xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อคเลือกตั้งท้องถิ่น เช็คฐานเสียง-หัวคะแนนทั่วปท. ลดแรงกดดันการเมืองระดับชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

กระแสเรื่องของการ “ปลดล็อกการเมือง” ถูกกดดันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็กำลังเจอ “ลูกพลิ้ว” เมื่อทำท่าว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเริ่มปลดล็อคเฉพาะในส่วนของ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ก่อน

ตรงนี้ยิ่งเป็นเหมือนการ “กวนน้ำให้ขุ่น” เพราะ “นักการเมือง - นักเลือกตั้ง” ก็อดไม่ได้ที่ต้องโวยแบบรู้แกวว่า คสช.ต้องการเปิดทางเพื่อเช็ค “กระแส-ฐานเสียง” ของ คสช.รวมทั้งพรรคการเมืองก่อน

อีกทั้งยังจับได้ไล่ทันด้วยว่า เป็นความพยายามลดกระแสกดดันปลดล็อคการเมืองระดับประเทศ หลังะระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. มีภารกิจที่พรรคการเมืองซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วต้องดำเนินการเพียบไปหมด ทั้งการยืนยันสมาชิกพรรค หาทุนประเดิม ในระยะเวลาที่จำกัด แต่การที่ คสช.ไม่ปลดล็อคก็เท่ากับต้อนให้แต่ละพรรคไม่สามารถทำตามกฎหมายได้

ดูท่าแล้ว คสช.ไม่สนใจนำพาเสียงบ่นของ “นักการเมือง - นักเลือกตั้ง” แม้แต่น้อย

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแอคชั่นของ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิญ “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” อาทิ ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร.ต.ท.อาทิพย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมแก้ไขกฎหมายจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นบางแห่ง

แต่ไม่มีการเชิญตัวแทนจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่อย่างใด

ก่อนสรุปออกมาว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็วๆนี้ ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายจำนวน 6 ฉบับ

ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.), พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.),พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และพ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ซึ่งทั้ง 6 ฉบับนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการ จากนั้นค่อยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่ สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป

เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับบังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการปลดล็อคต่อไป ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ใช้เวลาไม่นาน” เข้าทรงนี้ก็ร้องเพลงรอกันต่อไป

สำหรับตำแหน่งในส่วนของ “ท้องถิ่น” ทั้งนายกและสมาชิก ที่หมดวาระและรอการเลือกตั้งมีด้วยกัน 7 ประเภท รวมแล้ว 8,410 อัตราทั่วประเทศ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร (กทม.)

เมื่อถึงเวลาจริง แก้ไขกฎหมายเรียบร้อย ก็ต้องมาจิ้มอีกว่า จะเลือกกันในส่วนไหนก่อน เพราะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นถือว่า บ่งบอกอะไรได้อย่างเหมือนกัน โดยเฉพาะตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีมานี้ การที่ “คสช.” อยู่บนคานอำนาจมายาวนาน เด้งผู้บริหารท้องถิ่นที่เป็นฐานเสียงนักการเมืองไปไม่รู้เท่าไหร่ ส่งทหารเข้าไปทำพื้นที่ต่างๆ ตามต่างจังหวัดประชาชนลืมนักการเมืองเก่าๆ มันช่วยแบ่งคะแนนหรือโน้มน้าวใจประชาชนให้เทใจไปทางอื่นบ้างหรือไม่

สามารถเซาะทำลายอาณาจักรหรือฐานที่มั่นของ "นักการเมือง" เจ้าถิ่นไปได้มากน้อยเพียงไร ผลการเลือกตั้งมันจะสะท้อนออกมาให้เห็นได้ชัด

แล้ว “นักการเมืองท้องถิ่น” ก็มาจากดงเดียวกับ “นักการเมืองระดับชาติ” นั่นแหละ ถ้าผลออกมายังได้หน้าเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ ในพื้นที่ ก็สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมาถึงการเลือกตั้งระดับชาติผลจะออกมาเป็นอย่างไร มันเป็นการชิมลางชั้นดีของ คสช.

ที่จะเปิดให้เฉพาะบางพื้นที่ไม่เปิดทีเดียวพร้อมกันหมด เพื่อจะได้เอามาประเมินวางแผนกันใหม่ก่อนจะถึงการเลือกตั้งระดับชาติว่า พื้นที่ไหนยังต้องใช้ยุทธศาสตร์อะไร ตามแบบวิธีทหารที่สำรวจแต่ละพื้นที่เป็นระยะๆ ที่ผ่านมา แต่ไม่โฉ่งฉ่าง

แล้วที่ว่าปลดล็อคนั่น ก็ปลดกันพอเป็นพิธี เห็นว่าข้อห้ามหยุมหยิมเต็มไปหมด เอาแค่หาเสียงโยงเรื่องระดับชาติยังทำไม่ได้ แม้จะไม่ห้ามนักการเมืองไปช่วยผู้สมัครท้องถิ่นหาเสียง แต่ก็บล็อกเรื่องกันแล้วแต่เนิ่นๆ

จะพูดว่าเหมือนถูกมัดมือมัดเท้าถีบขึ้นสังเวียนมวย ให้โดนอีกฝ่ายรุมยำก็ไม่ผิดนัก

แล้วที่ปลดๆกัน ก็คงไล่เป็นจุดๆ พื้นที่สีแดง จุดยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ คงรอคิวท้ายๆ โดยเฉพาะ ”สังวียนนครบาล” กรุงเทพมหานคร ที่คาดว่า จะเป็น “พิกัดสุดท้าย” ที่จะได้หย่อนบัตรด้วยซ้ำ

เพราะไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยชนะ ไม่ส่งผลดีต่อคสช.ทั้งนั้น

ยังจะเป็นการตอกหน้า คสช.ด้วยซ้ำ ขนาดนั่งบริหารมานานหลายปี ด่านักการเมืองสาดเสียเทเสีย สุดท้ายเสร็จหน้าเดิมๆ หาทางเลือกใหม่ๆไม่ได้ จะซวยถึงระดับชาติเอา

ทำเอาเหล่าแคนดิเดตที่เตรียมเสนอตัวเป็น “พ่อเมือง กทม.” ร้องเสียงรอไปก่อน ที่จะลงแน่ๆ ก็อย่าง “บังรินทร์” สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ไม่สวมหมวกค่ายสีฟ้า ก็คงลงอิสระแล้วค่อยใช้ “แรงสะตอ” หนุน

ที่เซ็งหนักๆก็ “บิ๊กแป๊ะเล็ก” พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่ติดอกติดใจงานมวลชนมาสักพักใหญ่ๆ เคยวางไลน์ไว้ เกษียณปั๊บ ลงเลือกตั้ง กทม.ทันที ด้วยเชื่อว่า “บิ๊ก คสช. หลายคนจะเอ็นดู

แต่พอทอดเวลาไปเรื่อย งานไม่มีทำ อดโปรโมทตัวเอง กลายเป็น “บุคคลโลกลืม” ไปเรื่อยๆ ถึงเวลาจริงคงขายไม่ออก
กำลังโหลดความคิดเห็น