xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ให้เวลา กทพ.90 วันศึกษาผลกระทบปมสร้างทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ลงชลบุรี สอบแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา หลังมีผู้ร้องเรียน แนะเปรียบเทียบให้ละเอียดเส้นทางไหนกระทบน้อยสุด พร้อมเยียวยารวมถึงผลกระทบด้านอาชีพและความเป็นอยู่ ฟังความเห็นชาวบ้านให้มากขึ้น ให้เวลาการทางพิเศษฯ ไปศึกษา 90 วัน

วันนี้ (13 ม.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการ พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีแนวเส้นทางการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อพัฒนาระบบขนส่งลอจิสติกส์ส่งผลกระทบต่อประชาชน ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาพิจารณาหาทางเยียวยาผลกระทบอย่างรอบด้าน เร่งให้ข้อมูลแก่ประชาชนพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง

พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า เนื่องจากมีการร้องเรียนของประชาชนใน จ.ชลบุรี ที่อาจได้รับผลกระทบจากการคัดเลือกเส้นทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ซึ่งเป็นแผนงานพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษเพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ผ่านเส้นทางบางแสน พัทยา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง หลังพบว่าเส้นทางหลัก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ประสบปัญหาสภาพการจราจรหนาแน่น มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าปริมาณการจราจรจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่มีอัตราความเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทุกขณะ ทั้งนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชนให้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบหาเส้นทางการก่อสร้างที่เหมาะสมทั้งสิ้น 8 แนวสายทางเลือก ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี อ.ศรีราชา และอ.บางละมุง โดยพิจารณาถึงผลกระทบ 3 ด้าน ตามหลักสากล คือ ด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เสนอผลการศึกษาทั้ง 8 แนวสายทางเลือก โดยระบุว่าแนวสายทางเลือกที่ 1-7 นั้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ชุมชนและย่านเศรษฐกิจ ในขณะที่แนวสายทางเลือกที่ 8 เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ และมีระยะห่างจากพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แม้จะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุดประมาณ 368 ครัวเรือน หรือจำนวนที่ดิน 578 แปลง ทำให้มีการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและต้นทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินน้อยที่สุด ตลอดจนมีความเหมาะสมด้านวิศวกรรมการก่อสร้างและไม่ก่อเกิดปัญหาจราจรระหว่างก่อสร้าง

โดยเส้นทางจะเริ่มต้นต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถีบริเวณเทศบาลตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) เข้าสู่ทางเลี่ยงเมืองชลบุรี จนข้ามทางรถไฟที่ กม.15 และเลียบแนวทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) จนกระทั่งตัดผ่านเส้นทางเชื่อมเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังและเมืองพัทยา ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทางกายภาพของพื้นที่ดังกล่าว ว่ามีความเหมาะสมหรือมีแนวโน้มเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งร่วมประชุมหารือกับนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการ เพื่อหาแนวทางเยียวยาแก้ไขร่วมกันให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

“โครงการดังกล่าวมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพ การแข่งขันกับนานาชาติ และหากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและลอจิสติกส์ของอาเซียน ระบบคมนาคมเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และย่อมส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่โครงการพาดผ่านไม่มากก็น้อย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตดั้งเดิม ดังนั้น การศึกษาเปรียบเทียบแนวเส้นทางต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ว่าเส้นทางใดเหมาะสมและกระทบต่อส่วนรวมน้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งคำนึงถึงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน ไม่ใช่พิจารณาเพียงแค่มูลค่าการเวนคืนที่ดินหรือค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการเสียประโยชน์ของการประกอบอาชีพและผลกระทบด้านสังคมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย” พล.อ.วิทวัสกล่าว

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการทางพิเศษแห่งประเทศไทยควรมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เน้นลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชนอย่างเข้าถึงให้มากขึ้น และเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชนให้รับทราบอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เพื่อประชาชนจะได้เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และคิดวางแผนชีวิตตนเองและครอบครัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตน

พล.อ.วิทวัสยังกล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่และหารือกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้เวลา 90 วัน กับการทางพิเศษแห่งประเทศและบริษัทที่ปรึกษาไปศึกษาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด และไม่ว่าขั้นตอนสุดท้ายจะได้แนวเส้นทางใดเป็นเส้นที่เหมาะสมที่สุด ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ทุกฝ่ายยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ





กำลังโหลดความคิดเห็น