xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ซัดที่ปรึกษาพลังงานนายกฯ ดูแคลน-ป้ายสี คปพ.หวังอุ้มทุนผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล (แฟ้มภาพ)
อดีต สปช.ด้านพลังงาน โต้กรรมการซูเปอร์บอร์ด เขียนบทความเร่งเร้าเปิดสัมปทาน กล่าวหา คปพ.เสนอแนวทางชาตินิยมนำไปสู่หายนะ ชี้เป็นการบิดเบือนป้ายสีภาคประชาชน คงอิทธิพลกลุ่มทุนผูกขาดพลังงานภายใต้เสื้อคลุมทุนเสรี ถามกลับ มาเลเซียตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วกลายเป็นสังคมนิยมหรือไม่

วันนี้ (26 พ.ย.) เมื่อเวลา 00.05 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาปฎรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเพซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล เพื่อตอบโต้กรณีนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และที่ปรึกษาด้านพลังงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เขียนบทความเรื่อง “ว่าด้วยข้อพิพาททางพลังงานอีกครั้งหนึ่ง” เผยแพร่ในในเว็บไซต์ http://thaipublica.org ที่นายบรรยงเป็นกรรมการที่ปรึกษาอยู่ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา

น.ส.รสนาระบุว่า นายบรรยงจงใจกล่าวพาดพิงเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และ น.ส.รสนาตรงๆ ด้วยอาการดูถูกดูแคลนแบบเดิมๆ โดยเนื้อหาสรุปในบทความดังกล่าว คือการเร่งเร้าให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งของนโยบายพลังงาน ซึ่งก็คือแนวทางของพวกนายบรรยงใน กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน(ERS) โดยอ้างว่าแนวทางของตนคือ “ทุนนิยมเสรี” เป็นแนวทางปฏิบัติในสากลโลกที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ส่วนแนวทางของ คปพ.เป็นแนวทางที่ล้มเหลวโดยยกตัวอย่างบรรดาประเทศฝ่ายซ้ายมาเป็นตัวอย่างและเรียกแนวทางข้อเสนอของ คปพ.ว่าเป็นแนวทางสังคมนิยมชาตินิยมที่จะพาการพัฒนาประเทศไปสู่หายนะ ซึ่งเป็นการยกทฤษฎีสุดโต่งสองขั้วที่ต่อสู้กันระหว่างสังคมนิยมชาตินิยมกับทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ตกยุคไปนานแล้ว เป็นการให้ร้ายป้ายสีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความต้องการคงการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงานเอาไว้ภายใต้เสื้อคลุมทุนนิยมเสรี

“ดิฉันไม่เคยสมาทานลัทธิสังคมนิยมคอมมูนิสต์ ดิฉันสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม สิ่งที่ดิฉันต่อต้านคือทุนนิยมผูกขาด แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา “ตลาดเสรี ต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่”

น.ส.รสนาระบุอีกว่า นายบรรยงกล่าวหาว่า NGOs มีแต่ทักษะ “การขัดขวาง การต่อต้าน การทำลาย” คงลืมไปแล้วหรือแกล้งจำไม่ได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ทำลายบ้านเมืองแทบสิ้นเนื้อประดาตัวไม่ได้มาจาก NGOs หรือหนี้ของภาครัฐ แต่เกิดจากภาคเอกชนที่ไร้วินัยทางการเงิน ที่เพื่อนร่วมอาชีพของนายบรรยงได้ทำไว้กับประเทศไทยเมื่อปี 2540 สิ่งที่ทำลายระบบหรือองค์กรนั้นล้วนมาจากความไร้ธรรมาภิบาลและความด้อยประสิทธิภาพจากภายในเอง หาใช่การตรวจสอบหรือการโจมตีจากภายนอกแต่อย่างใดไม่ ขอให้ดูตัวอย่างบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง Enron ที่ล้มละลายจากการตกแต่งบัญชีและการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรของตัวเอง

