xs
xsm
sm
md
lg

วิป สนช.เผย กรธ.ตัดอำนาจผู้ว่าฯ สตง.สอบ ป.ป.ช.ทิ้ง คาดถก กม.ลูกพฤหัสฯ นี้ยาวนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิริธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.วิฯ กิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดถกร่างกฎหมายลูกตรวจเงินแผ่นดิน 19 ต.ค.นี้น่าจะนาน หลังมีถึง 22 คนสงวนคำแปรญัตติ สรุปตัดอำนาจผู้ว่าฯ สตง.สอบ ป.ป.ช. โยน กรธ.ดูตั้ง กมธ.ร่วมหรือไม่ เผยมี 3 พ.ร.ป.ค้าง ส่งได้ครบสิ้น พ.ย.

วันนี้ (17 ต.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า ในการประชุม สนช.วันที่ 19 ต.ค.นี้จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในวาระ 2 และ 3 น่าจะใช้เวลาพิจารณานานพอสมควร ซึ่งมีทั้งหมด 114 มาตรา มีผู้สงวนคำแปรญัตติ 22 มาตรา 28 ประเด็น ทั้งนี้ผู้ที่สงวน แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ 1. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 2. กรรมาธิการ(กมธ.)ที่มาจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ 3. ผู้แปรญัตติของ สนช. โดย กรธ.ยืนยันทุกประเด็นในร่างที่เสนอในชั้นรับหลักการ ซึ่งในการพิจารณามีความเห็นแตกต่างกันจนมีการลงมติในหลายมาตรา มี กมธ.ทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะในมาตรา 7 วรรคท้าย เกี่ยวกับอำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ซึ่ง กมธ.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ เพราะเป็นการใช้อำนาจเกินอำนาจของผู้ว่าการ สตง. อีกทั้งกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่น ทั้งนี้ ความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องความคิดเห็นไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

นพ.เจตน์กล่าวต่อว่า ในร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวจะมีบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ คตง.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งจนครบวาระ รวมทั้งทำหน้าที่สรรหาผู้ว่าการ สตง.ด้วย อย่างไรก็ตาม ร่างดังกล่าวจะมีความชัดเจนในการตรวจสอบการใช้งบประมาณท้องถิ่น ว่าเป็นอำนาจของใครระหว่างผู้ว่าการ สตง. หรือ คตง. ส่วนกรณีอาจจะมีการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายในร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ขึ้นอยู่กับ กรธ.ว่ามีประเด็นใดที่ยังเห็นว่าเป็นความขัดหรือแย้งและจะทำหนังสือทักท้วงมา ขอให้ สนช.ได้ตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อทบทวนในประเด็นใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีร่าง พ.ร.ป.ค้างพิจารณาอยู่จำนวน 3 ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ที่คาดว่าจะส่งให้ประธาน สนช. หลังงานพระราชพิธี หรือวันที่ 31 ต.ค.นี้ 2. ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะยังคงกำหนดเดิม ในวันที่ 21 พ.ย. และ 3. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส. จะส่งในวันที่ 28 พ.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น