xs
xsm
sm
md
lg

ถูกและดี...ไม่มีจริง? ชอปปิงสไตล์ “เสือป๊อก” ชำแหละ สเปกเทพ?? “เครื่องตรวจความเร็ว” ราคาเหยียบล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สมเป็นสไตล์ “เสือเงียบ แห่งป่ากระทิงแดง” จริงๆ

เมื่อ “วาระสำคัญ” ที่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างการอนุมัติ “โครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา” วงเงินงบประมาณเดิม 957,600,000 บาทนั้น กลับ “เงียบเชียบ” ผิดปกติ ราวกลับมีอะไรที่ต้องปิดบังอย่างไรอย่างนั้น

ทั้งที่การจัดหาเครื่องเครื่องตรวจจับความเร็ว รวมไปถึงเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ดูเหมือนจะเป็น “ผลงานที่ชัดเจน” เพียงไม่กี่ประการของ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานศูนย์ฯ

ทว่ามติ ครม.ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุม อนุมัติเห็นชอบตามข้อเสนอของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่กำกับ กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา เพื่อใช้ในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามที่ “บิ๊กป๊อก” ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) จัดหาสนับสนุนภารกิจของ สตช.นั้น กลับทำในลักษณะ “ปิดลับ”

ทั้งในการแถลงข่าวผลการประชุม ครม. โดย “บิ๊กไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทั่งในเอกสารสรุปวาระการประชุม ครม.ทื่ทางสำนักโฆษกฯ ส่งให้สื่อมวลชนก็มิได้เอ่ยถึงโครงการจัดซื้อเครื่องที่ว่านี้แม้แต่นิดเดียว

หากย้อนที่มาที่ไปของโครงการจัดซื้อครั้งนี้ที่ค่อนข้างยืดเยื้อมาเป็นแรมปี การได้รับ “ไฟเขียว” จาก ครม. น่าจะถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้ “บิ๊กบางคน” แถวคลองหลอด จุดพลุเฉลิมฉลองด้วยซ้ำไป

เพราะก่อนหน้านี้โครงการจัดหา “เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา” ของ ปภ.เพื่อสนับสนุน สตช.นั้น ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2558 โดยเป็น “โครงการพันล้าน” ร่วมกับการขออนุมัติจัดหา “เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” และ “เครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้ง”

โดยครั้งนั้น “บิ๊กป้อม” ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย ก็เป็นผู้เสนอวาระเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2558 ภายใต้ชื่อ "โครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วและเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในการดำเนินการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน" โดยมีสาระสำคัญในการขออนุมัติจัดหา

1.เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จำนวน 2,930 เครื่อง ราคาเครื่องละ 8 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 234,400,000 บาท

2.เครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้งจำนวน 532 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท รวมเป็นเงิน 478,800,000 บาท

และ 3.เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 1,064 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท รวมเป็นเงิน 957,600,000 บาท

ด้วย “เหตุผลสุดคลาสสิก” ที่ว่า เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทางตำรวจใช้งานอยู่นั้น มีอายุงานมาไม่ต่ำกว่า 12-15 ปี สถาพชำรุดทรุดโหรม และต้องจัดหาใหม่มาทดแทนอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม วาระดังกล่าวได้รับมติอนุมัติแบบ “ไม่สุดซอย” เพราะ “ครม.ลุงตู่” ไฟเขียวเฉพาะในส่วนของเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ งบประมาณจำนวน 234,400,000 บาท โดยครั้งนั้นมีการระบุให้ใช้ “งบกลาง” รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559

ก่อนจะมีการเปิดเผยในภายหลังว่าในรายการเครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้ง-พกพานั้น ไม่ได้ถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เนื่องจาก “สำนักงบประมาณ” ได้ทักท้วงว่า “ราคาแพงเกินจริง” แล้วเสนอให้ กระทรวงมหาดไทย และ สตช.ร่วมกันทบทวนการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวอีกครั้ง

พร้อมทั้งระบุอีกว่า ปัจจุบันสถานีตำรวจใช้เครื่องตรวจจับความเร็วอีกชนิดหนึ่งที่มี “คุณลักษณะธรรมดา” แต่ “ราคาไม่สูง” ประมาณเครื่องละ 130,000 บาท ซึ่งก็มีคุณสมบัติความเหมาะสมในการใช้งานทั่วไป สามารถตรวจจับความเร็วได้ดี ดูแลรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่สูงมากนัก จึงเหมาะสมกับภารกิจของสถานีตำรวจมากกว่า