“คุณบรรยงปรามาสว่าถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะคงจะทำอะไรไม่เป็น คงจะเอาแต่สั่งลดราคาเอาใจประชาชนจนขาดทุน จนต้องไปเอาภาษีรัฐมาอุด ถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะ สิ่งแรกที่ดิฉันจะทำคือ สั่งยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมาย แต่ล้วงกระเป๋าคนใช้น้ำมัน และก๊าซแอลพีจีจนสะสมเงินได้ถึง 40,000 ล้านบาท และยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่ก็ล้วงกระเป๋าคนใช้น้ำมันถึงปีละ 8-9 พันล้านบาท ปัจจุบันก็มีเงินอยู่ในกองทุนถึง 40,000 ล้านบาท แค่ 2 กองทุนก็ล้วงกระเป๋าประชาชนไปถึง 80,000 ล้านบาท แค่ยกเลิก 2 กองทุนนี้ก็ลดภาระบนหลังของประชาชนที่ต้องแบกได้พอสมควรแล้ว และด้วยการทำแบบนี้ ก็จะเป็นการสะท้อนราคาตามกลไกตลาดอย่างที่คุณต้องการ”

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า ถ้าตนได้นั่งหัวโต๊ะ จะจัดการไม่ให้มีกลไกผูกขาดอย่างที่เป็นอยู่ จะให้ ปตท.แปรรูปเป็นเอกชน 100% และต้องจัดการนำท่อก๊าซ ท่าเรือ คลังก๊าซที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติกลับมาเป็นของรัฐเสียก่อน ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ผูกขาดของเอกชนรายใดรายหนึ่ง หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนหลายรายสามารถเช่าใช้ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามหลักเศรษฐกิจเสรี นอกจากนี้กิจการก๊าซทั้งระบบซึ่งเป็นระบบที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจะปล่อยให้เป็นกิจการของเอกชนไม่ได้ กิจการนี้ต้องนำกลับมาเป็นของรัฐ ส่วนกิจการใดของ ปตท.ที่มีการแข่งขันให้เป็นเอกชนได้ 100%

น.ส.รสนาระบุอีกว่า สมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS ของนายบรรยงนั้น เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูง เพราะมีข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ทั้งอดีตปลัดและอธิบดีปัจจุบันที่เป็นกรรมการบริหารกองทุนอนุรักษ์พลังงานด้วย สมาชิก ERS ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมีอำนาจเป็นผู้กำหนดว่าเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะถูกใช้ไปทางใดบ้าง กองทุนอนุรักษ์พลังงานผูกขาดการให้ทุนผ่านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานนับสิบปี โดยมีประธาน ERS มานั่งเป็นประธานมูลนิธิอีกด้วย สมาชิก ERS หลายคนก็ไปเป็นกรรมการในกองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน บางคนก็ไปนั่งเป็นบอร์ดในบริษัท ปตท.และบริษัทลูกของ ปตท. รวมทั้งได้เป็นซูเปอร์บอร์ดดูแลบรรดารัฐวิสาหกิจ โครงข่ายของกลุ่มนายบรรยงโยงใยเป็นหนวดปลาหมึก และมีที่ทางอยู่ในหน่วยงานที่มีทั้งอำนาจและงบประมาณมหาศาลแบบนี้ นายบรรยงเห็นว่านี่คือวิถีทางแบบทุนนิยมเสรี ที่ไม่มีการผูกขาดและมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ

“การกล่าวหาข้อเรียกร้องของ คปพ.เรื่องให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ว่าเป็นเรื่องชาตินิยม สังคมนิยม ถึงกับจะพาประเทศไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ไม่ลองหันไปมองประเทศใกล้บ้านเราอย่างมาเลเซียบ้างหรือ มาเลเซียตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาดูแลบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำ ทำให้มาเลเซียกลายเป็นสังคมนิยมหรือเปล่า? ทำให้มาเลเซียกลายเป็นพวกชาตินิยมที่ยึดทรัพย์สินเอกชนมาเป็นของรัฐหรือเปล่า?”

