xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้ข้อเสนอ คสช.เปิดช่องต่อรอง ค้านเหล่าทัพนั่ง ส.ว. จี้ กรธ.อย่าเกรงใจใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หัวหน้า ปชป.มองข้อเสนอ คสช.ทำเกิดสภาพเบี้ยหัวแตก ทำให้การเมือง-ผู้มีอำนาจต่อรองกัน ติงให้เหล่าทัพร่วมวุฒิฯ ขัดหลัก ปชต.ให้อำนาจซ้อนอำนาจ เป็นกำลังใจให้ กรธ.ยึดหลักการ ฟัง ปชช.อย่าเกรงใจใคร เตือนสลัดการสืบทอดอำนาจไม่ได้ทำลายทุกอย่าง แนะรณรงค์ประชามติเปิดกว้าง อย่าจำกัดกรอบเกินไป ย้อนแก้ใช้เสียงข้างมากไม่ถูกหลัก ไม่ใช่ลบล้างเจตนารมณ์ ปชช.

วันนี้ (17 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 3 ข้อของ คสช.ว่า คิดว่าเฉพาะประเด็นการเพิ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อมาถ่วงดุลในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการจะให้อำนาจ ส.ว.ในการติดตามประคับประครองการปฏิรูปเท่านั้น ที่สอดรับกับความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านในบทเฉพาะกาล แต่การให้อำนาจ ส.ว.ในการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ และการไปรับบทการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีหรือปรับระบบเลือกตั้ง ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าเบี้ยหัวแตก ขัดต่อการเดินหน้าของประเทศ และขัดต่อระบบหลักที่ กรธ.วางไว้ และจะไม่เป็นผลดีทำให้เกิดความขัดแย้ง เป็นสภาพการเมืองที่เป็นการต่อรองกันระหว่างนักการเมืองกับกลุ่มผู้มีอำนาจซึ่งเราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่เราต้องการประเทศเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปได้ โดยความเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน แต่มีกลไกที่เข้มแข็งในการที่จะตรวจสอบไม่ให้คนที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในทางไม่ชอบ นั่นควรจะเป็นเป้าหมาย

ส่วนโครงสร้างของ ส.ว.สรรหาที่ให้ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นข้าราชการประจำเข้ามาอยู่ด้วย 6 คน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถือว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและทำให้เกิดความสับสนใจระบบ ไม่เข้าใจว่า ให้บุคคล 6 คนเข้ามาอยู่ในสภาฯ ซึ่งมีจำนวน 250 คนจะทำให้เกิดความแตกต่างอะไร นอกเสียจากกลายเป็นว่าคนเหล่านี้จะสามารถมาคุมเสียงอีก 200 กว่าเสียงได้ ยิ่งทำให้เกิดความสับสน ข้อเท็จจริงคือ คนเหล่านี้ซึ่งมีความรับผิดชอบด้านความมั่นคงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทั้งกองทัพ และตำรวจทั้งประเทศอยู่แล้ว หากกังวลว่าจะทำงานไม่ได้เพราะรัฐบาลใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงก็ควรทำการปฏิรูประบบไม่ถูกแทรกแซง ไม่ใช่การมาเขียนบทเฉพาะกาลให้มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งจะไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาถาวร และเป็นการให้อำนาจซ้อนอำนาจ

เมื่อถามว่า หาก กรธ.ปรับแก้ตามข้อเสนอของ คสช.จะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า คิดว่าทาง กรธ.ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ และเป็นกำลังใจให้ แต่หาก กรธ.ยืนในสิ่งที่เห็นว่าเป็นหลักการที่ดี เพราฉะนั้นสิ่งที่ กรธ.ต้องคิดให้มากคือการยอมรับจากประชาชนมากกกว่าที่จะต้องไปเกรงใจใคร หากทำระบบให้เกิดความสับสน ไม่สามารถสลัดข้อหาการสืบทอดอำนาจและความหวาดระแวงได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือความขัดแย้ง ในที่สุดตรงนี้จะเป็นตัวที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่ คสช.พยายามทำมาด้วย

“และถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็เป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะต้องจัดให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ความกังวลของผมคือ ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามติ จะมีคนที่ไม่พอใจออกมาโต้แย้ง สุดท้ายก็จะนำมาสู่การขอแก้ไข แต่ถ้าทำให้แก้ไขยาก ก็จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลายออกไปสู่กระบวนการอื่น สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าคำให้สัมภาษณ์ของผู้นำรัฐบาลระบุว่าจะเสนอความเห็นไปเรื่อยๆ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การแสดงออกค่อนข้างชัดแล้วว่าคิดกันย่างไร และนายมีชัยก็ทราบว่าแต่ละฝ่ายคิดกันอย่างไร ซึ่งเห็นชัดอยู่แล้วว่ากำลังจะสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ดังนั้นอย่าไปทำเลย ส่วนกฎหมายประชามติที่จะมีการห้ามรณรงค์ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลักการไม่มีปัญหา แต่ต้องดูว่าการวินิจฉัยเที่ยงธรรมและต้องระมัดระวัง เราต้องการให้กระบวนการประชามติ สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญ ดังนั้นกระบวนการต้องเปิดกว้าง การณรงค์วิพากษ์วิจารณ์อาจทำได้ แต่อะไรที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ต้องเป็นความผิดเหมือนกัน แต่ถ้าไปจำกัดกรอบเกินไปก็ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกจำกัด อาจถูกหยิบยกมาเป็นปัญหา หรือเงื่อนไขอีกว่า กระบวนการประชามติได้ให้สิ่งที่เราต้องการหรือไม่ คือ ความชอบธรรม และภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญ เมื่อนายกฯบอกว่าไม่ได้เดือดร้อนไม่ผ่านก็ร่างเอง เพราะฉะนั้นก็ควรเปิดให้มีการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของทุกคน ใช้บังคับกับทุกคน

“ผมเชื่อว่านายกฯ ไม่ได้อยากจะยื้ออำนาจ แต่เข้าใจความกังวลว่าสภาพปัญหาจะกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่ แต่ต้องวินิจฉัยปัญหาให้ถูก และแก้ปัญหาให้ตรงไปตรงมา และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อหวาดระแวงว่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้วยการสืบทอดอำนาจ”

ส่วนการกำหนดระบบเลือกตั้งเป็นแบบเขตพวงใหญ่ ให้พรรคส่งได้ 3 คน แต่ประชาชนเลือกได้คนเดียวนั้น การวางระบบไว้เช่นนี้จะมีผลกระทบต่อพรรคการเมืองอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงได้ยากยิ่งขึ้น และต้องดูต่อไปว่าข้อเสนอนี้ มาพร้อมกับการถอดบทบัญญัติการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง และการให้ ส.ว.แต่งตั้ง สามารถล้มรัฐบาลได้ แสดงให้เห็นว่ากำลังจะเข้าสู่ระบบการเมืองที่นักการเมืองจะต่อรองผลประโยชน์กันเอง มากกว่าที่จะให้การเลือกตั้ง เป็นสิ่งกำหนดอนาคตของประเทศว่าจะไปอย่างไร

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่รัฐบาลใช้เสียงข้างมากไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงควรแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่มาลบล้างเจตนารมณ์ของประชาชน ประเทศไทย วันนี้ไม่ทราบว่ายังยึดหลักคะแนนของพรรคเป็นตัวกำหนดจำนวน ส.ส.หรือไม่ ถ้าไม่เป็น ถามว่าการเลือกตั้งอย่างนี้ทำให้สัดส่วนในสภาไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนในเรื่องนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ ถ้ายึดเอาคะแนนพรรคมาเป็นตัวกำหนด จะทำให้เกิดปัญหามาก เพราะจำนวน ส.ส.เขต กับคะแนนสัดส่วนของพรรค จากนี้ไปจะห่างกันมาก จะทำให้การจัดสรรหลังการเลือกตั้งไม่ลงตัว แต่ยังเชื่อว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.จะพิจารณาข้อเสนอนี้ด้วยความรอบคอบ

“กรธ.วันนี้คือทำรัฐธรรมนูญให้ประชาชนยอมรับ ฉะนั้น บรรทัดสุดท้ายถ้าท่านทำรัฐธรรมนูญที่คนพอใจ และผ่านการทำประชามติ นั่นเป็นกฎหมายที่จะใช้กับคนทั้งประเทศ ท่านไม่ต้องเกรงใจว่าใครเป็นผู้เสนอเรื่องใด อะไร แต่ขอให้ดูเนื้อหา สาระของข้อเสนอนั้นโดยใช้เหตุผล และยื่นสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนยอมรับ นั่นก็จะดีที่สุดต่อท่าน สังคม และประเทศชาติ” นายอภิสิทธิ์กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น