xs
xsm
sm
md
lg

เคาะร่างสัญญาประชาคมชงเหล่าทัพปรับ กห.ชี้ไม่แก้ขัดแย้งหมด แต่เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม (แฟ้มภาพ)
กก.ปรองดองฯ เคาะร่างสัญญาประชาคม ปรับแก้ก่อนส่ง 4 กองทัพภาคเปิดเวทีเผยแพร่ แย้มร่างมีไม่เกิน10 ข้อ พร้อมชง ป.ย.ป. โฆษก กห.ดักเป็นเพียงกระดาษ-ไม่ตอบโจทย์แก้ขัดแย้งทั้งหมด แต่เป็นจิตวิญญาณที่ ปชช.พึงปฏิบัติ ขึงขังมีโอกาสที่สำเร็จได้มากกว่าทุกครั้ง “บิ๊กเจี๊ยบ” เดินหน้าจัดเวทีเผยแพร่ร่างฯ 7 ก.ค.นี้

วันนี้ (19 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมี พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

โดยมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบูรณาการข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมด้วยที่ปรึกษาและกรรมการ เช่น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง นายสุจิต บุญบงการ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เลขาธิการสภาตระกูลจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 1 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าร่วมประชุมอย่างพร้องเพรียง

จากนั้นเวลา 11.30 น. พล.อ.ประวิตร แถลงภายหลังการประชุมว่า ความคืบหน้าจัดทำร่างสัญญาประชาคมนั้น ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นตัวร่างแล้ว ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อสังเกตุเพิ่มเติมในรายละเอียดบางประการเล็กน้อย เช่นเรื่องการปรองดองที่ต้องคำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะจะไปรวบรวมรายละเอียด เพื่อให้มีความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมทั้งหมดมีความคิดเห็นตรงกันว่าเรื่องความสามัคคีปรองดองจะนำไปสู่การเกิดควาสันติสุข ขณะที่การตั้งเวทีในพื้นที่แต่ละกองทัพภาค เพื่อนำเสนอร่างสัญญาประชาคมนั้นก็พร้อมดำเนินการได้ทันที

เมื่อถามว่า อาจจะคนกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับความปรองดอง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มี ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แล้วจะบังคับใช้ได้อย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การดำเนินการสร้างความปรองดองทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน สิ่งใดที่เกิดความขัดแย้ง เราก็ไม่เอา

ด้าน พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ทุกอย่างดำเนินการตามกรอบระยะเวลากำหนด ซึ่งรายละเอียดต้องให้ พล.ต.คงชีพชี้แจง ทั้งนี้ร่างสัญญาประชาคมที่ประชุมส่วนใหญ่ได้เสนอแนะให้ความคิดเห็นปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม และภายหลังการปรับแก้แล้วจะส่งให้เลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ดู ถ้าไม่มีปัญหาทุกอย่างก็เรียบร้อย จากนั้นก็เดินหน้าจัดเวทีในแต่ละกองทัพภาค เพื่อเผยแพร่น่างสัญญาประชาคมต่อไป ตนคาดว่าจะเริ่มในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ระบุว่าไทยยังไม่พร้อมเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งจะออกมาเคลื่อนไหวนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นของนายสุเทพ ส่วนตนมีหน้าที่รวบรวม และสรุปความคิดเห็นการสร้างความปรองดอง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบร่างสัญญาประชาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างเอกสารความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯที่มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน และร่างสัญญาประชาคมที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอแนะฯ ที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นประธาน หลังจากที่ประชุมได้ให้การแนะนำเกี่ยวความคิดเห็นร่วมแล้วจะเผยแพร่สู่สาธารณะต้นเดือน ก.ค.นี้ โดยจัดทำเวทีสาธารณะ 4 กองทัพภาคในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และจะกลับมาปรับแก้ไข เพื่อจัดทำสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์ ก่อนที่เสนอต่อ ป.ย.ป.ชุดใหญ่ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