น.ส.รสนาระบุอีกว่า สาเหตุคนกลุ่มนี้กลัว “ระบบแบ่งปันผลผลิต” และเชิดชู “ระบบสัมปทาน” เพราะหลักการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมที่พบ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” กรรมสิทธิ์เป็นของประเทศ ส่วน “ระบบสัมปทาน” กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน ทุนพลังงานเอกชนไม่อยากให้เจ้าของทรัพย์รู้ว่าตัวเองมีทรัพย์อยู่มากน้อยเท่าไหร่ และหว่านล้อมรัฐบาลว่า ไม่คุ้มหรอกที่รัฐจะลงทุนเพื่อรู้ว่าเรามีทรัพย์สินเท่าไหร่กันแน่ คนเหล่านี้ชี้นำทำนองว่า แหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยเหลือน้อย ถ้าเปรียบเป็นลูกสาวก็ไม่สวย ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถ้าเรียกสินสอดมาก ๆ จะขายลูกสาวไม่ออก ระบบแบ่งปันผลผลิตก็คือจะเรียกสินสอดแพง ทำให้คนไม่มาขอ ส่วนระบบสัมปทานเป็นสินสอดที่เหมาะสมแล้วกับลูกสาวขี้เหร่

ส่วนการอ้างเรื่อง คปพ.เขียนกฎหมายให้พวกตนเองได้เข้าไปเป็นกรรมการในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เป็นเพียงการเอาประเด็นเล็กมาโจมตีเพื่อปิดบังหลักการใหญ่เรื่องเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์จากของเอกชนมาเป็นของประเทศเจ้าของทรัพยากร ซึ่งการมีระบบแบ่งปันผลผลิตและบรรษัทพลังงานแห่งชาติจะทำให้เอกชนไม่มีโอกาสโชติช่วงชัชวาลจากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยเหมือนแต่ก่อนเท่านั้นเอง



บทความฉบับเต็มของในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล

“อย่าบิดเบือนการตรวจสอบของประชาชนด้วยความคิดตกยุคของทุนผูกขาดล้าหลัง"

ดิฉันได้อ่านบทความคุณบรรยง พงษ์พานิช "ว่าด้วยข้อพิพาททางพลังงานอีกครั้งหนึ่ง" เพราะมีเพื่อนส่งมาให้อ่านโดยปกติดิฉันไม่ได้สนใจที่จะไปหาอ่านงานเขียนของท่านหรือกลุ่มของท่าน ตั้งแต่ได้อ่านข้อเขียนก่อนหน้านี้ของท่านที่แสดงความคิดเห็นอันไม่สมควรต่อคนเพศแม่

ในบทความวันที่22พฤศจิกายน2558ของท่านจงใจกล่าวพาดพิงเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ) และดิฉันตรงๆ ด้วยอาการดูถูกดูแคลนแบบเดิมๆตามนิสัยส่วนตัวของท่าน

เนื้อหาโดยสรุปในบทความท่านคือการเร่งเร้าให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งของนโยบายพลังงาน ซึ่งก็คือแนวทางของพวกท่านใน"กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน" นั่นเองโดยอ้างว่าแนวทางของตนคือ "ทุนนิยมเสรี"(Capitalism)เป็นแนวทางปฏิบัติในสากลโลกที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ส่วนแนวทางของคปพ.เป็นแนวทางที่ล้มเหลวโดยยกตัวอย่างบรรดาประเทศฝ่ายซ้ายมาเป็นตัวอย่างและเรียกแนวทางข้อเสนอของคปพ.ว่าเป็นแนวทาง สังคมนิยม&ชาตินิยม( Socialism&Nationalism) ที่จะพาการพัฒนาประเทศไปสู่หายนะ

คุณบรรยงกำลังปลุกผีให้สังคมเกลียดกลัว NGOs โดยวาดภาพNGOs ว่าเป็นพวกที่มีทักษะแค่"การขัดขวาง การต่อต้าน การทำลาย" ซึ่งไม่ต่างจากยุคสมัยที่มีการปลุกผีคอมมูนิสต์ให้คนไทยเกลียดกลัว สมัยนั้นมีการวาดภาพคอมมูนิสต์เป็นรูปผีรูปยักษ์มีเขี้ยว มีการปลุกความกลัวความเกลียดชังไปถึงขั้น "ฆ่าคอมมูนิสต์ไม่บาป"