ต่างจากเครื่องที่ ปภ.เสนอไป ที่ถือเป็น “ครุภัณฑ์พิเศษ” ที่นอกจากราคาสูงมากแล้ว ที่ผ่านมาก็มี “ข้อสังเกต” จากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา เมื่อปี 2557 และของ สตช.เองว่า เหมาะสำหรับหน่วยงานที่มีความจำเป็นเพื่อใช้ “งานเฉพาะ” เท่านั้น เพราะต้องมีการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมืออย่างดี และต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ รวมทั้งใช้งบประมาณในการ บำรุงรักษาสูง

พูดง่ายๆ ว่า หากต้องการแจกจ่ายเครื่องตรวจจับความเร็วให้แก่สถานีตำรวจทั่วประเทศ “เครื่องแบบธรรมดา” ก็เพียงพอถมเถ ไม่ต้องไปใช้ “เครื่องสเปกเทพ” ที่มีภาระในการบำรุงรักษาในอนาคตอีก

จากนั้นโครงการดังกล่าวก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “บิ๊กคลองหลอด” สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวน เพื่อหา “จังหวะเหมาะๆ” นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้มีการเจรจากับ “บริษัทผู้ขาย” ไว้เบื้องต้นแล้ว

จึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้จะผ่านไปกว่า 2 ปีแล้ว แต่ ปภ. ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็ยังดึงดันที่จะใช้ “เครื่องรุ่นเดิม” ที่มีราคาแพงระยับเครื่องละ 9 แสนบาท หรือ “เหยียบล้าน” แล้วทำเป็น “อัลไซเมอร์” หลงลืมข้อท้วงติงของ “สำนักงบประมาณ” ที่ว่า เครื่องละ “แสนสาม” ก็ใช้งานได้ดีเหลือแหล่

แต่ก็รู้ว่าครั้นจะ “ปัดฝุ่น” เอกสารเดิม เปลี่ยนวันที่ปี พ.ศ.แล้วเสนอเข้า ครม.ก็คงน่าเกลียดเกินไป จึงมีการ “แต่งตัวใหม่” ปรับจากโครงการเดิมที่เสนอให้จัดหา “เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา” จำนวน 1,064 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท เป็นเงิน 957,600,000 บาท เพื่อสนับสนุนสถานีตำรวจทุกสถานีจำนวน 1,465 สถานี

ปรับเป็นการจัดหาเพียง 849 เครื่อง ในราคาเครื่องละ ประมาณ 6.75 แสนบาท รวมเป็นเงินงบประมาณ 573,075,000 บาท ประหยัดงบประมาณชาติไปทันทีถึง 384,525,000 บาท

ดีดลูกคิดแล้วก็ต้องปรบมือให้ “คนต่อราคา” ที่สามารถลดเกลี้ยกล่อม “บริษัทผู้ขาย” ให้เห็นถึงประโยชน์ในภารกิจในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จนมี “โปรโมชั่นพิเศษ” ลดราคาให้พรวดเดียว “25 เปอร์เซ็นต์” จาก 9 แสนบาท เหลือ 6.75 แสนบาท

โปรโมชั่นดีงามขนาดนี้ “ครม.ลุงตู่” ตาลุกวาว เคาะเปรี้ยงสั่งซื้อทันที ทั้งยังเป็นการอนุมัติให้ใช้งบประมาณจำนวน 573,075,000 บาท จาก “งบกลาง” รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เสียด้วย

แม้ว่างบประมาณ 5 ร้อยล้านบาทนี้จะดูไม่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีปัจจุบันของ “รัฐบาล คสช.” ที่โตเป็น “ฟองสบู่” ไปถึงเกือบ 3 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ก็มีคำถามที่ตามมามากมาย

ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการฯ ที่เหตุใดจึงต้องมาเบียดเบียน “งบกลาง” ในรายการที่ชื่อก็บอกอยู่ว่า “เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ทั้งที่โครงการฯตั้งเรื่องมาเป็นปีๆ หากมีความจำเป็นจริง เหตุใดจึงไม่ไปบรรจุไว้ในงบประมาณของ ปภ. หรือกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีการเบิกง่ายตามระบบงบประมาณปกติ

นอกจากนี้ก็ยังมีข้อสงสัยอีกว่า ด้วยยุคสมัยที่นวัตกรรมปรับเปลี่ยนแทบจะเป็นรายนาที เหตุใดหน่วยงานภาครัฐของไทย จึงยัง “ยึดติด” อยู่กับเครื่องรุ่นเดิม ที่ตั้งเรื่องไว้เมื่อกว่า 2 ปีก่อน

