xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชื่อนักวิชาการร่วมทีมปรองดอง ปลัด กห.นั่งหัวโต๊ะถามพรรค คุย 10+1 หัวข้อ ไร้นิรโทษกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษกกระทรวงกลาโหม เผยที่ประชุม กก.ปรองดองตั้งปลัด กห.ประธานฟังความเห็น ผบ.สส.นั่งหัวโต๊ะบูรณาการข้อคิดเห็น ผบ.ทบ.คุมจัดทำข้อเสนอ โฆษกกลาโหมดูพีอาร์ เชิญ นปช.-กปปส.-กลุ่มเกษตร-แรงงานคุย เผยนักวิชาการ “สมคิด-ผาสุก-บรรเจิด-อมรา” นั่งอนุฯ ดึง ขรก.เป็นกรรมการทุกชุด ใช้กระทรวงเป็นที่คุยส่วนกลาง ให้ผู้ว่าฯ-มทภ.-ผบช.ภ.ฟังชาวบ้าน เผยหัวข้อถาม 10 +1 ตามกรอบ 3 เดือน ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 11.30 น. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้ชี้แจงรายละเอียดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไห้ได้รับทราบ และได้หารือกรอบแนวทางการทำงานโดยมีความเห็นร่วมกันว่าต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม (รอง ผอ.สนผ.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ 2.คณะอนุกรรมการบูรณาการ ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ มีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน โดยมีผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ เป็นกรรมการและเลขานุการ 3. คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน พล.อ.พิสิทธิ สิทธิสาร รอง ผบ.ทบ.เป็นรองประธานอนุฯ มี พล.อ.สสิน ทองภักดี เสนาธิการทหารบก เป็นกรรมการ และเลขานุการ และ 4. อนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ มีโฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ มีผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นเลขานุการ

พล.ต.คงชีพกล่าวต่อว่า สำหรับกรอบการทำงานของคณะอนุฯ ด้านรับฟังความคิดเห็น จะมีการเชิญพรรคการเมืองทุกพรรค ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อเสนอแนะในความคิดที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยเปิดเวทีสาธารณะให้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย และผู้มีส่วนได้เสียมีเวทีพูดคุยและหารือกัน เช่น กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กกปส.) รวมถึงกลุ่มสมัชชาเกษตรกร และกลุ่มแรงงานต่างๆ ตลอดจนองค์กรสื่อมวลชน หลังจากทำงานเสร็จแล้วก็จะส่งข้อเท็จจริงจากการพูดคุยไปให้คณะอนุกรรมการบูรณาการ ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ จากผู้แทนเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนักวิชาการ จำนวน 9 คน ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิต นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ รศ.ทองอิน วงศ์โสธร ศ.กิติตคุณ สุภางค์ จันทวานิช ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรณโณ รศ.ตระกูล มีชัย และ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ในการรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมด และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อเตรียมการปฏิรูป

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวต่อไปว่า จากนั้นจะส่งให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และศ.ดร.นันทวัฒน์ ปรมนันท์ เป็นที่ปรึกษา และอนุกรรมการ โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย ผศ.ดร.ธนวรรธ์ พลวิชัย ศ.ดร.จรัล มะลูลีม ศ.กิกิตคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ และศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ซึ่งผู้แทนดังกล่าวเราเชิญมาเป็นกรรมการทุกๆ ชุดด้วย

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวต่อว่า กระบวนการทำงานนั้นมีแนวทางเริ่มจากคณะชุดแรกจะรับฟังความคิดเห็น โดยเชิญพรรคการเมืองภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะทำควบคู่กันไปกับส่วนกลาง โดยจะใช้ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่พูดคุยเสนอความคิดเห็น โดยมีการจัดพื้นที่เป็นห้องโถงใหญ่จัดเป็นโต๊ะกลมขนาด 20 ที่นั่ง เชิญฝ่ายที่ให้ความแสดงความคิดเห็น 10 คน และฝ่ายที่รับฟังความคิดเห็น 10 คน และในส่วนภูมิภาคตามพื้นที่ต่างๆ จะให้ทางแม่ทัพภาคที่ 1-4 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดรับผิดชอบเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างเปิดกว้าง และสร้างสรรค์ หลังจากได้รับข้อมูลในทุกภาคส่วน ที่มาให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดแล้วจะนำมาปรับปรุงร่างความเห็นร่วมทั้งให้สมบูรณ์ จากนั้นจะเปิดเวทีสาธารณะด้วยการเชิญทุกภาคส่วน และภาคประชาชนมารับฟัง และรับรู้ เพื่อดำเนินการปรับปรุงร่างสัญญาประชาคมความเห็นร่วมครั้งสุดท้าย ขณะเดียวกันเมื่อได้ร่างสัญญาประชาคมสมบูรณ์แล้วจะเสนอให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ผ่านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเราน่าที่จะเริ่มดำเนินการในที่ 14 ก.พ.เป็นต้นไป