ประเทศไทยไม่เคยเป็นประเทศโซเชียลิสต์ และคนไทยก็ไม่เคยมีความชาตินิยมที่มีผลทางเศรษฐกิจต่อประเทศเหมือนประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่นที่แสดงความชาตินิยมทางเศรษฐกิจด้วยการใช้แต่สินค้าของตนเอง จนสมัยหนึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นต้องขอให้ประชาชนใช้สินค้าของประเทศอื่นบ้าง โดยที่ก่อนหน้านั้นสหรัฐอเมริกาก็เคยอาศัยลัทธิอเมริกันนิยม สร้างการตลาดทุนนิยมอันยิ่งใหญ่ให้อเมริกามาแล้ว ในยุคปัจจุบันกระแสชาตินิยมของเกาหลีใต้ก็ช่วยสร้างความเติบโตแบบก้าวกระโดดให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จริงอยู่แม้ประเทศทุนนิยมเหล่านั้นไม่เคยดำเนินนโยบายทุนนิยมโดยรัฐ(State Capitalism)เหมือนกับที่ไทยเคยสมาทานมาในยุคเผด็จการทหาร แต่เนื่องจากไทยเป็นชาตินิยมแต่ปาก หากไม่เคยมีความรู้สึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจจริงจังอะไร เพราะมีค่านิยมซื้อสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยจากเมืองนอกและดูถูกสินค้าไทย ดังนั้น แม้ทุนชาตินิยมของรัฐไทยจะมีอำนาจผูกขาด มีอภิสิทธิ์สารพัด แต่เพราะบริหารอย่างขาดธรรมาภิบาล ขาดการตรวจสอบและไร้ประสิทธิภาพ ทุนนิยมไทยจึงไปไม่ถึงไหน ส่วนที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็ทะยอยล้มหายตายจากไปจนเกือบหมดเพราะแข่งขันสู้กับธุรกิจเอกชนไม่ได้ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาดไร้คู่แข่งขัน อย่างเช่น การไฟฟ้า การประปา รวมถึงการปิโตรเลียมด้วย

โชคดีที่สังคมไทยไม่เคยสุดโต่งถึงขนาดกลายเป็นรัฐสังคมนิยม ซึ่งนอกจากจะไม่มีโอกาสพัฒนากลายเป็นรัฐสังคมนิยมที่มั่งคั่งร่ำรวยอย่างจีนที่รู้จักประยุกต์เศรษฐกิจทุนนิยมผสมคอมมิวนิสต์(Mixed Economic)แล้ว ก็อาจจะกลายเป็นแบบประเทศเกาหลีเหนืออย่างที่คุณบรรยงวิตกกังวลก็ได้ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันนะว่า ทุนนิยมที่สอดไส้อำนาจนิยมและการผูกขาดแบบไทยๆอย่างที่เป็นอยู่ สักวันหนึ่ง อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ไม่ดีไปกว่ารัฐสังคมนิยมที่พวกท่านดูแคลน

การยกทฤษฎีสุดโต่งสองขั้วที่ต่อสู้กันระหว่างสังคมนิยมชาตินิยม กับ ทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ตกยุคไปนานแล้ว เป็นการให้ร้ายป้ายสีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความต้องการคงการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงานเอาไว้ภายใต้เสื้อคลุมทุนนิยมเสรี ดิฉันไม่เคยสมาทานลัทธิสังคมนิยมคอมมูนิสต์

ดิฉันสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม สิ่งที่ดิฉันต่อต้านคือทุนนิยมผูกขาด แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา "ตลาดเสรี ต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่"

คุณบรรยงกล่าวหาว่า NGOs มีแต่ทักษะ "การขัดขวาง การต่อต้าน การทำลาย" คงลืมไปแล้วหรือแกล้งจำไม่ได้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ทำลายบ้านเมืองแทบสิ้นเนื้อประดาตัวไม่ได้มาจาก NGOs หรือหนี้ของภาครัฐ แต่เกิดจากภาคเอกชนที่ไร้วินัยทางการเงิน ที่เพื่อนร่วมอาชีพของคุณบรรยงได้ทำไว้กับประเทศไทย เมื่อปี2540 และเป็นมรดกบาปให้กับประชาชนที่ต้องมาใช้หนี้ให้ภาคเอกชนของพวกคุณที่ล้มบนฟูก

