหมายดังกล่าวที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ มีเนื้อหาเดียวกับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฉะนั้น การที่มีเนื้อความเดียวกัน การที่จะมาจัดทำร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งก็ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น ครม. จึงเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเพิ่มเติมทำกฎหมายทางด้านมาตรการฝ่ายบริหาร คือ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้ความรู้กับประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ ใครให้ข้อมูลเพื่อสืบพบต้นต่อทุจริตสามารถกันออกมาเป็นพยานได้โดยละเว้นไม่ดำเนินคดี

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เรื่องทุจริตมีข้อร้องเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ คือ หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.ภูเก็ต และ จ.ชายแดนใต้ ในเรื่องการเก็บส่วย นายกฯ สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบแล้ว 2 แนวทางที่ดำเนินการ คือ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่ง พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รรท.จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ลงพื้นที่ และนายกฯ ส่งคนในเครือข่ายลงไปติดตามข้อมูลด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ใครที่มีข้อมูลเรื่องการทุจริต เรียกรับส่วย ประพฤติมิชอบจะโดยหน่วยงานราชการใด หรือมีการแอบอ้างชื่อใครขอให้ส่งข้อมูลมา อย่าไปคิดว่ารัฐบาลให้ท้ายคน 2 กลุ่ม คือ ครม. และข้าราชการ ซึ่งนายกฯ มั่นใจว่า ครม. ไม่มีความคิดจะคิดคดทุจริต แต่ขอให้ระวังคนที่ทำงานร่วมกันในกลุ่ม คือ คนใกล้ตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นอย่างนั้นเพียงแต่ต้องยอมรับว่ามีคนบางส่วนที่แสวงหาผลประโยชน์อย่างนี้อยู่ ส่วนกลุ่มข้าราชการ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลกลุ่มคนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทุจริตทั้งหมด ถ้าพบก็ขอให้ร่วมกันกับรัฐบาลแจ้งข้อมูลมาอย่าปล่อยให้ประเทศล่มจม เสื่อมถอยเพราะคนพวกนี้

นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญ ยังแถลงอีกว่า ครม. เห็นชอบให้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ มีอำนาจสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการทุกหน่วยได้ โดยก่อนหน้านี้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ได้เสนอกฎหมายฉบับนี้และผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว 2 สัปดาห์แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในขั้นปรับปรุงแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเกิดช่องว่างขึ้นคือระหว่างที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ชี้แจงว่า มีหน่วยงานราชการที่มีความจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งสิ้น 34 ฐานข้อมูล โดยข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลที่ลึกลับ สืบค้นข้อมูลอะไรของประชาชน แต่เป็นข้อมูลของประชาชนที่ถูกเปิดเผยอยู่แล้วจากการติดต่อราชการ เช่น ใบพกพาอาวุธ ใบขับขี่ และ ใบสมรส เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติจึงขอเชื่อมโยงข้อมูลที่ถือเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งทุกประเทศปฏิบัติเช่นนี้ เพื่อให้หน่วยงานงานความมั่นคงสามารถดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องคดีความ เช่น คดีฆาตกรรม คดีทุจริตประพฤติมิชอบ หรือคดีก่อเหตุร้ายแล้วออกนอกประเทศ สิ่งเหล่านี้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติจะสามารถดึงข้อมูลมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด โดยการขอเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวจะดำเนินการจนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น