xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แนะใช้อำนาจรัฐมนตรีขยายเวลาออกหมายเรียกเก็บภาษี “หุ้นชินฯ” ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผย อาศัยอำนาจรัฐมนตรีสามารถขยายเวลาออกหมายเรียกเก็บภาษี “หุ้นชินฯ” ได้ ซึ่งมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสองบัญญัติว่า “กำหนดเวลาต่างๆ ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรนี้ เมื่อรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะขยาย หรือเลื่อนกำหนดเวลานั้นออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้”

วันนี้ (9 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala” ถึงกรณีเก็บภาษีหุ้นชินฯ 1.6 หมื่นล้านบาท มีแนวโน้มไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกรมสรรพากรไม่ได้ออกหมายเรียกภายใน 5 ปี โดยระบุว่า ผมโพสต์ว่า กระทรวงการคลังยังสามารถขยายเวลาการออกหมายเรียกกรณีขายหุ้นชินคอร์ปได้ โดยอาศัยอำนาจรัฐมนตรี เนื่องจาก มาตรา 3 อัฏฐ วรรคสองบัญญัติว่า “กำหนดเวลาต่างๆ ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรนี้เมื่อรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะขยาย หรือเลื่อนกำหนดเวลานั้นออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้”

และถึงแม้วรรคหนึ่งกล่าวถึงการขยายเวลาเฉพาะกรณีที่มีปัญหาอุปสรรคในการชำระภาษี โดยเน้นจากแง่มุมของผู้เสียภาษีก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าวรรคสองจะต้องถูกจำกัดกรอบตามนัยวรรคหนึ่ง
เพราะมาตรา 3 อัฏฐ นั้น อยู่ในหมวดทั่วไป ไม่ใช่หมวดที่กล่าวเฉพาะถึงแต่สิทธิของผู้เสียภาษี
และคำบรรยายหัวข้อมาตรา 3 อัฏฐ ก็ใช้คำว่า
“มาตรา 3 อัฏฐ การขยายกำหนดเวลา การยื่นรายการ การอุทธรณ์ การเสียภาษีอากร” เนื่องจากมิได้เขียนคำว่า การขยายกำหนดเวลา ติดกับคำว่า การยื่นรายการ

ดังนั้น จึงเขียนทั้งสี่เรื่องแยกเป็นอิสระจากกัน และเป็นการเขียนเกี่ยวกับแต่ละเรื่อง มิใช่เป็นการขยายเวลาเฉพาะในสามเรื่องที่กล่าว ผมจึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนายประภาศ ซึ่งปรากฏในข่าวว่า

“มาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง การขยายเวลาการออกหมายเรียกจะต้องเป็นการให้คุณแก่ผู้เสียภาษี ไม่สามารถให้โทษกับผู้เสียภาษีได้”

ยังมีประเด็นที่ถกเถียงอีก 3 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง สรรพากรต้องเรียกเก็บจากผู้ใด ปรากฏว่า สตง. แนะนำให้พิจารณามาตรา 61 ซึ่งระบุว่า

“บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใดๆ แสดงว่า

(1) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ

(2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น

เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อใน หนังสือสำคัญนั้นก็ได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นต้องโอนเงินได้พึงประเมินให้แก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นมีสิทธิหักเงินภาษีจากจำนวนเงินซึ่งต้องโอนให้แก่บุคคลอื่นตามส่วน”

ดังนั้น ผู้ที่จะต้องเสียภาษี ก็คือ ผู้ที่มีชื่อในหนังสือสำคัญนั่นเอง ประเด็นที่สอง เหตุใดจึงต้องประเมินภาษี ในเมื่อการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี

คำตอบคือไม่ใช่การประเมินภาษีสำหรับช่วงการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่เป็นสำหรับช่วงการขายให้แก่กันก่อนหน้า ซึ่งเกิดขึ้นนอกตลาดหลักทรัพย์

ประเด็นที่สาม เนื่องจากศาลฎีกาฯได้ยึดทรัพย์คุณทักษิณไปแล้ว ทำไมจึงต้องเสียภาษีอีก

คำตอบคือ การยึดทรัพย์เกิดจากความผิด ป.ป.ช. แต่ไม่เกี่ยวกับการเสียภาษี ดังปรากฏในคำอธิบายในบทความข้างล่างในกรุงเทพธุรกิจ ที่ชัดเจนมาก

“ยกตัวอย่าง คดียาเสพติด เมื่อผู้ค้ายาเสพติดมีรายได้จากการขายยาเสพติด ต่อมาโดนยึดทรัพย์แต่ทรัพย์ที่ได้มาก็ยังถือเป็นรายได้ ตามประมวลรัษฎากรจึงต้องเสียภาษีอย่างถูกต้อง”


กำลังโหลดความคิดเห็น