“กว่าสองปีรัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขวิกฤติชาติ แก้ปัญหาฐานรากที่ถูกละเลย ควบคู่ไปกับการวางรากฐานและอนาคตของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ขณะเดียวกันต้องบริหารขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า มุ่งเน้นการผดุงหลักนิติธรรมอย่างเป็นธรรมอย่างจริงจัง ตามกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกฎหมายพิเศษตามความจำเป็น รวมถึงการขอความร่วมมือจากสังคม โดยยังให้ความเป็นธรรมหลักกับปัญหาพื้นฐานทางสังคมที่มีรากเหง้าความขัดแย้งมานาน เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายอำนาจและรายได้ที่ไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวอีกว่า เอกสารความเห็นร่วมจัดทำขึ้นด้วยการวิเคราะห์สังเคราะห์ตามหลักวิชาการ โดยมีข้อมูลที่ได้รับมา2ส่วน ส่วนแรกมาจากการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้แสดงความคิดเห็นผ่านการรับฟังในการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านมา และได้ผ่านการสอบทานแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นการนำผลการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านมา โดยจัดทำเป็นประเด็นความเห็นร่วม ความเห็นอื่นๆ ทั้ง 10 ด้าน จำแนกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มประเด็นที่ คสช.และรัฐบาล ได้ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ 2. กลุ่มประเด็นที่สามารถดำเนินการได้และเกิดผลทันที 3. กลุ่มประเด็นที่ดำเนินการได้แต่ผลที่เกิดขึ้นต้องใช้เวลา 4. ประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการและการสร้างความรับรู้เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง 5. ประเด็นที่ต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ขยายผลไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลจากเอกสารความเห็นร่วมฯ จะถูกเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบกปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมทั้งเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศไปใช้ประโยชน์ควบคู่กันไป โดยพิจารณาการใช้ประโยชน์ตามความเร่งด่วนของเอกสารที่ได้รับมาและข้อมูลที่ได้รับจากประชาชน ส่วนกลุ่มประเด็นที่ 4 ที่เร่งดำเนินการและสร้างการรับรู้และความเข้าใจเพื่อไม่ให้ขยายผลไปสู่ความขัดแย้ง ข้อมูลเหล่านี้และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งที่ผ่านมาจะถูกนำไปจัดทำเป็นร่างสัญญาประชาคม โดยร่างสัญญาประชาคมที่จัดทำขึ้นเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน เป็นการยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง เป็นการกำหนดความตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายในการอยู่ร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่จะขยายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต

“คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีความมั่นใจว่าโอกาสสร้างความสำเร็จของการสร้างความสามัคคีสร้างความปรองดองครั้งนี้มีมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลมีเจตจำนงที่ชัดเจน และ ทยอยแก้ไขปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาว่าสังคมเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นไว้วางใจกันมากขึ้น ประกอบกับ อารมณ์ทางสังคมสงบลง การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนในการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทางป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งกลับมาสู่ในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแนวทางสร้างความสามัคคีปรองดองที่รัฐบาลทำมาสามารถตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”

เขาบอกว่า กระบวนการรับฟังความเห็นและตรวจทานความคิดเห็นที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ข้อมูลที่ได้รับร่วมกัน การมีจิตสำนึกในการยอมรับกติกา และเคารพกฎหมาย การสร้างความเท่าเทียมกันทุกด้าน ทั้งด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเข้าถึงการบริการภาครัฐ การร่วมสร้างบรรยากาศความสมานฉันท์ ความเป็นพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การสร้างความโปร่งใสในทุกกระบวนการ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งจะทำให้ประเทศชาติไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์อย่างมั่งคั่ง ยั่งยืน

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวอีกว่า ร่างสัญญาประชาคมเป็นเพียงกระดาษ เล่มบางบางมีไม่กี่หน้า ไม่เกิน 10 ข้อ และเป็นเจตจํานง เป็นจิตวิญญาณของของประชาชนทุกคนที่จะกำหนดกรอบการอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างสงบสุข ส่วนจะมีการลงนามร่วมกันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย หากหลังจากนี้แล้วมีการเลือกตั้ง และ ไม่มีการยอมรับผลการเลือกตั้งจนก่อให้เกิดการชุมนุมการชุมนุมก็ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่กำหนดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ บิดเบือนสู่สาธารณะ ส่วนใหญ่มีการออกกฎหมายมารองรับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้น ร่างสัญญาประชาชนไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องการไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตที่ไม่ให้ใช้ความรุนแรงได้ทั้งหมด แต่เป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้นการปฏิบัติตามร่างสัญญาประชาคมคือสิ่งที่พึงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น