xs
xsm
sm
md
lg

ของหวานกลายเป็นของร้อน กสทช.เบรก “เน็ตชายขอบ” 1.3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

 ถอยไปแบบไม่มีทรงเลย สำหรับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตชายขอบ) ซึ่งใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้สำนักงาน กสทช.ไปจัดทำร่างหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเสนอทางบอร์ด กสทช.ก่อนส่งให้กับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีหนังสือท้วงติงมาให้เรียบร้อยเสียก่อน

ทั้งที่ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนั้น มีวาระการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างโครงการเน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ที่ได้เปิดประมูล ไปเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา

จะไปว่า สตง.ทำหน้าที่ “ตรวจสอบเงินแผ่นดิน” และทักท้วงโครงการฯเป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง” ก็คงไม่ใช่

เพราะต้องย้อนไปว่า หนังสือ สตง.ที่มีถึง ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เพื่อให้พิจารณษทบทวนรายละเอียดของโครงการเน็ตชายขอบนั้น ลงวันที่ 24 ก.ค.60 และน่าจะถึงมือ กสทช.ก่อนวันที่ 1-2 ส.ค.ที่เป็นวันนัดประมูลโครงการนี้กัน

แต่ก็เป็น กสทช.ที่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม เดินหน้าเปิดประมูลโครงการเน็ตชายขอบที่ใช้งบจากกองทุน USO จนได้ผู้ชนะ 4 ราย ใน 8 สัญญา มูลค่ารวมราว 1.3 หมื่นล้านบาท เรียกว่า “แบ่งเค้ก”กันเสร็จสรรพ เตรียมชงให้“บอร์ด กสทช.”พิจารณาอนุมัติ ในการประชุมวันที่ 9 ส.ค.นั่นเอง

ดีที่มีการตีข่าวว่า สตง.เขาท้วงมานะ “ของหวาน” ก็กลายเป็น “ของร้อน” จนต้องชะลอโครงการ ไม่อนุมัติเซ็นสัญญากับผู้ประกอบการ เพื่อให้ “เลขาฯฐากร” ไปเคลียร์กับทาง สตง.ให้รู้เรื่องกันเสียก่อน

คนหน้าแหกที่สุดก็ไม่พ้น “เลขาฯฐากร” นี่แหละ ที่ออกหน้าเป็นเจ้าภาพโครงการ ที่ผ่านมาก็ดูจะกระหยิ่มยิ้มย่องกับความคืบหน้า โดยเฉพาะหลังการประมูล เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ให้สัมภาษณ์ผลสำเร็จของการประมูล แบบไม่ได้ออกอาการเลยว่า มีเรื่องทักท้วงจาก สตง.เข้ามา

พลันที่เรื่องแดงขึ้นมา “เลขาฯฐากร” ก็ออกมาให้สัมภาษณ์แบบตีหน้าเศร้า บ่นกระปอดกระแปด ท้อแท้ใจ ที่ถูก สตง.ท้วงติง จนโครงการเดินหน้าต่อไม่ได้ อาจต้องยกเลิกผลประมูล ทั้งที่เป็นโปรเจกต์ที่ดี อยากให้มอบให้เป็น “ของขวัญประชาชน” ว่าเข้าไปนู้น

แถมบอกด้วยว่า “ไม่นิ่งนอนใจ”ข้อท้วงติงของ สตง. กำลังร่างหนังสือชี้แจงอยู่ แต่ถ้า สตง.ไม่พอใจคำตอบ ยังมีข้อสงสัย กสทช. ก็พร้อมจะยกเลิกการประมูลทันที ฟังดูคล้ายอาการงอนตุ๊บป่อง ประชดไปอีก

ทั้งที่รายละเอียดข้อสังเกตของ สตง. เกี่ยวกับโครงการเน็ตชายขอบนั้น ไม่ได้มีวรรคตอนไหนเลยที่เสนอให้ล้มเลิกโครงการ มีเพื่อเน้นย้ำให้พิจารณาทบทวนการดำเนินการ โดยชี้ให้เห็นว่าแนวทางของ กสทช.อาจเข้าข่ายไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับนโยบายแห่งรัฐที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

รวมไปถึง “ทางเทคนิค” ที่รูปแบบการทำโครงการเน็ตชายขอบ ดูจะไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (โครงการเน็ตประชารัฐ) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต ในเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินโครงข่ายให้กับรัฐเพื่อบริหารจัดการต่อ และเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง 5 ปี ของโครงการเน็ตชายขอบ ที่หากเอกชนเห็นว่าไม่สามารถทำกำไรได้ ก็อาจจะไม่บริหารต่อ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

สุดท้ายก็จะถูกนำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเงื่อนไขต่อรองให้รัฐช่วยเหลือสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่เอกชนต่อไป

ตรงนี้เป็นสาระสำคัญที่ทาง สตง.ส่งมาเพื่อหวังเบรกไม่ให้ กสทช.เดินหน้าการประมูล ซึ่งจะเริ่มข้อผูกมัดกับทางเอกชน

ก็ต้องถามว่าทำไมเมื่อได้รับเรื่องจาก สตง.แล้ว “เลขาฯฐากร” จึงยังตัดสินใจเปิดประมูลตามกำหนดการเดิม จนได้ผู้ชนะการประมูล และอาจกลายเป็น “ข้อผูกมัด” ที่จะถูกผู้ประกอบการนำไปฟ้องร้องเป็นคดีความได้หากการเซ็นสัญญาล่าช้าออกไป