พล.ต.คงชีพกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นหารือมีทั้งหมด 10 บวก 1 หัวข้อ ประกอบด้วย 1. ด้านการเมือง การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยขึ้นอีก ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ 2. ด้านความเหลื่อมล้ำ เช่น การครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร การเข้าถึงแหล่งน้า มักถูกยกมาเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งอย่างกว้างขวาง จะมีการพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้า เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองในสังคมไทย 3. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการขยายไปสู่ความขัดแย้ง จะมีทางออกหรือวิธีการดำเนินการต่อประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม การแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร 4. มีแนวทางเสริมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ต่อประเด็นความแตกต่างทางสังคม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุขอย่างไร 5. แนวทางในการไม่ให้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งได้อย่างไร 6.มีแนวทางที่จะทาให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เช่น ความขัดแย้งเรื่องพลังงาน การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ฯลฯ ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างความขัดแย้งในสังคมได้อย่างไร 7. มีแนวคิดที่จะดำเนินการต่อประเด็นปัญหากิจการภายในประเทศมายกระดับให้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินการของต่างประเทศ เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาเสรีภาพและประชาธิปไตย ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ ฯลฯ ที่ส่งผลทาให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไร 8. มีแนวคิดอย่างไร ที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อไม่ให้เป็นสาเหตุนามาซึ่งความขัดแย้ง ในสังคมไทย 9. ด้านการปฏิรูป มีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง 10. มีข้อเสนอแนะให้เกิดการยอมรับและร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน หรือไปสู่เป้าหมายร่วมกันอย่างไร นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอจากคณะกรรมการฝากเพิ่มเติมในวันนี้เป็นข้อที่ 11 คือ มองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

“คณะกรรมการปรองดองชุดนี้รัฐบาลมีความจริงใจ และตั้งใจจริงที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยมองไปที่ผลประโยชน์ส่วนรวม และประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งการดำเนินการจะทำอย่างสร้างสรรค์ เป็นกลาง โดยมีจุดยืนคือการรับฟังความคิดเห็น เพราะฉะนั้นความสำเร็จจะมีได้ต้องขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และทุกฝ่าย ผมขอย้ำว่ากระบวนการดังกล่าวมีประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และขอให้เชื่อมั่น และไว้ใจกัน โดยปราศจากเงื่อนไข และอคติ เราเปิดโอกาสและให้โอกาสในการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง รับฟังด้วยความจริงใจเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเวทีระดับภูมิภาคควบคู่กันไป ทุกท่านสามารถส่งข้อมูลข้อคิดเห็นในพื้นที่และส่วนกลางได้ตลอดเวลา โดยเราไม่ละเลยผลการศึกษาที่ผ่านมาใช้เป็นแนวทางสร้างความปรองดองร่วมกัน” พล.ต.คงชีพกล่าว

พล.ต.คงชีพกล่าวต่อว่า เราทุกคนอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน วันนี้ปัญหาความขัดแย้งยุติด้วยคนไทยทุกคนที่อยู่ในบ้านหลังนี้ กระบวนการปรองดองได้เริ่มขึ้นแล้ว เพราะบรรยากาศสร้างความปรองดองในเดือนกุมภาพันธ์ ที่เป็นเดือนแห่งความรัก อยากให้สื่อมวลชนร่วมสร้างบรรยากาศความปรองดองครั้งนี้ด้วยการนำเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ ไม่ขยายความขัดแย้งประเด็นเล็กน้อยมาเป็นประเด็นสังคม ทั้งนี้ ขอย้ำว่า หัวข้อที่พูดคุยกัน 10 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายทางคณะกรรมการจะรับฟังทุกปัญหา ทุกเงื่อนไขของกฎหมาย แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม และอภัยโทษ สำหรับกรอบระยะเวลาทางคณะกรรมการฯตั้งกรอบไว้ 3 เดือน ซึ่งเราพยายามจะรับฟังและเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างความคิดเห็นร่วม และการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อเอาความคิดเห็นร่วมให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจ ก่อนปรับร่างความเห็นร่วมเป็นสัญญาประชาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น