xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชงชื่อใหม่นั่ง กก.สรรหา กกต. เชื่อคุณสมบัติครบ ติง กม.ลูกเขียนสเปกเกิน รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กสม.เผยเห็นชอบส่งชื่อบุคคลใหม่ร่วมนั่ง กก.สรรหา กกต. เชื่อคุณสมบัติครบถ้วน ระบุไม่ติดเงื่อนไขพ้นกรอบ 20 วัน เหตุการเสนอชื่อรอบแรกถือเป็นองค์คณะแล้ว มอง กม.ลูกเขียนสเปกกก.สรรหาเกิน รธน. หวั่นถูกยื่นศาล รธน.วินิจฉัย อาจส่งผลกระบวนการสรรหาต้องเสียไป

วันนี้ (11 ต.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสม.เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบเสนอรายชื่อบุคคลไปทำหน้าที่ร่วมเป็นกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งให้เสนอชื่อบุคคลใหม่อีกครั้ง เนื่องจากบุคคลที่ทาง กสม.ส่งไปครั้งแรกนั้นขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่ง โดยบุคคลใหม่ที่จะเสนอไปที่ประชุม กสม.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าน่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 11 (4) ประกอบมาตรา 8 กำหนด คือ เคยรับราชการ ไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่สามารถที่จะเปิดเผยชื่อได้ ซึ่งก็จะเสนอรายชื่อดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ก่อนที่คณะกรรมการสรรหา กกต.ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานจะได้มีการนัดที่ 2 ในวันที่ 18 ต.ค.

ส่วนที่มีข้อท้วงติงว่าขณะนี้พ้นห้วงเวลา 20 วันตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 11 วรรคสาม ที่ กสม.จะเสนอรายชื่อกรรมการสรรหาคนใหม่ได้ นายวัสกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการสรรหานัดแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค. บุคคลซึ่ง กสม.แต่งตั้งไปได้เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาแล้วว่าทั้งหมดเป็นกรรมการสรรหา แต่เมื่อมาพิจารณาคุณสมบัติเห็นว่าบุคคลที่ กสม.แต่งตั้งไปนั้นขาดคุณสมบัติ จึงให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภามีหนังสือแจ้งมาให้แต่งตั้งบุคคลไปใหม่ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการสรรหาพิจารณาในครั้งแรกไปแล้วว่าทั้งหมดเป็นกรรมการสรรหา การพ้นระยะเวลา 20 วันจึงไม่เอาใช้กับการที่ กสม.จะเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนไปใหม่

อย่างไรก็ตาม นายวัส เห็นว่า การที่กรธ.นำคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาบัญญัติไว้เป็นคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการสรรหา กกต.ตามม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 11 (4) ประกอบมาตรา 8 นั้นเป็นการเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งไม่เพียงทำให้การสรรหาบุคคลเพื่อไปทำหน้าที่กรรมการสรรหาของแต่องค์กรอิสระค่อนข้างยาก แต่หากในอนาคตมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเสียหายจากการไม่รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลฯ มีคำวินิจฉัยออกมาว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจนอาจมีผลให้กระบวนการสรรหาเสียไปก็ต้องมาพิจารณาใครจะเป็นรับผิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น