xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปท.ชง 10 แนวทางแก้ปมขัดแย้ง จ่อเสนอวิปฯ ดู 2 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เตรียมถกผลศึกษาสร้างความปรองดอง ยันทำครอบคลุม เผยอนุ กมธ.ชง 10 แนวทางแก้ความขัดแย้ง ให้ทุกภาคส่วนร่วม ยึดกฎหมายพิสูจน์ข้อเท็จจริง ใครผิดต้องรับโทษก่อนอภัย จ่อชงวิป สปท.พิจารณาพฤหัสฯ นี้ เชื่อมีประโยชน์ต่อ ป.ย.ป.

วันนี้ (28 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวก่อนจะเข้าประชุม กมธ.ฯสปท. เพื่อพิจารณารายงานของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองว่ารายงานดังกล่าวนั้นมีความครอบคลุมถึงปัญหาความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาอย่างครอบคลุม สามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันในแต่ละฝ่าย และยังเสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกในอนาคตได้ ซึ่งจากการประชุมในวันนี้ทาง กมธ.ฯสปท.ก็จะไปพิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียดของรายงานให้ครบถ้วนต่อไป

นายเสรี กล่าวต่อว่า ในการประชุมในวันนี้จะมีการหารือเพื่อตกลงกันว่ารายงานฉบับดังกล่าวนี้จะสามารถนำเข้าคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญ (วิป) สปท. ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ได้หรือไม่ สำหรับตนนั้นมองว่ารายงานฉบับดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)ที่เขาจะได้พิจารณากันต่อไปว่าจะเอารายงานนี้ไปทำอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า มีแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของแกนนำกลุ่มการเมืองต่างๆหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ในรายงานนั้นมีแนวทางแก้ปัญหากำหนดไว้จำนวน 10 ข้อ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น คงจะต้องมีการหารือนที่ประชุมกันก่อน

เมื่อถามว่า แนวทางใดที่จะทำให้เกิดความปรองดอง นายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องผลักดันหายๆส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองไปพร้อมๆกัน เพราะตามรายงานนี้นั้นจะให้ความสำคัญในด้านการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมและข้อปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อหาข้อยุติทางคดีเสียก่อน ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรนั้นก็จะมีแนวทางที่จะทำให้คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดได้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมด้วย ส่วนแนวทางว่าจะให้เขากลับคืนสู่สังคมจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นกับรัฐบาลถัดไปจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายพิเศษหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า การออกกฎมายนั้นสามารถกระทำได้หลายลักษณะ อาทิ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา หรือนโยบายของรัฐเป็นต้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาล ณ ขณะนั้นจะไปดำเนินการอย่างไร

เมื่อถามว่า รายงานดังกล่าวนั้น ผู้ใดจะต้องนำไปปฏิบัติใช้เพื่อให้เกิดผลได้จริง นายเสรี กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องนำสิ่งที่เสนอไปปรับใช้ อาทิ ตำรวจ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงที่จะต้องนำเอารายงานดังกล่าวไปปฏิบัติต่อไป

เมือถามว่า ที่ผ่านมามีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดำเนินการจะได้รับความเชื่อถือหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ก็ต้องเชื่อถือ อย่าไปมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในอดีต เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานเดิมนั้นจะมาทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตด้วย ต้องมองว่าทำอย่างไรจะทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น