xs
xsm
sm
md
lg

“พีระศักดิ์” เผย “บิ๊กป้อม” อยากจัดเลือกตั้งท้องถิ่น “นิพิฏฐ์” เตือนอย่าใช้ ม.44 เรื่องเล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช.พร้อมนำความเห็นที่รับฟังมาสังเคราะห์เป็นสัญญาประชาคม ยันไม่มีบังคับให้เซ็น เผย “ประวิตร” อยากให้จัดเลือกตั้งท้องถิ่น ตัดปัญหานักการเมืองครอบงำ รองหัวหน้า ปชป.ไม่มีปัญหาลงสัตยาบัน แต่หวั่นกลับลำกัน เตือนรัฐอย่าใช้ ม.44 เรื่องเล็กน้อย

วันนี้ (27 มี.ค.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ในฐานะคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการ ป.ย.ป.กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็น พอรับฟังความเห็นเสร็จแล้วจะนำความคิดและข้อเสนอต่างๆ มาสังเคราะห์โดยอาจทำออกมาในรูปแบบสัญญาประชาคมโดยไม่ถึงขนาดไปบังคับให้ใครมาเซ็นชื่ออะไร อาจเป็นการลงความเห็นร่วมกันว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะช่วยไม่ให้มีการซื้อสิทธิขายเสียงได้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นต้น ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตามต่างจังหวัด เเยกย่อยทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ หรือภาคอีสาน พูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน พบว่าความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่เเล้วตนได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกฯ และประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองของ ป.ย.ป.บอกว่าอยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน เพื่อให้ต่อไปนักการเมืองจะไม่สามารถไปครอบงำการเลือกตั้งท้องถิ่นได้อีกเเล้ว เเต่ไม่รู้ระยะเวลาว่า จะเริ่มเมื่อใด และอาจเปลี่ยนเเปลงได้

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการปรองดองของ ป.ย.ป.เตรียมจะลงสัตยาบันเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง หลังลงพื้นที่รับฟังความเห็นต่างจังหวัดเสร็จเเล้วในเดือน มิ.ย.ว่า เคยพูดเเล้วว่าการลงสัตยาบันทำได้ แต่ไม่จำเป็นนัก เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าผู้ที่ร่วมลงสัตยาบันจะไม่ละเมิดคำสัญญาในอนาคต แต่ถ้าผู้เข้าให้ความเห็นเสียงส่วนใหญ่ หรือคณะกรรมการ ป.ย.ป.ต้องการอยากลงสัตยาบันก็ไม่ขัดข้องแต่ตนยังสงสัยไม่รู้ว่ารูปแบบการลงสัตยาบันเป็นอย่างไร สังเคราะห์จากการรับฟังความเห็นมาเเล้วจะได้ชุดความคิดเเบบไหน ตอนที่ตนเข้าไปร่วมเวทีที่กลาโหมไม่เห็นมีการพูดถึงการลงสัตยาบัน ถ้าถามว่า เร็วไปไหมหากจะลงสัตยาบันในเดือน มิ.ย. ขึ้นอยู่กับว่า รับฟังความเห็นครบถ้วนตามเป้าหมายที่ ป.ย.ป.วางไว้หรือไม่ ถ้าฟังครบทุกมุมเเล้วก็ไม่ถือว่าเร็วไป

นายนิพิฏฐ์ยังกล่าวเตือนรัฐบาลถึงการใช้มาตรา 44 ว่า ขณะนี้ควรใช้มาตรา 44 เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มากกว่าที่จะใช้เพื่อบังคับใช้กฎหมายในเรื่องเล็กน้อยเพราะการใช้มาตรา 44 เป็นการลัดขั้นตอนกฎหมายในระบบปกติ ถ้าลัดขั้นตอนบ่อยคงไม่ดี ต่อไปรัฐบาลควรลดลง บางเรื่องอาทิการโยกย้ายข้าราชการที่มีกฎหมายปกติบังคับใช้อยู่เเล้วก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าเป็นเรื่องปฎิรูปตำรวจ หรือการโยกย้ายตำรวจที่มีเครือข่ายโยงใยใช้กฎหมายปกติทำยาก สนับสนุนให้ใช้มาตรา 44 ดำเนินการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น