xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้ง พ.ย. 61 “ลุงตู่” คุมเบ็ดเสร็จ รีเทิร์นแน่ แต่แบบไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


“ในส่วนตรงนี้ผมคงพูดได้ว่าประมาณเดือนมิถุนายนปี 2561 ประมาณนะครับ และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะเป็นการเลือกตั้ง ชัดเจนขึ้นไหม”

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม แน่นอนว่า นอกจากเกิดความชัดเจนในทางการเมืองแล้วยังสามารถดับกระแส “ปั่น” ของพวกนักการเมืองบางกลุ่มที่พยายามจุดประเด็นเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนลงไปได้อย่างทันท่วงที

เอาเป็นว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การันตีแบบนี้ก็ต้องถือว่าเคลียร์ ไม่ต้องไปคิดเรื่องตุกติกประเภทส่งสัญญาณให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คว่ำกฎหมายลูกเพื่อยื้อเวลาออกไปอีก เพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็ถือว่า “เสียสุนัข” แน่นอน และคนที่พังแบบจบไม่สวยก็ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั่นแหละ

ดังนั้น เมื่อชัดเจนกันที่เดือนพฤศจิกายน 2561 ก็ต้องเริ่มนับถอยหลับกันตั้งแต่ตอนนี้ ขณะเดียวกัน ได้ส่งสัญญาณเรื่องการ “ปลดล็อก” พรรคการเมืองนั้นก็ให้รอไปอีกนิดหนึ่ง อย่าเพิ่งอกแตกตายไปก่อนรอให้ผ่านช่วงพระราชพิธีสำคัญไปก่อน แต่ก็ยังไม่วายขู่สำทับตามมาว่าช่วงนี้ก็ให้ “อยู่ในความสงบ” ไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีผลต่อการพิจารณายกเลิกในโอกาสต่อไปด้วย

สรุปที่ฟังได้ความก็คือ จะประกาศเรื่องกระบวนการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนปีหน้า จากนั้นก็จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ก็ถือว่าชัดเจน มีเสียงขานรับและเกิดผลบวกในทางเศรษฐกิจหลายอย่างตามมา

แม้ว่าส่วนหนึ่งการประกาศความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งเป็นเพราะเป็นภาคบังคับต่อเนื่องมาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และมีบางหมวดบางมาตราที่มีเงื่อนเวลาบังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติให้ทันตามกำหนดเวลา แม้ว่าในทางปฏิบัติมันก็ยังสามารถยืดหยุ่นได้ในช่วงเริ่มแรก แต่ถึงอย่างไรมันก็ต้องเดินหน้าอยู่ดี

ขณะเดียวกัน เมื่อมีความชัดเจนออกมาแล้ว ทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งหากให้กล่าวถึงกันตรงๆ ก็คือ นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยเป็นหลักที่ต้องสงบปากลงไปชั่วคราวอย่างน้อยก็ต้องรอใหัผ่านพ้นช่วงพระราชพิธีสำคัญในเดือนตุลาคมไปก่อน ถือว่าลดเงื่อนไขไปได้เปลาะใหญ่

อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งมันก็อดที่จะต้องมองข้ามช็อตไปถึงผลหลังการเลือกตั้งในปลายปีหน้าพร้อมกันไปด้วย ซึ่งนาทีนี้ไม่ต้องบอกก็พอมองออกว่า “ตัวยืน” ก็ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ยังเป็น “เต็งจ๋า” สำหรับการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะไม่เคยประกาศความชัดเจนว่าจะลงเล่นการเมืองในระบบใหม่หรือไม่ก็ตาม หรือพร้อมที่เป็นนายกฯหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่เคยปฏิเสธก็แล้วกัน และก่อนหน้านี้ระหว่างที่ไปเยือนสหรัฐฯ ได้พูดกันคนไทยที่นั่นที่หลุดปากออกมาในทำนองว่า “ให้หาพรรคให้ได้ก่อน” อะไรประมาณนี้ ซึ่งก็สามารถนำมาแตกประเด็นได้อีกว่านี่คือองค์ประกอบหลักสำหรับรองรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในวันหน้าหรือไม่

แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศความชัดเจนมาแล้วว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่ไม่ปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นั่นก็เป็นไปได้ว่าหนทางที่กลับมาเป็นนายกฯก็น่าจะมาในแบบเงื่อนไข “นายกฯ คนนอก” ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดช่องให้เอาไว้ และแม้ว่าจะต้องพูดกันในรายละเอียดของเงื่อนไขดังกล่าวทั้งในเรื่องของประเภทที่น่าต้องยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ การใช้กลไกในรัฐสภาเพื่อเสนอชื่อเป็นนายกฯหลังจากกรณีที่พรรคการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเสนอใครเป็นนายกฯ ทุกอย่างเข้าทางหมด เนื่องจากมี 250 ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.รองรับเอาไว้แล้ว

ดังนั้น เมื่อรวมกับพรรคการเมืองทั้งที่คาดว่าเป็นพรรคทหารโดยตรง รวมไปถึงพรรคพันธมิตรที่รอร่วมรัฐบาลต่างก็ซอยเท้ารอกันเต็มไปหมด

แน่นอนว่า หากพิจารณาจากฐานเสียงและความน่าจะเป็นแบบเผินๆ มองดูแล้วพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวชินวัตร น่าจะยังได้เปรียบ แต่ปัญหาก็คือ ในเมื่อระดับหัวขบวนไล่ไปตั้งแต่ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหนีหายหัวไปแบบนี้และขาดคุณสมบัติทางการเมือง รวมไปถึงพวกแถวหนึ่งแถวสองกำลังถูกดำเนินคดีเสี่ยงคุกตามมาเป็นพรวนแล้วจะอยู่กันยังไง คิดว่า ทักษิณ จะยังลงทุนต่อไปหรือในเมื่อได้กำไรไม่คุ้มค่า แนวโน้มจึงออกมาในทางแตกกระสานซ่านเซ็น แยกย้ายกันไปซบพรรคการเมืองที่คาดว่าจะร่วมรัฐบาลตามประสาพวกนักเลือกตั้งที่หากินกับอำนาจรัฐ

ดังนั้น ถ้าให้คาดเดากันแบบเฉพาะหน้าก็ต้องบอกว่านาทีนี้มองไปทางไหนยังไม่เห็นว่าใครจะมาเป็นคู่แข่งหรือเทียบรัศมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมั่นใจเกินร้อยว่าเขาต้อง “รีเทิร์น” กลับมาอีกรอบ ส่วนจะมาแบบไหนก็ในแบบที่แจกแจงให้เห็นกันแล้วนั่นแหละ คือ มีพรรคการเมืองสนับสนุน มี ส.ส. และมี ส.ว.250 คน ตบเท้าโหวตให้รับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังเดือนพฤศจิกายน 2561!
กำลังโหลดความคิดเห็น