xs
xsm
sm
md
lg

“สังศิต” แนะหยิบข้อตกลงป้องกันฟอกเงินแก้ปมโรลส์-รอยซ์ จี้แก้ กม.ปปง.ก่อนถูกแซงก์ชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สปท.สังศิต” แนะยกสัญญาระหว่างประเทศแก้ปัญหาคดีโรลส์-รอยซ์หมดอายุความบางส่วน ชี้ไทยมีทางออกให้หยิบยกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดมาตรฐานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในฐานะสมาชิกยูเอ็น ที่ระบุว่าไม่มีอายุความ แนะนายกฯ ใช้ ม.44 แก้ กม.ปปง ก่อนไทยถูกแซงก์ชันธุรกรรมการเงินหลัง พ.ค. เสนอใช้การเมืองสร้างความปรองดอง หาทางออกประเทศ แต่ไม่ใช่เอานโยบาย 66/23 และ 66/25 มาใช้

วันนี้ (27 ม.ค.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) จัดหัวข้ออบรมนักศึกษาหลักสูตร พตส.รุ่น 8 เรื่อง “คอร์รัปชันกับปัญหาในการพัฒนาประเทศ” โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปท. และคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นวิทยากรถึงกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ ว่าสถานการณ์โลกไปไกลกว่าหัวข้อคอร์รัปชันมีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร เนื่องจากคอร์รัปชันเปลี่ยนแปลงความหมายในตัวเองไปตลอดเวลา เพราะนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐมีการเปลี่ยนรูปแบบตลอด จนนิยามการคอร์รัปชันของยูเอ็นก็ยังต้องเปลี่ยน ของไทยก็พยายามเปลี่ยนมาตรการรับมือแต่ไม่ทัน เพราะยังมีคนค้าน พ.ร.บ.ผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ ขณะที่โลกก้าวไปอีกก้าวไปถึงเรื่องการฟอกเงิน เขามองว่าเงินสกปรกที่ได้มาหากเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจจะถือเป็นการฟอกเงิน หากทุจริตมาแล้วเก็บไว้ยังไม่ถือเป็นการฟอกเงิน

เรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ กำลังทำให้เกิดความสะเทือนอย่างหนัก ขอทำนายว่าหาก 2-3 เดือนข้างหน้าแก้ปัญหาไม่ตกจะเกิดปัญหามโหฬาร คนไทยจะตกอยู่ในภาวะลำบาก เพราะมีข่าวว่าการทุจริตฉุดความเชื่อมั่น ในขณะที่ยูเอ็นจับมือกันสู้ไม่ใช่แค่คอร์รัปชัน แต่เขาจะจับเรื่องการฟอกเงิน ประเทศมหาอำนาจจะเริ่มควบคุมการให้สินบนประเทศต่างๆ โดยจะถือเป็นการฟอกเงิน”

นายสังศิตอธิบายว่า ที่เราเผชิญหน้าเรื่องโรลส์-รอยซ์ ต้นเรื่องเกิดขึ้นจากบริษัทแม่ที่อังกฤษ กับบริษัทลูกด้านพลังงานที่รัฐโอไฮโอสหรัฐฯ อย่างที่ทราบข่าวว่าโรลส์-รอยซ์ขอยอมเสียค่าปรับ 170 ล้านดอลลาร์ และ 605 ล้านดอลลาร์ให้อังกฤษ และให้บราซิลอีก 25 ล้านดอลลาร์ รวมว่า 800 ล้านดอลลาร์ ทั้งสองประเทศจับมือกันตรวจสอบโดยมีเอกสารมัดราว 30 ล้านแผ่น จนโรลส์-รอยซ์ไม่สู้ ขอจ่ายค่าปรับ แต่ประเทศไทยยังไม่ดำเนินการทำอะไรเลยทั้งที่มีเอกสาร 52 แผ่นที่เกี่ยวข้องกับ ปตท. และ ปตท.สผ. กับ 40 แผ่นที่เกี่ยวข้องกับการบินไทย เป็นเอกสารที่สรุปว่ามีการจ่ายเงินติดสินบนในสองหน่วยงาน

“ถามว่าทำไมในต่างประเทศเขาจับได้ แต่ในประเทศไทยจับไม่ได้ ต้องไปขอข้อมูลขอความร่วมมือ เพราะสหรัฐฯ มีสองหน่วยงานตรวจสอบ คือ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานตรวจสอบบัญชี และกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานยึดทรัพย์แยกจากกันเพื่อถ่วงดุล แต่ของไทยพิลึก คือ ปปง.ทำทั้งตรวจสอบและอายัดทรัพย์ ทั้งที่การตรวจสอบการฟอกเงินต้องคำนึงถึงระบบการถ่วงดุล อย่าให้องค์กรใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จองค์กรเดียว”

