xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมถึง ? ดัน “บัตรประชาชนใส่รายได้-อาชีพ” - รบ.ยันไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.58  พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หลังเป็นประธานในพิธีเปิดกองทุนการออมแห่งชาติ โดยได้พบปะพูดคุยกับประชาชนที่มารอเปิดบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติ พร้อมผุดไอเดียว่า การเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ และรายได้ต่อปี ลงในบัตรประชาชน เพื่อให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง
ตามดู นโยบายบัตรประชาชน ระบุ อาชีพและรายได้ของ “บิ๊กตู่” ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จในปี 2560 เผย เป็นการทำฐานข้อมูล เพื่อแสดงตัวช่วยให้ “นโยบายการลดภาระค่าครองชีพ” ไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สั่งกระทรวงการคลัง ยกร่างกฎหมาย ให้อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ด้าน โฆษกรัฐ ย้ำ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หวังช่วยคนรายได้น้อยตรงตัวบุคคล ขออย่าทำสับสน

วันนี้ (13 ธ.ค.) มีรายงานว่า ภายหลังเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่ง ถึงนโยบายบัตรประชาชนระบุอาชีพและรายได้ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จในปี 2560

“ตนได้เน้นว่า ปี 2560 บัตรประชาชนน่าจะมีการระบุอาชีพและรายได้ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างไรให้เหมาะสม”

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาการเสียภาษี เช่น การเสียภาษีซ้ำซ้อน การรั่วไหลของภาษี รวมถึงลดขั้นตอนการเสียภาษี พัฒนาฐานข้อมูลการเสียภาษีให้เชื่อมโยงกับข้อมูลทะเบียนราษฎร กับบริการภาครัฐทั้งระบบ เช่น รายได้ของชาวนา เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น รถไฟฟรี รถขนส่งมวลชนฟรี เป็นต้น โดยให้มีการยกร่างกฎหมายและอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย

ประเด็นนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า เราต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระค่าครองชีพยังลงไปไม่ถูกกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เช่น นโยบายรถเมล์และรถไฟฟรีที่ใครก็สามารถใช้บริการได้หมด เป็นต้น

ดังนั้น การทำฐานข้อมูลที่มีการระบุรายได้และอาชีพแบบใหม่นี้จะเป็นการแสดงตัวช่วยให้นโยบายการลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมระบบภาษี ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีไม่ใช่การรีดภาษี แต่อยากให้ประชาชนอยู่ในระบบภาษีที่เหมาะสมตามลำดับรายได้ของแต่ละบุคคล เพื่อนำเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ยังช่วยเอื้อประโยชน์ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการตรวจสอบที่ยากเพราะต้องผ่านหลายหน่วยงาน จึงทำให้มีความผิดพลาดเงินช่วยเหลือที่จ่ายไปไม่ตรงตัวบุคคล

ส่วนการที่มีบางฝ่ายกังวลว่านโยบายบัตรประชาชนแบบระบุอาชีพ และรายได้จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ขอยืนยันว่าการแสดงข้อมูลมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยากถามผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่ อย่าเพียงตั้งข้อสังเกต แต่ต้องมีข้อเสนอแนะด้วยเพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความสับสนและขอให้มองที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วย

มีรายงานว่า ล่าสุดกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ และเตรียมเสนอไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายในปีนี้ เพื่อสอดคล้องกับกระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานด้านสังคม

“หลักการคือเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับทะเบียนราษฎร และให้ประชาชนยื่นแบบแสดงรายได้เพื่อนำข้อมูลรายได้ภูมิลำเนานี้ไปใช้ สำหรับจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเหมาะสม และทำได้ตรงกับความจำเป็นของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จะมีการเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อดูแลด้านสวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิเบี้ยคนชรา เป็นต้น โดยเป้าหมายคือ คนไทยทุกคนเบื้องต้นอาจอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้เข้ามายื่นแบบแสดงรายได้ และให้สิทธิประโยชน์จูงใจ เช่น ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์จะได้ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี ใช้น้ำฟรี ไฟฟรี 50 หน่วย ซึ่งรายละเอียดพวกนี้ต้องเคาะอีกทีเพราะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

มีรายงานว่า ประเด็นบัตรประชาชนแบบใหม่ นายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องนี้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 58 มีใจความว่า คนไทยยังเข้าสู่ระบบภาษีน้อยมาก ประมาณ 30% ที่เหลือก็เป็นผู้มีรายได้น้อย จะให้เข้าสู่ระบบก็ไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะทำอย่างไร เพราะเราไม่มีข้อมูลพื้นฐานที่ชัดเจนว่า คนที่มีรายได้น้อยเป็นใครบ้าง กำลังพิจารณาว่าจะต้องใส่ข้อมูลในบัตรประจำตัวด้วยหรือไม่เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลไว้ หากจะหางานในวันข้างหน้าก็จะรู้