ไม่เพียงเท่านั้น หากย้อนไปในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ก็เคยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2556 อนุมัติจัดจัดซื้อ “เครื่องตรวจวัดความเร็วแบบพกพา” ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดย ปภ.เสนอ เพื่อสนับสนุน สตช.มาแล้วเช่นกัน ครั้งนั้นก็อนุมัติให้ใช้ “งบกลาง” จำนวน 511.2 ล้านบาท สำหรับ 1.เครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้ง จำนวน 76 เครื่อง เป็นเงิน 91.2 ล้านบาท หรือเครื่องละ 1.2 แสนบาท 2.เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 76 เครื่อง เป็นเงิน 68.4 ล้านบาท หรือเครื่องละ 9 แสนบาท และ 3.เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์แบบยืนยันผล จำนวน 2,930 เครื่อง เป็นเงิน 351.6 ล้านบาท หรือเครื่องละ 1.2 แสนบาท

ที่น่าสังเกตก็คือ โครงการก็เป็นในลักษณะเดียวกับที่ “มท.ป๊อก” พยายามเสนอ แต่ไม่จัดหนักเท่า ก็ “รัฐบาลปู” ให้เครื่องตรวจความเร็วแค่จังหวัดละเครื่องเท่านั้น ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ก็ในส่วนของเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา ที่ราคาเท่ากันที่เครื่องละ 9 แสนบาท

จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ผ่านมากี่ปีๆ เจ้าเครื่องนี้ทำไมราคาก็คงที่อย่างน่าประหลาดใจ

ส่วนรายการที่ 3 เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ก็เป็นโครงการที่ “รัฐบาล คสช.” มา “รีวิวใหม่” แล้วเคาะอีกครั้งเมื่อปี 2558 ทำให้สามารถลดราคาจากเครื่องเครื่องละ 1.2 แสนบาท ิเหลือเครื่องละ 8 หมื่นบาทนั่นเอง ทำเอา “ซัพพลายเออร์” ถึงกับเคือง “บิ๊กฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นอธิบดี ปภ.ในวันนั้นไม่หาย เพราะมีข่าวว่ามีดาร “ทอนเงิน” ให้กับรัฐบาลเก่าไปแล้ว

ย้อนกลับมาที่ “เครื่องตรวจวัดความเร็วแบบพกพา” ที่ว่ากันว่าที่ราคากระฉูดไปเหยียบล้าน ก็ด้วย “สเปคเทพ” เหลือเกิน

โดยในรายงานของกระทรวงมหาดไทยระบุถึง "เครื่องตรวจจับความเร็วระบบแสงเลเซอร์แบบมือถือ(พกพา) หรือ Laser-Speed Gun Specification" ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท ไว้ประมาณว่า “สามารถบันทึกข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายที่ชัดเจนของรถยนต์ได้พร้อมกัน และสามารถพิมพ์ผลออกทางเครื่องพิมพ์ได้ โดยเครื่องฯ ตรวจจับความเร็วรถยนต์ผู้ตรวจสามารถเลือกมองผ่านศูนย์เล็งของเลเซอร์และจอแสดงผลได้ ตามมาตรฐาน International Association of Chiefs of Police หรือ IACP)

สามารถตรวจจับรถยนต์เป้าหมายได้ที่ระยะไกลไม่น้อยกว่า 20-1,200 เมตร สามารถมองเห็นป้ายทะเบียนรถยนต์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังอย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 200 เมตร ในเวลากลางวัน และอ่านค่าผิดพลาดไม่เกิน บวก/ลบ 20 เซนติเมตร สามารถตรวจวัดความเร็วได้ไม่น้อยกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วที่อ่านได้มีค่าความผิดพลาดไม่เกิน บวก/ลบ 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลำแสงเลเซอร์มีความปลอดภัยต่อสายตาตามมาตรฐาน FDA Class1 Eye safe, CFR 21 หรือเทียบเท่า

สามารถเก็บบันทึกข้อมูลทั้งภาพ วิดีโอและเหตุการณ์ต่างๆในตัวเครื่องมีหน่วยความจำไม่น้อยกว่า 16 GB ควบคุมการทำงานโดยระบบไมโครโพรเซสเซอร์ สามารถแสดงภาพรถพร้อมความเร็วรถ วัน เวลา สถานที่ ชื่อหรือรหัสพนักงานผู้ตรวจวัด และสามารถบันทึกข้อมูลได้ไม่น้อยกว่า 720 ภาพ

สามารถถ่ายวิดีโอและภาพรถยนต์คันนั้นๆได้อัตโนมัติพร้อมกัน สามารถถ่ายภาพรถยนต์ได้ในระยะไม่น้อยกว่า 200 เมตร มีระบบซูมภาพเข้าและออกอัตโนมัติ และตัวกล้องมีระบบประหยัดพลังงาน สามารถเลือกโหมดการบันทึกถ่ายภาพได้ไม่น้อยกว่า 3 แบบ เช่น ถ่ายแบบแบบอัตโนมัติ กึ่งอัตโนมัติ และโดยผู้ใช้ต้องการตามคุณลักษณะ

