xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จี้ให้ความเป็นธรรมคดีทหารวิสามัญหนุ่มลาหู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมและเครือข่ายองค์กรเด็ก 58 องค์กร แถลงขอความเป็นธรรมคดีวิสามัญหนุ่มนักกิจกรรมลาหู่ จี้ นายกฯ, กรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง เผย เจ้าตัวเพิ่งกลับไปขอใบอนุญาตมาร่วมงานก่อนเสียชีวิต ห่วงไม่มีใครกล้าลุกสู้เพื่อชาติพันธุ์อีก ทำคนในพื้นที่รู้สึกไม่ปลอดภัย ด้าน กสม. เสียใจต่อผู้สูญเสีย ยันตั้ง กก. สอบแล้ว

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ รร.เซ็นทรา ศูนย์ราชการ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมและเครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชน 58 องค์กร นำโดย น.ส.เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ ออกแถลงการณ์ กรณีที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส แกนนำเยาวชนชาวลาหู่ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความอาลัยและสะเทือนใจแก่เพื่อนนักกิจกรรมทางสังคมอย่างมาก ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมต่อการวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ เพราะถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม ขอเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มีมาตรการและกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิต และเพื่อนผู้เสียชีวิตที่ถูกจับกุมคุมขังในขณะนี้อย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็กและเยาวชน จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบตามข้อเรียกร้องและยินดีสนับสนุนการปฏิบัติการที่ดีของบุคคลและหน่วยงานทุกภาคส่วน

น.ส.เนตรดาว กล่าวต่อว่า ความจริง นายชัยภูมิ ต้องมาร่วมงานมหกรรมการขับเคลื่อนพลังองค์กรทำงานเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างพลเมืองเข้มแข็งที่ทางเครือข่ายจัดขึ้นในวันนี้ แต่ก็มาเสียชีวิตเสียก่อน ซึ่งวันที่เสียชีวิต นายชัยภูมิ เพิ่งกลับจากไปขอใบอนุญาตขอออกนอกพื้นที่เพื่อเดินทางมางานนี้ ก็เหมือนเป็นความผิดของเราที่มีส่วนให้น้องเสียชีวิต ทางเครือข่ายจึงอยากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพราะ นายชัยภูมิ เป็นเยาวชนที่ไม่มีสัญชาติ กว่าที่เขาจะกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องชาติพันธุ์ของเขา เขาต้องยอมที่จะถูกแรงกดดันจากภายนอก จึงถือว่าเขาเป็นคนที่เสียสละมากคนหนึ่ง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็ยากที่จะทำให้เยาวชนคนอื่นจะลุกขึ้นมาต่อสู้

“ยอมรับว่า ทางเครือข่ายมีความกังวลใจอย่างยิ่ง เกรงว่า คดีของนายชัยภูมิ จะไม่ได้รับความเป็นธรรม เท่ากับคนที่มีสัญชาติ จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสืบข้อเท็จจริง อย่าทำให้เรื่องนี้หายไป” น.ส.เนตรดาว กล่าว

น.ส.เนตรดาว กล่าวอีกว่า ในการตรวจสอบของรัฐก็อยากให้มีหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยกันดูข้อมูล ซึ่งกรณีนี้ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ 1. ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ต้องไม่สืบจากข้อมูลเพียงด้านเดียว 2. การวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ต้องเอาหลักฐานมาแสดง มีการถอดสลักระเบิดหรือไม่ และ นายชัยภูมิ ถูกยิงจากด้านหลังจะปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนใจ และความหวาดกลัวให้กับชาวลาหู่เป็นอย่างมาก โดยคนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัย เราหวังว่าจะมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศในการร่วมกันทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพื่อให้เป็นตัวอย่างให้เยาวชนที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ว่าจะไม่ถูกกระทำในลักษณะเช่นนี้อีก

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมกรณีนี้ ว่า กสม. ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย อีกทั้งมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และโดยที่ที่ประชุม กสม. เมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) มีมติหยิบยกกรณีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจะเร่งดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว ซึ่งจะรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจ จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต รวมถึงกระบวนการชันสูตรพลิกศพและการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ว่า มีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ หรือล่าช้า หรือไม่เป็นธรรม รวมทั้งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดียาเสพติดนั้น นายชาติชาย กล่าวว่า พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดในรถคันดังกล่าว เพื่อส่งให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อไป ส่วนกรณีอ้างว่า นายชัยภูมิ เสียชีวิต เนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานและผลการชันสูตรพลิกศพ เพื่อเสนอให้พนักงานอัยการขอให้ศาลไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถที่จะเสนอพยานหลักฐานเพื่อโต้แย้งต่อศาลได้ และศาลจะทำหน้าที่วินิจฉัยและมีคำพิพากษา แต่ทั้งนี้ พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ว่า หากประเด็นที่กำลังตรวจสอบอยู่ มีการพิจารณาคดีในศาล หรือศาลมีคำพิพากษาแล้ว กสม. ไม่อาจตรวจสอบในประเด็นนั้นได้ ผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ ก็จะได้นำเสนอต่อ กสม. เพื่อจัดทำเป็นรายงาน และหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะมีข้อเสนอแนะให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไข และคู่กรณีอาจนำไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในการไต่สวนการตาย หรือการดำเนินคดียาเสพติดในชั้นศาลได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อมีความคืบหน้าก็จะมีการรายงานให้สาธารณชนทราบต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น