xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโด่ง” สัมมนาตั้งโรงงานผลิตอาวุธรูปธรรม ชงโรดแมปแก้ไฟใต้ “บิ๊กป้อม” รับพอใจผลงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม (แฟ้มภาพ)
“อุดมเดช” เป็นประธานจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ตั้งโรงงานผลิตอาวุธรูปธรรม ปี 60 ยึดกรอบ 3 แนวทาง รวบรวมรายการยุทโธปกรณ์มีใช้เหล่าทัพ เล็งพื้นที่ทหาร-เอกชนตั้งโรงงาน พร้อมทำผลสรุปส่ง “บิ๊กป้อม” ปีหน้า รวมถึงส่งโรดแมปแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้พิจารณา ยันผู้แทน รบ.ทำงานมาตลอด ยอมรับพอใจผลงาน

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่ห้องแซฟโฟร์ 119 อาคารอิมแพค ฟอรั่ม ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เป็นรูปธรรมในปี 2560 โดยมี พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเหล่าทัพ ร่วมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดย พล.อ.อุดมเดชกล่าวเปิดสัมมนาในตอนหนึ่งว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อสนองตอบนโยบายผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่ต้องการผลักดันการดำเนินอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้นรูปธรรมชัดเจน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลจากการสัมมนาในครั้งนี้ไปศึกษา และกลับมาระดมความคิดที่เป็นประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์และการมุ่งหวังในการสัมมนา

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า งานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงได้มีนโยบาย สั่งการ เน้นย้ำให้เกิดรูปธรรมปี 2560 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถวิจัยพัฒนา มุ่งไปสู่การผลิตใช้ในราชการและขายเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงและลดภาระงบประมาณในการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จ มี 3 ประเด็น คือ 1. การบูรณาการการผลิตและการรวมการจัดหายุทโธปกรณ์ที่ผลิตในกระทรวงกลาโหม และกำหนดรายการยุทโธปกรณ์ที่จะให้ภาคเอกชนภายในประเทศเป็นผู้ผลิต 2. การเสนอรายการยุทโธปกรณ์ที่กองทัพได้รับต้นแบบไปวิจัยและทดลองใช้งานและสำเร็จตามวัตถุประสงค์และกำหนดเป็นรายการที่จะจัดหาจากในประเทศ ในโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพหรือในแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ 3. การร่วมกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรกลางที่เป็นผู้กำหนดและรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ

“นอกจากนี้มีอีกเรื่องสำคัญ การสัมมนาเพื่อแสวงหาแนวทางครั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต้องการได้ข้อเสนอแนะแนวทางดำเนินการต่อการตั้งโรงงานประกอบหรือผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญร่วมกับมิตรประเทศที่เรามีแผนจัดซื้อยุทโธปกรณ์นั้นมาประจำการในกองทัพของเรา โดยอาจศึกษาจากวิธีการที่คู่มิตรประเทศได้ทำมาแล้ว เป็นต้น” พล.อ.อุดมเดช กล่าว

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ผลการสัมมนาในครั้งนี้และครั้งต่อไปในวันที่ 25 ม.ค. 2560 ต้องเห็นผลรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้ศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหารนำผลการสัมมนาเรียน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อขออนุมัติให้ทุกหน่วยของกระทรวงกลาโหมได้ปฏิบัติตามเคร่งครัด เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศประสบความสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม

หลังจากนั้น พล.อ.อุดมเดชให้สัมภาษณ์ว่า ถือเป็นนโยบายรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมต้องการให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีความก้าวหน้า ที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในหลายเรื่องเข้าสู่การผลิตยุทโธปกรณ์ใช้เองในกองทัพสำเร็จ เช่น ยูเอวี อุปกรณ์ด้านการสื่อสาร เครื่องตัดสัญญาณ การทำให้ปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร สามารถเคลื่อนที่อัตราจรเป็นต้น แต่ยังขาดความชัดเจนเรื่องอื่นๆ ต้องปรับปรุงสอดคล้องกับการพัฒนามีความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น ระบบต่างๆ ต้องเชื่อมต่อเพื่อผลิตใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ หรือเป็นประโยชน์ส่งออกขายนำงบประมาณเข้าประเทศ

เมื่อถามถึงการตั้งโรงงานประกอบชั้นส่วนยุทโธปกรณ์ในไทย พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า มีแนวโน้มจะจัดตั้งโรงงาน เนื่องจากเรามีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ หลายอย่าง และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วน หากเราสามารถร่วมกับมิตรประเทศและผลิตเองได้ ค่าใช้จ่ายลดลงและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และหากผลิตได้มากก็ส่งออกจำหน่ายเพื่อได้งบประมาณกลับมา และยังส่งเสริมการวิจัยพัฒนาในส่วนของกองทัพเองรวมถึงเอกชน