รวมทั้งต้องมี เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา สำหรับใช้งานตรวจสอบข้อมูลจำนวน 1 เครื่อง หน่วยประมวลผลความเร็วสัญญาณนาฬิกาไม่ต่ำกว่า 2.5 GHz หน่วยความจำหลักไม่ต่ำกว่า 4GB DDR3 จอภาพขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า 12 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 500 GB 7200 RPM SATA หรือดีกว่าฯ

ส่วนเครื่องพิมพ์ภาคสนาม มีการรับรองมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม RoFS, WEEE และมาตรฐานการประหยัดพลังงาน Energy star เป็นเครื่องพิมพ์ Inkjet มีฟังก์ชัน Picbridge ที่สามารถพิมพ์ภาพจากการเชื่อมต่อกล้องดิจิทัลหรือโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง”

“สเปกเทพ” ที่ไล่เรียงมาทั้งหมดนั้น “กูรูไอที” ฟันโช๊ะไว้ว่า “เต็มที่แค่หลักหมื่น” หรือหากสั่งซื้อเวบออนไลน์แถบจีนแผ่นดินใหญ่ “หลักพันก็ยังหาได้” ด้วยสเปคที่ไม่ขี้เหร่กว่ากันเท่าไรด้วยซ้ำ

ที่ต้องถามอีกก็คือ ทำไมต้องไปเสาะหาเครื่องที่ตรวจวัดความเร็วได้ถึง 320 กม./ชม. ทั้งที่ในเมืองไทยขับแค่เกิน 120 กม./ชม.ก็ถูกจับปรับแล้ว อีกทั้งตามสถิติของ สตช.เองก็เคยมีความเร็วสูงสุดที่จับได้อยู่แค่ไม่เกิน 240 กม./ชม.เท่านั้น

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ก็เมื่อปี 2553ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ก็เคยนำผลงานวิจัยเครื่องตรวจวัดความเร็วแบบ “ไทยประดิษฐ์” ส่งมอบให้กับสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทดลองใช้จนเป็นที่น่าพอใจ โดยมีต้นทุนเพียง 2 หมื่นบาท แต่คุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศที่นำเข้าจากอเมริกาและยุโรปราคาถึง 8 - 9 แสนบาท

ข้อท้วงติง หรือข้อมูลเหล่านี้กลับไม่ถูก “นำพา” ไปประกอบการตัดสินใจของเหล่าผู้มีอำนาจในเวลาที่จะตั้งโครงการจัดซื้อแต่อย่างใด จนถูกตั้งแง่ว่า มีความพยายามที่จ้องจะผลาญงบประมาณ “เจี๊ยะคอมมิชชั่น” ด้วยการตีโปร่งราคากลางไว้ให้สูงๆ หรือเปล่า

ยิ่งเป็นการจัดซื้อถายการการกำกับของ “บิ๊กป๊อก” เจ้าของสมญา “เสือเงียบแห่งป่ากระทิงแดง” ด้วยแล้ว ภาพของ “เรือเหาะบุโรทั่ง - รถถังยูเครน - ไม้ล้างป่าช้าจีที 200” ลอยขึ้นมาหลอน

เพราะทุกรายการที่ว่าไปข้างต้น ตอนจัดซื้อในช่วงที่ “บิ๊กป๊อก” เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็จัดซื้อวิธีพิเศษเร่งรัดให้เสร็จอย่างรวดเร็ว และการตีฆ้องร้องป่าวว่า “สเปกเทพ” และมึความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะมีจุดจบไม่ต่างกัน ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ ปลดประจำการเป็นเศษเหล็กไร้ค่าในที่สุด

ก่อนจะมาแก้ตัวแบบกำปั้นทุบดินของ “บิ๊กป้อม” ที่พูดถึง “เรือเหี่ยวบุโรทั่ง” ประมาณว่า “ตอนแรกก็คิดว่าดี” ในอารมณ์ไม่ติดใจสงสัยไปไล่เบี้ยหาผู้กระทำความผิด ทำให้ชาติสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุเลย

จนน่าเป็นห่วงว่า “เครื่องตรวจวัดความเร็วสเปกเทพ” จะซ้ำรอยผลงาน “QC ระดับเทพ” อันเอกอุของ “เสือป๊อก” ที่คงคอนเซปต์ “ถูกและดีไม่มีจริง แพงแต่ใช้ไม่ได้สิแน่นอน” อีกหรือเปล่า!!


กำลังโหลดความคิดเห็น