ไม่เพียงเท่านั้น “เลขาฯฐากร” ก็ยังพยายามต่อความยาว สาวความยืดกับ คำเตือนของ สตง.ให้กลายเป็น “ดราม่า” ที่คนไทยในชนบทอาจจะไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ทที่มีคุณภาพ เมื่อโครงการนี้ต้องชะงักหรือล้มเลิกไป

“ผมเหนื่อยมากและท้อเต็มทนกับสิ่งที่ สตง.ท้วงติงมา ทั้งๆที่ กสทช.ทำตามกฎหมายของ กสทช. ซึ่งผมก็ต้องทำหนังสือชี้แจงตามขั้นตอน และขอยืนยันว่า ทำอย่างถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องผมก็ต้องรับผิดชอบ และยกเลิกโครงการ เมื่อยกเลิกโครงการ ประเทศชาติเสียโอกาส ประชาชนเสียประโยชน์ ประเทศล้าหลัง ใครจะร่วมรับผิดชอบ” คือคำตัดพ้อที่ออกมาจากปาก “เลขาฯฐากร”

จนน่าแปลกใจว่า “ข้อท้วงติงทางเทคนิค” ที่น่าจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของโครงการ จะสั่นสะเทือนถึงกับทำให้เน็ตชายขอบล้มครืนไปซะอย่างนั้น

ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลใน “แวดวงเทคโนโลยีการสื่อสาร” ที่ได้ตั้งข้อสังเกตโครงการ USO ของ กสทช.ว่า นอกเหนือจากความซ้ำซ้อนกับโครงการเน็ตประชารัฐแล้ว ในส่วนของข้อตกลง (ทีโออาร์) โครงการเน็ตชายขอบ ก็ยังมีความไม่ชอบมาพากลอีกหลายประการ อาทิ ตั้งแต่การตั้งวงเงินงบประมาณไว้ถึง 13,000 ล้านบาทเศษ สำหรับ 3,920 หมู่บ้าน ตกแล้วงบลงทุนหมู่บ้านละ 3.3 ล้านบาทนั้น ก็ดูจะแตกต่างจากวงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ของโครงการเน็ตประชารัฐในความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ

อีกทั้งการกำหนดพื้นที่เป้าหมายหมู่บ้านชายขอบ 3,920 แห่งก่อน ที่มีการเลือกสำรวจข้อมูลจากจำนวนเสาสัญญาณเดิมของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เท่านั้น แต่ไม่นำข้อมูลเสาสัญญาณของโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ให้บริการรายอื่นมาประกอบ ส่งผลให้มีจำนวนหมู่บ้านชายขอบมากถึง 3,920 หมู่บ้าน ที่น่าจะมากกว่าความเป็นจริง จนทำให้ “ผู้ให้บริการบางราย” ที่ชนะประมูลไม่ต้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณใหม่ โดยสามารถใช้เสาสัญญาณที่มีอยู่เดิมได้เลยด้วยซ้ำ

รวมไปถึงผลการประมูลเบื้องต้นของ 8 สัญญา ที่สรุปออกมาว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) ได้ 3 สัญญา กลุ่มบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทรู) ได้ 3 สัญญา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (แคท) ได้ 1 สัญญา และบริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ไอเน็ต) ได้ 1 สัญญา นั้นก็มีความน่าสนใจไม่น้อยที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ที่เข้าร่วมประมูลนั้นไม่ได้แม้แต่สัญญาเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการวิพากวิจารณ์ทีโออาร์โครงการเน็ตชายขอบด้วยว่า มีการเขียนไว้ในลักษณะล็อกสเปกอุปกรณ์บางรายการ ที่ต้องไปจัดหาจากบริษัทเอกชนรายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว อย่างเห็นได้ชัดด้วย

เป็นข้อสังเกตที่มีเค้าลางของการทุจริต หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะมีผลรุนแรงกว่า “ข้อสังเกตทางเทคนิค” ของทาง สตง. จนอาจเป็นเหตุผลที่แท้จริงทำให้โครงการถึงกับชะงักไป เพราะหากดึงดันต่อไป จดหมายฉบับหน้าจาก สตง. คงไม่ทักเรื่องเทคนิค แต่อาจจะเป็นตรวจสอบความผิดปกติเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินมากกว่า

ทำให้นึกย้อนไปถึงเมื่อครั้งโครงการแจกคูปองซื้องกล่องทีวีดิจิทัล เมื่อปี 2557 สตง.ก็เตือนแล้วเตือนอีกว่า ราคาที่ กสทช. ตั้งไว้ 1 พันบาทสูงเกินความจำเป็น ถ้าไม่ใช่จังหวะที่คสช.เข้ามา ก็ “หวานคอแร้ง” จาก 1 พันบาทโดนลดฮวบเหลือแค่ 690 บาท ส่วนต่างที่หายไปทำเอา“บิ๊กซอยสายลม” ตาเขียวปั๊ดกันมาแล้ว

พอมีเรื่องเน็ตชายขอบ ที่คล้ายๆกันขึ้นมา ทำให้ตอนนี้ภายในบรรดา “บิ๊ก กสทช.” เสียงแตกกันยับ บางส่วนก็ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ แต่อีกฝั่งก็ขอบาย ไม่เอาด้วย
 
จากของหวานกลายเป็นของร้อน..อ้อยกำลังจะเข้าปากช้างแล้วแท้ๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น