xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” สลับหน้าที่ “ศุภชัย” ปัดขัดแย้งไม่เปลี่ยน ปธ.กกต. ศึกษาซ้ำการทำงานบอร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมชัย” เผย มติ กกต. สับเปลี่ยนให้มาดูแลงานด้านบริหารกลาง สลับหน้าที่ “ศุภชัย” รับเหมาะสมสถานการณ์ ปัดไม่เกี่ยวกระแสข่าวขัดแย้ง ไม่มีการเปลี่ยน ปธ. พร้อมตีกลับ สนง. ศึกษาการทำงานรูปแบบบอร์ด เหตุขาดความชัดเจน คาด 3 - 4 เดือน ชงใหม่ ถกแผนใช้จ่ายงบโครงการใหม่ ทั้งการลงคะแนนผ่านเน็ตนอกไทย สร้างกก. ประจำหน่วยมืออาชีพ จัดทำหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง

วันนี้ (4 ต.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารกลาง กล่าวว่า ที่ประชุม กกต. วันนี้ มีมติให้ตนกำกับดูแลงานด้านบริหารกลางตามข้อเสนอของ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ยกเว้นสำนักกฎหมายและสำนักประชุม ที่จะยังอยู่ในกำกับดูแลของประธาน กกต. โดย นายศุภชัย จะกำกับดูแลด้านบริหารเลือกตั้งแทนตน ถือเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงานให้เกิดความเหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

“ผมก็เรียนและจบด้านการบริหารงานบุคคลมา สมัยเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ก็ดูเรื่องงบประมาณของทั้งมหาวิทยาลัย ประชาสัมพันธ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง สามารถทำให้เป็นข่าวได้ทุกวัน การเปลี่ยนหน้าที่ครั้งนี้ ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นการใช้คนให้ถูกกับงาน เมื่อตนดูในด้านนี้เป็นการช่วยทำให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งเทคโนโลยี ประชาสัมพันธ์ แผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เป็นกลุ่มงานที่ต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ด้านบริหารเข้ามาช่วย ยิ่งช่วงนี้ไม่มีการเลือกตั้ง ท่านประธานก็ให้ผมมาช่วย เพราะอย่างงานเทคโนโลยีท่านประธานดูก็ต้องมาถามผมอยู่ดี งานตรงนี้เป็นงานออฟฟิศ เป็นงานที่จมกับเอกสาร และข้อมูล ไม่ค่อยได้บู๊ ซึ่งเวลาอนุมัติอะไรก็ยังต้องเป็นมติกกต. และคนลงนามก็ยังเป็นนายศุภชัย ประธาน กกต. อยู่ ยืนยันการสับเปลี่ยนตำแหน่งครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวที่ว่ามีความขัดแย้งภายใน กกต. และขณะนี้ นายศุภชัย ก็ยังคงเป็นผู้บริหารสูงสุด ซึ่งก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวประธาน กกต. แต่อย่างใด และ กกต. อีก 3 คน ก็ยังกำกับดูแลด้านเดิม เพราะยังไม่มีใครสนใจที่จะเปลี่ยนแปลงงานด้านที่รับผิดชอบอยู่” นายสมชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนที่สำนักงาน กกต. เสนอผลการศึกษาการทำงานของ กกต. เป็นรูปแบบคณะกรรมการนั้น ทางสำนักงานเสนอว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาตรา 220 กำหนดให้การทำงานขององค์กรอิสระมีลักษณะเป็นบอร์ด และมีสำนักงานเป็นหน่วยธุรการทำงานเอื้อประโยชน์ให้กับคณะกรรมการ ซึ่ง กกต. ได้มีข้อสังเกตต่อผลการศึกษาใน 2 - 3 ประเด็น คือ ในเรื่องของกระบวนการทำงานที่ยังไม่ชัดเจนว่า การเสนอเรื่อง การเสนอวาระการประชุม การกำกับดูแลจะผ่านกลไกของผู้บริหารสำนักงานอย่างไร ระบบมีการรายงานผลความคืบหน้าการทำงานอย่างไร ซึ่งก็ให้ไปศึกษาเปรียบเทียบกับองค์กรอิสระอื่น ๆ ว่า ในรูปแบบขององค์กรเหล่านั้น ที่ทำงานเป็นบอร์ดมีการแบ่งหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการกับสำนักงานอย่างไร รวมทั้งถ้าไม่ทำงานในรูปแบบบอร์ด แต่ยังคงกำกับกันเป็นด้านกิจการ หากมี กกต. ใหม่ เข้ามาอีก 2 คน จะแบ่งงานอย่างไร ซึ่งก็ให้สำนักงานไปศึกษาให้ครบทุกประเด็นแล้วเสนอกลับมาให้กกต.พิจารณาอีกครั้งคาดว่าคงจะใช้เวลาประมาณ 3 - 4 เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต. ยังได้มีการพิจารณาแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 60 ซึ่งก็มีการจัดสรรสำหรับโครงการใหม่ ๆ ที่จะรองรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นใน 3 เรื่อง คือ 1. การจัดทำโครงการระบบการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ I-Vote ที่จะนำร่องใน 3 ประเทศ จาก 90 ประเทศ ที่ไทยมีสถานทูตอยู่ โดยในวันพุธที่ 12 ต.ค. จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กกต. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หากทำแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะขยายให้คนไทยในต่างประเทศทุกประเทศ สามารถใช้สิทธิผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งจะลดงบประมาณจากเดิมที่ใช้ทั้งหมด 80 ล้านบาทต่อการเลือกตั้งหนึ่งครั้ง อาจเหลือเพียงไม่เกิน 5 ล้านบาท

2. การสร้างกรรมการประจำหน่วยมืออาชีพ ซึ่งจะเป็นการอบรมบุคลากร 1 แสนคน ให้มีความเข้าใจขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดในการจัดการเลือกตั้ง เพื่อที่เวลาเลือกตั้งจะมีกรรมการประจำหน่วยมืออาชีพ 1 คน ไว้เหมือนผู้รู้ คอยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง 3. จัดทำหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่ออบรมบุคลากรของพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อให้พรรคการเมืองทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างถูกต้องเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง


กำลังโหลดความคิดเห็น