xs
xsm
sm
md
lg

มติ สนช.ผ่าน กม.ลูก สตง.โละอำนาจไต่สวน ป.ป.ช.ส่งผล “พิศิษฐ์” หมดสิทธิคัมแบ็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สนช. พิจารณา พ.ร.ป. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนมีมติผ่าน กม. ลูก สตง. เสียงข้างมากยืนกรานโละอำนาจไต่สวน ป.ป.ช. เพิ่มเนื้อหาสกัด “พิศิษฐ์” คัมแบ็ก รวมถึงอดีตผู้ว่าการ สตง. คนอื่น เหตุคุณสมบัติขัด รธน.

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในวาระ 2 - 3 จากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพิจารณาแล้วเสร็จ โดยสาระสำคัญในมาตรา 7 วรรคสาม ที่ กมธ. แก้ไขร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตัดเรื่องการให้อำนาจผู้ว่าการ สตง. สามารถไต่สวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่ทุจริตทิ้งไป เพราะเห็นว่าเป็นการกล่าวล่วงอำนาจการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ทำให้หน่วยงานอื่นล่วงรู้ความลับสำนวนไต่สวน ป.ป.ช. แต่ กมธ. เสียงข้างน้อย และ สนช. บางส่วน เห็นว่า ไม่ควรตัดอำนาจผู้ว่าการ สตง. ไต่สวนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่ทุจริตทิ้ง เพราะการให้ สตง. ตรวจสอบ ป.ป.ช. เป็นการถ่วงดุลองค์กรอิสระให้เกิดความน่าเชื่อถือเรื่องความโปร่งใส

นายกล้านรงค์ จันทิก กมธ. เสียงข้างมาก อภิปรายว่า ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบ ยังสามารถถูกตรวจสอบได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุจริต ยังมีสิทธิถูกตรวจสอบ โดยสามารถยื่นเรื่องต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ ที่ผ่านมา มีคดีที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ถูกฟ้องกรณีทุจริตยื่นฟ้องต่อศาลถึง 25 คดี และที่ผ่านมา ป.ป.ช. ยังเคยลงมติลงโทษเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ระดับซี 9 ด้วยการไล่ออกจากตำแหน่งมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า ป.ป.ช. ถูกตรวจสอบได้อยู่แล้ว และมั่นใจว่า ผู้บังคับบัญชาไม่มีใครกล้าปกป้องเจ้าหน้าที่ทุจริต เพราะจะมีโทษเป็นสองเท่าข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากเกรงว่าจะเกิดความโน้มเอียงเรื่องความเที่ยงธรรม ก็สามารถยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ ป.ป.ช. ได้อีกทาง

หลังถกเถียงนาน 2 ชั่วโมงกว่า ในที่สุด กมธ. เสียงข้างมากยอมปรับเนื้อหามาตรา 7 วรรคสามเป็นในกรณีที่ผู้ว่าการ สตง. ตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินแล้วมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และให้ผู้ว่าการ สตง. มีอำนาจไต่สวนเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์ที่ป.ป.ช. กำหนด แต่ต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช. เห็นว่า การดำเนินการของผู้ว่าการ สตง. กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. สามารถแจ้งให้ผู้ว่าการ สตง. ยุติการการไต่สวนเบื้องต้น เพื่อส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอภิปรายในส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 107 ที่ กมธ. เสนอให้ประธานและกรรมการ คตง. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป โดยให้นับวาระดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ส่วนมาตรา 108 กมธ. มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ว่าการ สตง. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ร่าง พ.ร.บ. นี้ ใช้บังคับให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวรรคท้ายของมาตรา 108 ได้กำหนดให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ก่อนวันที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับ ให้ถือว่าเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. มาก่อนตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่ง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. อภิปรายสอบถามความชัดเจนถึงสถานะของอดีตผู้ว่าการ สตง. ทุกคน ไม่สามารถกลับมารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ สตง. ได้อีกใช่หรือไม่ โดย พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม ประธานกมธ. ชี้แจงว่า ถูกต้อง ใครที่เคยเป็นผู้ว่าการ สตง. เป็นได้แค่ครั้งเดียว ไม่สามารถกลับมาเป็นได้อีก เพราะมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ระบุชัดเจนถึงคุณสมบัติผู้ว่าการ สตง. ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ทั้งนี้ สมาชิกได้อภิปรายสอบถามถึงการสรรหาผู้ว่าการ สตง.ที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ขณะนี้ โดยมีอดีตผู้ว่าการ สตง. มาสมัคร ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในกรณีนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่ง นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กมธ. ชี้แจงว่า การสรรหาผู้ว่าการ สตง. ขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไป คนที่เป็นอดีตผู้ว่าการ สตง. แม้จะมาสมัครได้ แต่ถือว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง หลังจากที่ประชุมอภิปรายเรียงมาตราจนครบ 114 มาตราแล้ว ได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 170 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 โดยส่งร่างกฎหมายให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรธ. พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกำหนดคุณสมบัติผู้ว่าการ สตง. ในร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สตง. รวมถึงอดีตผู้ว่าการ สตง. ทุกคน ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ สตง. รอบใหม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติขัดต่อร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าว















กำลังโหลดความคิดเห็น