นายสังศิตกล่าวต่อว่า กรณีของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินบน 11 ล้านดอลลาร์จากสัญญาจ้าง 7 โครงการ ถือเป็นหน่วยงานรัฐบาลและถูกตีความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัญหาของเราคือเราเพิ่งแก้กฎหมาย ป.ป.ช.ในยุครัฐบาลนี้ให้รวมเอกชนที่ให้สินบนมีความผิดทุจริตด้วย จากเดิมเพียงนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ตรงนี้ยังมีความผิดปกติในกฎหมาย ปปง.คือ ปี 2550 คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ FATF ตรวจสอบ ปปง.พบว่าทำไมมีเพียงองค์กรเดียวที่ใช้อำนาจ และเสนอว่าควรให้ ป.ป.ช., ป.ป.ท. กับดีเอสไอร่วมบังคับใช้กฎหมายด้วย

“มีคำถามมีว่าบางคดีทั้งแพ่งและอาญาในกรณีของสินบนโรลส์-รอยซ์ที่หมดอายุความจะไปดำเนินการอย่างไร สำหรับประเทศไทยมีทางออก คือ การที่เราเป็นสมาชิกยูเอ็น ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกำหนดมาตรฐานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีการระบุว่าการฟอกเงินไม่มีอายุความถ้าเราเอามาใช้ก็จะสามารถจัดการกับผู้ร่วมคอร์รัปชันในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ มาตรการที่เราไปตกลงกับยูเอ็นในปี 2549 ระบุว่า การจัดซื้อของรัฐ และการจัดการเงินของรัฐบาลหากกระทำผิดถือเป็นการฟอกเงิน ถามว่ากระบวนที่ ปตท. และการบินไทย สำเร็จตามที่ FATF กำหนดหรือไม่ พบว่าองค์ประกอบสำเร็จทั้งสามชั้นตอนตามกระบวนการฟอกเงิน คือ นำเข้าสู่ระบบการเมือง มีการปิดบังอำพราง และมีการนำเงินนี้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจที่ถูกกฎหมาย ถือว่าครบตามกรอบของ FATF จึงเข้าข่ายกระบวนการฟอกเงิน”

นายสังศิตย้ำว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีสิทธิ์ขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามพันธกรณีอนุสัญญา FATF โดยยังมีเงินอีกก้อนที่ส่งไปสิงคโปร์ที่เกี่ยวกับ ปตท., ปตท.สผ. และการบินไทย ซึ่งมีเอเชียแปซิฟิกกรุ๊ฟ (APG) ที่ก่อตั้งขึ้นที่ มีพันธกรณีที่สังคโปร์ต้องเอาข้อมูลให้รัฐบาลไทย ถ้าไม่ให้ทั้งสหรัฐฯ และสิงคโปร์ก็มีความผิด และตาม ข้อเสนอแนะ 40 ประการของ FATF ระบุชัดว่าประเทศที่เป็นสมาชิกห้ามขัดขวางการขอข้อมูล ดังนั้นถ้ารัฐบาลไทยขอต้องให้ และข้อมูลการเงินระหว่างประเทศและในประเทศต้องเก็บไปอย่างน้อย 5 ปี และประเทศไทยยังสามารถขอความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างสหรัฐฯ และหากไม่ขอจะถือว่ามีความผิดด้วยฐานช่วยปกป้องคนทุจริต

นายสังศิตระบุว่า เรื่องนี้จะมีการตรวจสอบอีกครั้งว่ามีการทำตามข้อตกลงเสร็จสิ้นหรือไม่ ตอนนี้ ปปง.มีเวลาเหลือแค่ 27 สัปดาห์ หาก ปปง.ไม่ยอมทำ ขอเรียนว่าเป็นเดิมพันของทั้งประเทศที่มีเจ้าหน้าที่ไทยรับผิดชอบอยู่คนเดียว และสัปดาห์แรกของพฤษภาคมปีนี้ หาก ปปง.ไม่แก้ไขตามข้อเสนอแนะอันเกี่ยวเนื่องกับพันธสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะมีการถูกลงโทษ เพราะถือว่าระบบธนาคารไทยไม่โปร่งใส กลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากการฟอกเงิน และจะถูกตัดออกจากประเทศร่วมค้าในระบบการเงิน แปลว่าธนาคารไทยจะทำธุรกรรมกับหลายประเทศไม่ได้ ทำให้สถาบันการเงินไทยและประเทศเกิดภาวะไม่มั่นคง นี่คือมรสุมใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลนี้กำลังเผชิญในต้น พ.ค.นี้

“มีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนที่กำลังตัดสินใจที่เกี่ยวพันกับชะตากรรมของประเทศ จึงขอให้สัญญาณกับรัฐบาล ขอให้นายกรัฐมนตรีรีบดำเนินการ เพราะในปี 2559 ประเทศไทยถูกจัดลำดับความเสี่ยงที่ 156 อยู่ในความเสี่ยงอันดับ 4 ถือว่าอยู่ในช่วงอันตรายแล้ว อยากฝากถึงรัฐบาลขอให้รีบจัดการให้ประเทศไทยก้าวพ้นมรสุม จากภัยพิบัติทางการเงินและถูกแซงก์ชันต่างๆ”

นายสังศิตยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า รัฐบาลจะต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ และจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยต้องเอา ป.ป.ช., ป.ป.ท. และดีเอสไอ เข้ามามีส่วนร่วมตามข้อเสนอของ FATF ไม่ใช่เอา ป.ป.ท.และดีเอสไอออกไปจากการตรวจสอบเหมือนเป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้องมีการเปลี่ยนอำนาจของ ปปง.ใหม่ โดยให้มีอำนาจเฉพาะยึดทรัพย์และอายัดเท่านั้น เพื่อให้มีการถ่วงดุลกันระหว่างองค์กร ดังนั้น รัฐบาลควรใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการฟอกเงินให้ทันสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายสังศิตบรรยายเสร็จสิ้น นายสุรศักดิ์ คิรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบคดีโรลส์-รอยซ์ ในฐานะนักศึกษา พตส.8 ก็ได้ขออภิปราย โดยกล่าวว่าองค์กรตรวจสอบเดี๋ยวนี้มีภาระหน้าที่ตามกฎหมาย สิ่งที่เจ้าหน้าที่แถลงนั้นเพียงบางส่วนในสำนวนการสอบสวนเปรียบเทียบปรับเท่านั้น กฎหมายเขาให้เปรียบเทียบปรับได้ แต่ของไทยต้องไปขึ้นศาล เอกสารต่างๆ มีกระบวนการที่เปิดเผยไม่ได้ เอกสารที่เอามาอ่านยังไม่รู้ว่าเป็นเอกสารทางการหรือไม่ บางทีก็เข้าสำนวนสอบสวนไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสำนวนเหล่านี้ศาลไทยจะรับฟัง ตนไม่สามารถนำข้อมูลมาเปิดเผยเพราะมีกฎหมายบังคับไว้ ที่ว่าจะขอข้อมูลยังต้องไปดูกฎหมายว่าขนาดกรณีคดีอาญา หรือแพ่ง มันยังมีรายละเอียดมากมายที่คนมีหน้าที่เขาต้องอ่าน

นายสุรศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า การเอาคดีเหล่านี้มาพูดหรือมาเปิดเผยจะทำให้อีกฝ่ายใช้โอกาสนี้เป็นช่องทางนำไปสู้คดีในชั้นศาล การเปิดเผยข้อมูลเขามีกฎหมายและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เขายังไม่รู้เลยว่าในบ้านเรามีหน่วยงานไหนที่รับผิดชอบที่จะดำเนินการตรวจสอบ การที่จะขอเอกสารยังต้องให้กระทรวงการต่างประเทศรับรอง การที่เรารับข้อมูลต่างๆ แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจไม่ถูกต้อง

ส่วนนายสังศิตยังกล่าวถึงการสร้างความปรองดองว่า ตนได้เสนอว่าให้ใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งไม่ใช่การเอานโยบาย 66/23 และ 66/25 มาใช้ ซึ่งอาจมีการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลายเคลื่อน โดยตนบอกว่า ก่อนนี้สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาแก้ไขสงครามคอมนิวนิสต์ รัฐบาลมีนโยบายใช้การทหารนำการเมือง แต่เมื่อ พล.อ.เปรมเข้ามาดำเนินการ มีการใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ทำให้ประชาชนที่หลงผิดออกมามอบตัวจำนวนมาก จึงต้องการสื่อสารให้ทราบว่า ถ้าจะทำในเรื่องการปรองดองก็ต้องใช้หลักนี้ แต่ไม่ได้บอกว่าให้เอานโยบาย 66/23 หรือ 66/25 มาใช้ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การจะเอานโยบายที่ใช้กับเรื่องหนึ่งได้ มาใช้กับอีกเรื่องหนึ่งอย่างเคร่งครัดทำไม่ได้ จึงขอให้ลืมไปเลย แต่ให้ยึดหลักว่าเราต้องใช้การเมืองนำ และยึดหนักนิติรัฐ นิติธรรม เมตตาธรรม นึกถึงว่าเราคนไทยด้วยกัน ต้องสามัคคี อยู่อย่างสงบสุข

"ที่พูดว่าใช้นโยบายการเมืองนำ ไม่ได้หมายความว่าต้องให้มีการนิรโทษกรรม การที่รัฐบาลตั้ง ป.ย.ป.ก็เป็นการใช้นโยบายทางการเมืองนำ ซึ่งก็ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกหลายอย่าง” นายสังศิตกล่าว

นายสังศิตยังกล่าวว่า ในส่วนของ สปท.ได้มีการเชิญผู้ที่ทำเรื่องการปรองดองทั้ง 9 ชุด ในอดีตทั้งพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นายดิเรก ถึงฝั่ง มาปรึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป ว่าเมื่อสถานกาณ์เปลี่ยนแปลงไป เขาเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงข้อเสนอที่เคยมีอย่างไร พรรคการเมืองก็ให้ความร่วมมือ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ กปปส. และ นปช.ก็ร่วมมือ โดยจะทำเอกสารส่งมาภายในวันที่ 31 มกราคม แต่อยากให้เข้าใจว่าเรื่องนี้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ สปท.โดย กมธ.เป็นเพียงผู้รวบรวมความเห็น และจัดทำข้อเสนอแนะเท่านั้น คนที่จะตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ อยู่ที่ ป.ย.ป.



กำลังโหลดความคิดเห็น