จีดีพีของประเทศวันนี้ได้มาจากการส่งออกอย่างเดียว 70% แต่เมื่อกำลังซื้อลดลง เพราะเศรษฐกิจรอบบ้าน ถามว่าใช่ความผิดของเราหรือไม่ ก็ไม่ใช่เพราะทั้งโลกเป็นแบบนี้และตลาดของเราก็แย่งกับคนอื่นเขาหมด ราคาสินค้าเราสูงกว่าเขา เพราะไม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้จึงแข่งขันกับเขาไม่ได้ วันนี้รัฐบาลทำทุกอย่างแต่สินค้าที่จะไปขายคนอื่นเขาไม่ได้เตรียมการมาล่วงหน้า

สำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยก็เข้าไปสู่กระบวนการที่ได้มาของเงินในแบบต่าง ๆ เช่น บ่อน การค้าขายของข้างทาง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีประมาณ 1 ใน 3 ของเงินที่หมุนเวียน แต่เมื่อทุกอย่างหยุดก็เหมือนแช่แข็งไว้ ทำอะไรได้ไม่มาก แต่ตนจะไม่ปล่อยเรื่องเหล่านี้ไปและจะหาทางแก้ต่อไป

เมื่อถามว่า กระบวนการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภาษีของรัฐบาลถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ เขาคิดแบบเดิม วันนี้ยกตัวอย่าง เขาขึ้น 1%ของเงินหมื่นบาท กับ 1% ของ 100 ล้านบาทเท่ากันหรือไม่ ซึ่งตัวเลขของเปอร์เซ็นต์ของการเก็บเท่ากัน แต่จำนวนสินทรัพย์ไม่เท่ากัน อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นธรรมแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครมีมากมีน้อย เรื่องที่ดินถ้าไม่ทำประโยชน์ก็จะเก็บเพิ่ม นี่เรียกว่าความเป็นธรรม

ต่อข้อถามว่าเมื่อเก็บภาษีที่ดินแล้วจะไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ คนละเรื่องกัน ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายของคนในประเทศที่จะซื้อของใช้และเก็บได้ทุกคน ทุกคนมีส่วนพัฒนาประเทศจากภาษีตรงนี้ แต่ภาษีอื่น ๆ เก็บได้ไม่ทั่วถึง บางคนเสียบางคนก็ไม่เสีย เราจึงพยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อให้มีเม็ดเงินมากขึ้นเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย ตนถามบรรดาเจ้าสัวเขาก็ยืนดีที่จะเสียภาษี และเก็บแล้วต้องบอกให้ชัดเจนว่าจะนำเงินไปทำอะไร ทั้งนี้การเก็บภาษีโรงเรือนจะให้ท้องถิ่นเป็นผู้เก็บและเดิมภาษีดังกล่าวเก็บได้น้อย

เมื่อถามว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบการจัดเก็บให้เกิดความโปร่งใสอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังทำอยู่ อีก 2 ปี ถึงจะใช้เพราะไปออกประกาศใช้ปี 2560 และในช่วง 2 ปีนี้ ต้องไปสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นและมีกลไกการตรวจสอบ ต้องทำกระบวนการเหล่านี้ให้แล้วเสร็จ

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 58 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หลังเป็นประธานในพิธีเปิดกองทุนการออมแห่งชาติ โดยได้พบปะพูดคุยกับประชาชนที่มารอเปิดบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติ พร้อมผุดไอเดียว่า การเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ และรายได้ต่อปี ลงในบัตรประชาชน เพื่อให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง

มีข้อความถึงการนำ “อาชีพ - รายได้ต่อปี” ไว้บนบัตรประชาชน ว่า “รัฐบาลจะได้รู้ว่าจะต้องช่วยใคร ยังไง ใครต้องเสียภาษี ไม่เสียภาษี ไม่อยากให้เป็นประชานิยม คุย กองทุนเงินออมแห่งชาติเป็น บำนาญคนจน ช่วยคนจนจริง ๆ ถือเป็นผลงาน ของ รัฐบาล ประยุทธ์1 - 2 - 3….ตบท้าย ชาวบ้านบอก ขอให้ท่านอยู่นาน ๆ”

ต่อมากระแสดังกล่าวได้กระจายไปในโลกโซเชียล อย่างเช่น ทวิตเตอร์ ที่มีการทวีตข้อความเลียนแบบในบัตรประชาชนแบบใหม่ พร้อมติดแฮชแท็ก #บัตรประชาชนแบบใหม่ กันอย่างคึกคัก



กำลังโหลดความคิดเห็น