xs
xsm
sm
md
lg

เฮือกสุดท้าย “ประยุทธ์ 5” เดิมพันฉุดรากหญ้าเพิ่มเงินในกระเป๋า!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


หากนับตามระยะเวลาตามเทอมเวลาที่เหลืออยู่ของทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงอีกประมาณแค่ปีเศษ ถือว่าไม่มากไม่น้อยสำหรับรัฐบาลที่ทำงานต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว ดังนั้นเวลาที่เหลือหากจะเร่งรัดเพื่อสร้างผลงานให้ชาวบ้านได้จดจำมันก็ย่อมทำได้ ขึ้นอยู่กับว่า ตัวผู้นำและบรรดารัฐมนตรีที่เป็นกลไกสำคัญในศูนย์กลางอำนาจปัจจุบันนี้จะเข้าใจและตั้งใจทำเพื่อประชาชนหรือไม่ต่างหาก

ระหว่างที่รอประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ประยุทธ์ 5) ในเร็ววันนี้ น่าจะใช้เวลาช่วงนี้มาประเมินถึงทิศทางข้างหน้าของรัฐบาลชุดใหม่ รวมไปถึงตัวหัวหน้ารัฐบาลคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าหากต้องการสร้างความประทับใจให้แก่ชาวบ้านเพื่อสร้างแรงผลักดันให้สามารถ “ไปต่อ” ได้อีกพักใหญ่เขาก็ต้องสร้าง “ความพึงพอใจ” ให้แก่ชาวบ้านระดับล่างหรือที่เข้าใจกันคือ “ระดับรากหญ้า” ให้มากที่สุด

แน่นอนว่าที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่สามารถดันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโตเกินคาด โดยในปีนี้มีการคาดกันว่าจะโตถึงร้อยละ 3.8 และยังมีการหวังลึกๆ กันภายในว่าอาจจะโตได้ถึงร้อยละ 4 กันเลยทีเดียว หากการส่งออกยังขยายตัวพรวดพราดทำลายสถิติกันแบบนี้ต่อไปในทุกเดือนที่เหลือในช่วงไตรมาสที่สาม-สี่

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวแม้จะเป็นผลบวกในภาพรวมทั้งด้านจิตวิทยาการลงทุนและการบริโภคภายใน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันยังไปไม่ถึงชาวบ้านระดับล่างมากนัก ตัวเลขที่เติบโตดังกล่าวนั้นมันจะขยายตัวกระจุกอยู่แต่ระดับส่วนกลาง หรือระดับ “ทุนใหญ่” ที่ได้รับอานิสงส์จากการ “การส่งออก” ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก

ขณะที่สินค้าเกษตรหลักๆ ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน หรือแม้แต่ ข้าว ก็ราคาตก นี่แหละจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำไมถึงมีเสียงบ่นเรื่องค่าครองชีพ ไม่มีรายได้ “จนเครียด” กันทุกวัน ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในบ้านเรา แม้ว่ายังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก การลงทุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศเป็นหลัก แต่ตรายใดที่รัฐบาลยัวไม่อาจทำให้ชาวบ้านระดับล่างมีรายได้ที่พออยู่ได้ การข้บเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็ยังทำได้เชื่องช้าและยังไม่เห็นผล เหมือนกับที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์กันว่าจะน่าจะโตร้อยละ 3.7 ถึง 3.8 แต่ก็นั่นแหละ หากตราบใดที่ชาวนายัวขายข้าวได้ขาดทุน ยางราคาตกรูดแบบนี้ ปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงสินค้าเกษตรตัวอื่นราคาไม่ดีมันก็อยู่กันลำบาก เพราะกว่าค่อนประเทศล้วนเป็นเกษตรกร เมื่อเงินในกระเป๋าพวกเขาไม่มีมันก็ไม่มีทางมีความสุขกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็สะท้อนความคิดเห็นออกมาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หากมองกันในแง่บวกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงกันบ้างเหมือนกันว่า มีความ “ยืดหยุ่น” พอสมควร อย่างน้อยก็มีปฏิกิริยาตอบรับต่อเสียงบ่นของชาวบ้านพอสมควร อย่างน้อยในการปรับคณะรัฐมนตรีเที่ยวนี้แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความเคลื่อนไหวบางอย่าง นั่นคือมีการปรับบางตำแหน่งให้เข้าที่เข้าทางกว่าเดิม

เชื่อว่าการปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี้จะทุ่มน้ำหนักลงไปที่กระทรวงเศรษฐกิจเป็นหลัก รวมไปถึงการมอบหมายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบกับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มากกว่าเดิมและชัดเจนกว่าเดิม เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลาที่เหลืออยู่จำกัดได้ผลมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการทำงานต้อง “มีเอกภาพ” มีความรับผิดชอบที่ชัดเจน

จากความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ก็ทำให้เห็นแนวโน้มชัดเจนแล้วว่า การทำงานของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทุ่มกำลังลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการลงทุนในระดับเมกะโปรเจกต์ในแบบที่เรียกว่า “พุ่งทะยาน” โดยเฉพาะสัญญาณจากคำพูดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ย้ำว่าในปีหน้าคือปี 2561 จะเป็น “ปีแห่งโอกาส” ของไทย

แม้ว่าในรายละเอียดสำหรับการลงทุนหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากยังไม่ออกมา แต่คร่าวๆ เท่าที่เห็นก็คือ การเตรียมงบประมาณที่จะใช้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีงบประมาณอยู่แล้วประมาณ 2 แสนล้านบาท แล้วให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้เสนอโครงการขึ้นมาเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การท่องเที่ยวในชุมชน การค้าขายในชุมชน และสอดรับกับการอัดฉีดสวัสดิการเพิ่มเติมจาก “บัตรคนจน” อีกล็อตใหญ่ที่คาดว่าจะคลอดออกมาภายในเดือนธันวาคมเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตัวหลักให้ราคาพอให้เกษตรกรอยู่ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ และรวมถึงกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำงานร่วมกันเป็นเนื้อเดียว มีความทันสมัย ไม่เชื่องช้าโบราณ เข้าชามเย็นชามแบบข้าราขการที่ล้าหลัง มันถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างทันการณ์ เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้น
 
ตราบใดก็ตามหากอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจะโตไปกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่หากเกษตรกรยังขายสินค้าของเขาไม่ได้ราคา หรือยังขาดทุนบักโกรก มันก็ไปไม่รอด ขณะเดียวกัน หากจะให้ไปรอดก็ต้องขจัด “ตัวถ่วง” ออกไปให้เร็ว มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะรู้ดีว่าเป็นใคร!
กำลังโหลดความคิดเห็น