xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติ 7 สิงหาคม จะเลือกทหาร หรือนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงประชามติว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับคำถามเพิ่มเติมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ จะมีผลอย่างยิ่งต่อ สถานะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

ถ้าผลการลงประชามติ เสียงส่วนใหญ่ยอมรับ ร่าง รธน. และเห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม ก็คือ มติมหาชนอย่างเป็นทางการ ที่ยอมรับ คสช. ทั้งในเรื่อง การยึดอำนาจวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การบริหารประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บทบาทของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้ง หัวหน้า คสช. และ นายกรัฐมนตรี

นอกจากนั้น ยังเห็นด้วยกับ ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ในช่วง 5 ปีแรก หลังการเลือกตั้ง ที่ คสช. เสนอให้ ประชาชนตัดสินใจ ด้วยคำถามเพิ่มเติมหรือคำถามพ่วงของ สนช.

คำถามพ่วง ของ สนช. ที่จะปรากฎอยู่ในท่อนล่างของ บัตรลงประชามติคือ

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ก็คือ สส. กับ สว. คือ ในช่วง 5 ปีแรก ให้ สว. มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ในตัวร่าง รัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. ซึ่งมีจำนวน 500 คนเท่านั้น ที่มีสิทธิยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องได้เสียงเกินครึ่งคือ มากกว่า 250 เสียง

ร่าง รธน. ยังกำหนดให้มี สว. 200 คน คัดเลือกจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ทั่วประเทศ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่จะกำหนดไว้ใน พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยที่มาของวุฒิสมาชิก

แต่ใน บทเฉพาะกาล ให้อำนาจ คสช. แต่งตั้ง วุฒิสมาชิกชุดแรก 250 คน มีวาระ 5 ปี ซึ่งใน 250 คนนี้ เป็นวุฒิสมาชิกโดยตำแหน่ง 6 คนคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

วุฒิสมาชิกซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. นี้ นอกจากมีอำนาจหน้าที่ กลั่นกรอง กฎหมาย แล้ว บทเฉพาะกาลยังมอบภารกิจให้เป็นองครักษ์พิทักษ์การปฏิรูป คือ ติดตาม ตรวจสอบ การปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ และ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ

หากการลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบคำถามพ่วง และ ร่าง รธน ผ่านประชามติ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องแก้ไข ร่าง รธน โดยบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในบทเฉพาะกาล ให้ สว. ชุดที่มาจาก คสช. มีอำนาจโหวดเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

นี่เป็น จุดที่ ร่าง รธน. นี้ถูกโจมตีจากนักการเมือง นักวิชาการ และผู้ที่ยึดถือหลักการ ทฤษฎี ว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่า จะเอากับ คสช. ด้วยไหม

หากไม่เห็นชอบคำถามเพิ่มเติม ก็คือ คืนอำนาจ นักการเมืองมีอำนาจเต็มที่ เหมือน 20 กว่าปีที่ผ่านมา

หากเห็นชอบคำถามเพิ่มเติม ก็คือ ไม่ไว้ใจ นักการเมือง ไม่อยากกลับไปเหมือนเดิม อยากให้ คสช. กำกับดูแล อีก 5 ปี

แต่ถ้าผลการลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม เสียงส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่ของ คสช. และมวลมหาประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณ

พรรคเพื่อไทย และเครือข่ายมวลชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ในสังกัด จะใช้ผลการลงประชามตินี้ มาเคลื่อนไหว กดดัน ทุกรูปแบบ ให้พลเอกประยุทธ์ ลาออก ให้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชน โดยการเลือกตั้งโดยเร็ว ด้วยข้ออ้างว่า ประชาชนไม่ยอมรับ คสช. ไม่ยอมรับ การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ยอมรับ สิ่งที่ คสช. และ รัฐบาลทำไปหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

การลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประชาชน จะต้องตัดสินใจกันให้รอบคอบว่า จะเลือกทหารคือ คสช.หรือ นักการเมือง



นักวิชาการชี้ร่าง รธน.ฉบับลงประชามติยังคาใจหลายเรื่อง แต่เป็นอิสระของประชาชน
นักวิชาการชี้ร่าง รธน.ฉบับลงประชามติยังคาใจหลายเรื่อง แต่เป็นอิสระของประชาชน
นครปฐม - ภาควิชาสังคมศาสตร์ และภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังนามจันทร์ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองจัดการเสวนาวิชาการ รัฐธรรมนูญ พลเมือง และการพัฒนา เชิญ อ.จุฬาฯ-ม.เกษตร บรรยายประวัติการปกครองและจับประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับให้ประชาชนลงมติ ยังคาใจในหลายเรื่อง แต่เป็นอิสระของประชาชน ด้านคณะบดีคณะมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ชี้การประชาสัมพันธ์ลงประชามติ 7 ส.ค.ไม่ชัดเจน และประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเพื่อเรียกคืนอำนาจจาก คสช.หลังทำผลงานล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น