xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เชื่อใส่บรรษัทฯ ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแค่ตัดรำคาญ แนะผุด กม.อีกฉบับ จี้รัฐปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าประชาธิปัตย์ ชี้นายกฯ สั่งใส่บรรษัทพลังงานในร่าง กม.ปิโตรเลียม เหมือนแค่ตัดรำคาญ แนะถ้าใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตต้องมีองค์กรเพิ่มมาจัดการ เขียนกรอบเวลา-หลักการให้ชัดอำนาจมีอย่างไร ติง ปตท.พาสื่อไปนอกหมิ่นเหม่ต่อจรรยาบรรณชัด ชี้พวกต้าน ม.10/1 สะท้อนทุนผูกขาดแสดงอำนาจ จี้รัฐบาลจริงจังปฏิรูปพลังงาน ผุดกฎหมายอีกฉบับเป็นทางออกให้ทุกฝ่ายยอมรับ

วันนี้ (29 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพิ่มประเด็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเอาไว้ในบทเฉพาะกาลที่ 10/1 ว่า สาเหตุที่มีการทำกฎหมายพลังงานใหม่ทั้งหมดเพราะกำลังเปิดทางเลือกให้ประเทศว่าแทนที่จะมีระบบสัมปทานอย่างเดียว แม้จะมีข้อดีแต่ก็มีจุดอ่อนอยู่มากจึงเปิดทางเลือกให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต การจ้างสำรวจการผลิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำงานด้านพลังงานทั้งหมด จึงไม่แปลกใจว่าทำไมมีเสียงเรียกร้องให้มีการตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมา เพียงแต่สิ่งที่ปรากฏในร่างกฎหมายนั้นหากฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เหมือนกับเขียนไว้เพื่อตัดรำคาญ มีการเรียกร้องก็ใส่ไว้ แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าองค์นี้จะเกิดเมื่อไหร่ หน้าตาเป็นอย่างไร อำนาจหน้าที่เป็นอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาในขณะนี้คือเวลาคืนสัมปทานต้องมีองค์กรมาทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้คืนมา ในกรณีที่ต้องแบ่งปันผลผลิตก็จำเป็นต้องมีอีกองค์กรหนึ่งขึ้นมา ในขณะที่รัฐบาลบอกว่า ปตท.สามารถทำทุกอย่างได้ก็มีปัญหาในเรื่องการผูกขาด เช่น ท่อก๊าซที่ต้องแยกออกมาให้มีการดูแลต่างหาก เพราะ ปตท.ไม่ได้ถือหุ้นโดยรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ทำงานเหมือนธุรกิจ แม้แต่การเอาสื่อมวลชนไปดูงานต่างประเทศเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กร ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นนโยบายสาธารณะซึ่งหมิ่นเหม่มากต่อเรื่องจรรยาบรรณทั้งในส่วนของรัฐวิสาหกิจและสื่อมวลชนเอง สิ่งเหล่านี้ต้องแก้

“ในความเห็นผมควรมีการเพิ่มเนื้อหาสาระให้ชัดว่าต้องมีองค์กรขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่าจะเกิดขึ้นภายในเมื่อไหร่ให้ทันต่อการเปิดทางเลือกให้ประเทศ โดยอาจไม่ต้องเขียนรายละเอียดทั้งหมดเพราะอาจทำให้กฎหมายล่าช้า แต่เขียนให้มีกรอบเวลา หลักการให้ชัดว่าอำนาจขอบเขตขององค์กรที่จะทำงานในแต่ละด้านควรกำหนดอย่างไร เช่น คนที่ดูแลเรื่องผูกขาดคือท่อก๊าซ ไม่ควรทำงานแบบธุรกิจ แต่คนจะทำงานในแบบสำรวจผลิตก็อาจจะต้องมีลักษณะที่มีทักษะในทางธุรกิจบ้าง วันนี้เราสุดโต่งทางใดทางหนึ่งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนลอยๆ แบบนี้หรือคิดว่าจะสร้างบรรษัทยักษ์ใหญ่ขึ้นมาแล้วมีปัญหาการเมืองแทรกแซงผูกขาด แต่เราจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้ เพราะการต่อต้านบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาตอนนี้เป็นการสะท้อนถึงการแสดงอำนาจของกลุ่มทุนที่มีการผูกขาดอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน เราไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบนี้ ผมอยากให้รัฐบาลจริงจังเรื่องการปฏิรูประบบพลังงาน โดยใช้เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นปฏิรูปโครงสร้างระบบพลังงาน ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงเดือนในการปรับปรุงเฉพาะหมวดเกี่ยวกับองค์กรการกำกับดูแลด้านพลังงานให้ดี หรืออาจจะมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเข้ามาก็จะเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายควรจะยอมรับ แต่ถ้าเขียนแบบนี้ผมมองไม่เห็นว่าจะเกิดการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานได้อย่างไร ในขณะที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่เหมือนเดิม” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับของ สนช.วันที่ 30 มีนาคมนี้ ทางกรรมาธิการฯ มีสิทธิที่จะรับกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมได้อยู่แล้วเป็นกระบวนการของสภา เพราะหลักการของกฎหมายฉบับนี้คือต้องการแก้กฎหมายเดิมเพื่อเปิดทางไปสู่ระบบอื่นที่ไม่ใช่สัมปทาน การที่ต้องมีองค์กรมารองรับทางเลือกใหม่นั้นตนไม่เห็นว่าเป็นการขัดหลักการ แต่ความเหมาะสมว่าจะอยู่ในกฎหมายฉบับนี้หรือมีอีกฉบับหนึ่งก็สามารถพิจารณาได้ แต่ควรมีความชัดเจนไม่ใช่เขียนไปแล้วสุ่มเสี่ยงทั้งสองทางคือ ทางหนึ่งไม่เกิดเลย แล้วทางเลือกเกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลผลิตต่างๆ ก็จะไม่เกิดเลย หรือเขียนลอยเกินไปอาจนำไปสู่การสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีปัญหาในประเทศอื่น ซึ่งกลุ่มทุนเอามาอ้างอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ดี จึงเห็นว่ามีทางสายกลางตามที่ตนได้เสนอไปแล้ว

ส่วนที่มีการระบุว่าในหลักการไม่มีคำว่า บรรษัทพลังงานแห่งชาติอยู่จะกำหนดให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติไม่ได้ เพราะขัดหลักการนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าตนออกกฎหมายมีหลักการว่าต้องการจะป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ต้องเขียนหรือไม่ว่าต้องมีสำนักงานหรือมีองค์กรที่ดูแลด้านการฟอกเงินทั้งหมดไว้ในหลักการ ดังนั้นการที่เขาไปบัญญัติให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จึงไม่ได้ฝืนหลักการหรือไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่ถ้าเห็นว่ากฎหมายจัดตั้งองค์กรไม่ควรจะอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ก็เขียนให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยออกกฎหมายภายในระยะเวลาเท่าไหร่ แล้วเขียนกรอบกว้างๆ ไว้ ซึ่งไม่คิดว่าขัดหลักการ
กำลังโหลดความคิดเห็น