เมื่อถามว่า ปัจจุบันยุทโธปกรณ์ของประเทศจีนที่ใช้ในกองทัพมีจำนวนเท่าไหร่และมีแนวโน้มจัดซื้อเพิ่มอีกหรือไม่ ถึงต้องตั้งโรงงานงานผลิตชิ้นส่วน พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า มีทั้งที่เราซื้อมาแล้ว แต่การจัดซื้อเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องแผนพัฒนาของแต่ละเหล่าทัพ ว่าต้องการอะไร ต้องพิจารณาดูความเหมาะสม ส่วนจะซื้อจากประเทศไหนนั้น ต้องมาดูประเทศไหนที่ผลิตมาแล้วมีขีดความสามารถสูง คุ้มค่างบประมาณที่ต้องเสีย และมีการคัดเลือก จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นประเทศไหน เพราะเหล่าทัพพิจารณาเอง ในส่วนกระทรวงกลาโหมก็จะดูความเหมาะสม

“มีความเป็นไปได้ว่ายุทโธปกรณ์ของประเทศใดที่เราซื้อมาเป็นจำนวนมาก และจำเป็นต้องมีชั้นส่วนอะไหล่เอง ก็ควรจะทำได้เอง และการดำเนินการต้องร่วมมิตรประเทศที่เรานำยุทโธปกรณ์เข้ามา ว่าจะสนับสนุนเกื้อกูลอย่างไรที่ทำให้เราสามารถผลิตได้เอง ส่วนพื้นที่ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนนั้น อยู่ในรายละเอียดการสัมมนาครั้งนี้ ต้องหารือกัน เนื่องจากกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพมีความพร้อม มีพื้นที่ทั้งในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศตั้งโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง” พล.อ.อุดมเดชกล่าว

พล.อ.อุดมเดชกล่าวอีกว่า ต้องพิจารณาพื้นที่อื่นๆด้วยกรณีต้องร่วมกับภาคเอกชน ต้องดูความเหมาะสมว่าเป็นพื้นที่ใด ต้องพูดคุยกันเพื่อให้ได้ข้อสรุป และในปี 2560 นี้ต้องการให้ผลิตบางอย่างใช้เองอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว แต่อยู่ระหว่างการตอบรับจากเหล่าทัพถึงประสิทธิภาพการใช้งานจะได้เข้าสู่การผลิตเต็มรูปแบบต่อไป

พล.อ.อุดมเดช ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาล ในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ส่วนหน้า ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโรดแมปแก้ปัญหาภาคใต้ในส่วนของ คปต.ว่าขณะนี้ได้วางแผนโรดเเมปเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะเรียกประชุมเพื่อชี้เเจงให้ส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบ ก่อนส่งให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมในฐานะประธาน คปต. พิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งจะเร่งทำให้เป็นแบบแผนในการแก้ไขปัญหา 3 จ.ชายแดนภาคใต้ต่อไป ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น ไม่ขอบอก รอผ่านการพิจารณาความเหมาะสมจาก พล.อ.ประวิตรแล้วจะแจ้งให้รัฐบาลทราบเช่นกัน

พล.อ.อุดมเดช กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาผู้แทนพิเศษรัฐบาลได้ทำงานกันมาโดยตลอด ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาทางคณะผู้เเทนพิเศษก็ลงไปให้คำแนะนำกับทางจังหวัด โดยได้เดินทางไปครบในทุกจังหวัด ทั้งยะลา นราธิวาส ปัตตานี นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเเผนงานโครงการที่ยังคงขับเคลื่อนต่อไป โดยจะเร่งให้ดำเนินการให้เร็วที่สุดในปีนี้ เพราะจะเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม เศรษฐกิจ การศึกษาและความปลอดภัย ซึ่งผู้แทนพิเศษต้องดูแลครอบคลุมในเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้จะมีโครงการส่วนหนึ่งที่ต้องเบิกงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับการทำงานนั้นก็มีความกังวลบ้าง เพราะต้องร่วมมือ บูรณาการกันอย่างแท้จริง และเมื่อลงพื้นที่ก็ได้เห็นสถานการณ์จริง และได้เสนอแนะปรับแผนภายใน ส่วนใหญ่จะอยู่ในแผนงานหลัก ไม่ได้ข้ามแผนงานใดไป แต่ทำเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการประเมินผลงานล่าสุดของผู้แทนพิเศษ ตนมองว่าทำได้ดีโดยจะมีการประชุมครั้งในวันที่ 22 ธ.ค นี้ อย่างไรก็ตามรู้สึกพอใจกับผลงานและคิดว่าผู้บังคับบัญชาก็คงพึงพอใจที่มีผู้แทนพิเศษลงไปให้คำปรึกษา เเนะนำ และไปกระตุ้นให้งานเป็นไปตามแผนงานด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น