xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ร้องผู้ตรวจฯ จี้รัฐคว่ำประกาศเกณฑ์สำรวจปิโตรเลียมฯ กันชาติเสียประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คปพ. ยื่นคำร้องผู้ตรวจฯ ชงรัฐยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์การสำรวจปิโตรเลียมฯ เหตุเกณฑ์ใหม่ทำรัฐหมดสิทธิเลือกรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต- สัญญาจ้างบริการ เอื้อให้เลือกแต่สัญญาสัมปทาน ที่สุดท้ายประเทศเสียประโยชน์

วันนี้ (16พ.ย.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณามีข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมวพลังงาน ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เพราะหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศมีข้อบกพร่องร้ายแรง ที่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 (1) ทำให้การบริหารงานของครม.ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวมได้

โดยม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า คปพ.เห็นว่า หลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าว ที่กำหนดให้ใช้ตัวเลขโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพานิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาใช้รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต เป็นการหลีกเลี่ยงบิดเบือนโอกาสที่รัฐจะเลือกใช้รูปแบบดังกล่าว เนื่องจากการคำนวนโอกาสพบปิโตรเลียมตามประกาศไม่ได้คำนวนตามศักยภาพของแปลงปิโตรเลียมในแต่ละแปลง แต่กลับใช้ค่าเฉลี่ยโอกาสพบปิโตรเลียมของทั้งภูมิภาค จึงเป็นเจตนารวมแปลงปิโตรเลียมที่มีตัวเลขโอกาสพบปิโตรเลียมสูง เข้ากับแปลงที่มีโอกาสพบปิโตรเลียมน้อยหรือแปลงไม่มีโอกาสพบปิโตรเลียมเลย เพื่อให้ตัวเลขผลรวมของโอกาสพบปิโตรเลียมต่ำลง และทำให้รัฐต้องใช้รูปแบบสัมปทานแทน

"จากตัวเลขโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพานิชย์ของไทยอยู่ที่อัตราร้อยละ 39 แต่โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพานิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมของแต่ละภูมิภาค มีค่าระหว่าอัตราร้อยละ 0-31 ล้วนต่ำกว่าโอกาสพบบิโตรเลียมในเชิงพานิชย์ของไทยทั้งสิ้น การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้ทุภภูมิภาคของไทยต้องใช้รูปแบบสัมปทานเท่านั้น ยกเว้นในทะเลอ่าวไทย จึงเป็นข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง และไม่พบว่าในกลุ่มประเทศมีประเทศใดที่ใช้ข้อกำหนดโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพานิชย์ของภูมิภาคมาเทียบกับของประเทศเพื่อกำหนดพื้นที่ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตในการให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างประเทศไทย

นอกจากนี้ที่ประกาศฯกำหนดเกณฑ์ในการเลือกใช้รูปแบบสัญญาจ้างบริการว่าจะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไปต่อแปลงสำรวจหนึ่งๆ หรือมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 3 ล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไปต่อพื้นที่แปลงสำรวจหนึ่งๆนั้น เป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งจากรายงานประจำปีกรมเชื้อเพิลงธรรมชาติปี 59 ระบุว่า แปลงปิโตรเลียมทั้งหมดทุกแปลงของประเทศมีปริมาณน้ำมันดิบรวมกันเพียง 280.22 ล้านบาร์เรล และมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติรวมกันก็มีแค่ 11.62 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น ดังนั้นข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่สามารถทำให้รัฐใช้รูปแบบของสัญญาจ้างบริการได้เลย เพราะจะไม่มีแปลงไหนผ่านเกณฑ์ ซึ่งอาจรวมไปถึง แหล่งบงกช แหล่งเอราวัณ และแหล่งสิริกิติ์ ที่เพิ่งหมดอายุสัมปทานแต่ยังคงมีปิโตรเลียมเหลืออยู่ และรัฐกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการในลักษณะใดต่อไป

"ในทางปฏิบัติที่เป็นสากล รูปแบบสัญญาจ้างริการมีความเหมาะสมกับศักยภาพปิโตรเลียมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่เกณฑ์ตามประกาศดังกล่าวเป็นอุปสรรคขัดขวางการนำรูปแบบสัญญาจ้างบริการไม่ให้สามารถนำมาใช้จริงได้ ดังนั้นรัฐจึงควรมีการปรับปรุงเแก้ไขหลักเกณฑ์ข้อกำหนดที่ทำให้รัฐเสียเปรียบประเทศเสียประโยชน์ หรือหากรัฐเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขก็ควรสั่งให้มีเปิดเผยว่าพื้นที่ แปลงปิโตรเลียมใดสามารถใช้ระบบสัญญาจ้างบริการได้เพื่อความโปร่งใสในการออกประกาศฉบับดังกล่าว เพราะสัญญาจ้างบริการเป็นรูปแบบจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติที่ให้ความมั่นคงทางพลังงานต่อประเทศมากที่สุด"



กำลังโหลดความคิดเห็น