NGOs ส่วนใหญ่เป็นเพียงองค์กรพัฒนาเอกชนเล็กๆ(เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชน) ที่มีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเหมือนพลเมืองทั่วไปในการตรวจสอบการใช้ภาษีของประชาชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม แน่นอนNGOsไม่ใช่องค์กรวิเศษวิโสอะไร แต่ก็พอมีผลงานพัฒนาและการตรวจสอบอันเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยตามสมควร ใครก็ตามที่มองว่าการทำงานตรวจสอบของNGOsเป็นการทำลาย ถ้าไม่มีอคติส่วนตัวหรือเป็นวัวสันหลังหวะเสียเอง ก็ควรกลับไปทบทวนเสียใหม่ว่า สิ่งที่ทำลายระบบหรือองค์กรนั้นล้วนมาจากความไร้ธรรมาภิบาลและความด้อยประสิทธิภาพจากภายในเอง หาใช่การตรวจสอบหรือการโจมตีจากภายนอกแต่อย่างใดไม่ ขอให้ดูตัวอย่างบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง Enron ที่ล้มละลายจากการตกแต่งบัญชีและการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรของตัวเอง

อันที่จริงสังคมประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม-เสรีประชาธิปไตย ที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมประชาธิปไตยแบบอเมริกาหรือสังคมประชาธิปไตยแบบกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและเยอรมนี ล้วนเป็นสังคมที่เปิดกว้างให้มีกลไกการตรวจสอบอย่างเข้มข้นโปร่งใสทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าในประเทศต้นแบบของเสรีทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา จึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้กับกลุ่มทุนผูกขาด และผู้ที่ชูธงนำต่อต้านการควบรวมบรรษัท(Anti-Trust)ที่มีอำนาจเหนือตลาด ก็ไม่ใช่NGOsเสียงนกเสียงกาอย่างพวกดิฉัน แต่เป็นถึงประธานาธิบดีอย่างวู๊ดโรว์วิลสัน(Woodrow Wilson)ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 2 สมัย 8 ปีเต็ม

ต้นเหตุที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายแอนตี้ทรัสต์ เกิดจากชาวอเมริกันไม่พอใจที่กลุ่มนายทุนผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเช่น น้ำตาลและน้ำมัน มาร่วมกันจัดตั้งทรัสต์(Trust) เพื่อลดการแข่งขันทางการค้าระหว่างกันและเพื่อผูกขาดการค้าด้วย ส่งผลให้สินค้าเหล่านั้นมีราคาสูงลิบลิ่ว ตามกฎหมายการแข่งขันการค้าของสหรัฐอเมริกา ถือว่าการควบรวมกิจการเป็นพฤติกรรมทางธุรกิจที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาดและถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง กฎหมายแอนตี้ทรัสต์ฉบับแรกของอเมริกาถือกำเนิดมากว่า100ปีแล้ว(Sherman Act : ค.ศ.1890) และยังมีกฎหมายควบคุมการควบรวมกิจการ(Merger Control)และห้ามการผูกขาดการค้า(Monopolization)ออกมาอีกหลายฉบับ ในขณะที่ไทยเพิ่งมีกฎหมายการแข่งขันทางการฉบับแรกและฉบับเดียวเมื่อปีพ.ศ.2542ซึ่งเป็นเสือกระดาษที่ยังจับสุนัขจิ้งจอกในเล้าไก่ไม่ได้สักตัว ดิฉันชื่นชมผู้นำทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยของอเมริกัน ที่กล้าต่อสู้กับการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่

บริษัทน้ำมันอเมริกันรายหนึ่งเคยมาให้ข้อมูลในกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตฯวุฒิสภา กล่าวว่าบริษัทของเขาถูกสั่งให้แยกบริษัทเมื่อมีอำนาจเหนือตลาดเกิน30% แต่ในประเทศไทย รัฐบาลกลับปล่อยให้มีการควบรวมบริษัทน้ำมันกับบริษัทปิโตรเคมี ทั้งยังแสดงความภาคภูมิใจว่าเป็นการควบรวมที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ซึ่งเป็นการควบรวมแนวดิ่ง (Vertical Integration) ทำให้เกิดการแย่งใช้ก๊าซแอลพีจีกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม

คุณบรรยงปรามาสว่าถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะคงจะทำอะไรไม่เป็น คงจะเอาแต่สั่งลดราคาเอาใจประชาชนจนขาดทุน จนต้องไปเอาภาษีรัฐมาอุด

ถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะ สิ่งแรกที่ดิฉันจะทำคือ สั่งยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมาย แต่ล้วงกระเป๋าคนใช้น้ำมัน และก๊าซแอลพีจีจนสะสมเงินได้ถึง 40,000 ล้านบาท และยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่ก็ล้วงกระเป๋าคนใช้น้ำมันถึงปีละ8-9พันล้านบาท ปัจจุบันก็มีเงินอยู่ในกองทุนถึง 40,000 ล้านบาท แค่2กองทุนก็ล้วงกระเป๋าประชาชนไปถึง 80,000 ล้านบาท

แค่ยกเลิก 2 กองทุนนี้ก็ลดภาระบนหลังของประชาชนที่ต้องแบกได้พอสมควรแล้ว และด้วยการทำแบบนี้ ก็จะเป็นการสะท้อนราคาตามกลไกตลาดอย่างที่คุณต้องการ

ถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะ จะให้ ปตท.แปรรูปเป็นเอกชน 100% แต่ก่อนอื่นต้องจัดการนำท่อก๊าซ ท่าเรือ คลังก๊าซที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติกลับมาเป็นของรัฐเสียก่อน ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ผูกขาดของเอกชนรายใดรายหนึ่ง หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนหลายรายสามารถเช่าใช้ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามหลักเศรษฐกิจเสรี

นอกจากนี้กิจการก๊าซทั้งระบบซึ่งเป็นระบบที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจะปล่อยให้เป็นกิจการของเอกชนไม่ได้ กิจการนี้ต้องนำกลับมาเป็นของรัฐ ส่วนกิจการใดของปตท.ที่มีการแข่งขันให้เป็นเอกชนได้ 100%

ถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะ จะจัดการไม่ให้มีกลไกผูกขาดอย่างที่เป็นอยู่ ขอยกตัวอย่างสักเรื่อง สมัยที่อยู่สภาปฏิรูปแห่งชาติในปี2557 ในการประชุมสปช.ด้านพลังงานครั้งหนึ่ง มีบริษัทก๊าซแอลพีจีหลายบริษัทมาเสนอว่าต้องการให้กระทรวงพลังงานเปิดให้มีการประมูลการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ใครประมูลได้ถูกที่สุดก็ให้เป็นผู้ได้สิทธิในการนำเข้ามา ถ้าใช้วิธีนี้ ราคาก๊าซนำเข้าจะถูกกว่าที่เป็นอยู่แต่ตัวแทนกระทรวงพลังงานไม่สามารถตัดสินใจใดๆ เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่กับผู้บริหารในกระทรวงพลังงาน ซึ่งหลายท่านนั่งเป็นบอร์ด ปตท.จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เอื้อปตท.เช่น การอนุมัติให้เอากองทุนน้ำมันอุดหนุนค่าโสหุ้ยการนำเข้าแอลพีจีของ บริษัทปตท.80 เหรียญ/ตัน นอกจากนี้อุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างท่าเรือก็เป็นกรรมสิทธิผูกขาดของ บริษัทปตท.ใครมาใช้ต้องจ่ายค่าเช่าครั้งละเป็นแสนบาท ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางราคา จึงไม่เกิดการแข่งขันทางราคาที่เป็นจริง นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่มีการใช้กองทุนน้ำมันบิดเบือนกลไกราคา

ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงานเก็บเงินจากประชาชนที่ใช้น้ำมันลิตรละ25สต. ได้เงินปีละ 8,000-9,000ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินอยู่ถึง40,000ล้านบาทแล้ว ควรต้องหยุดเก็บเงิน และจะให้มีการตรวจสอบการใช้เงินและประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลว่า มีมรรคผลให้เกิดการประหยัดการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างไร

คุณบรรยงเคยทราบไหมว่า "กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน" มีวิธีการสร้างความยั่งยืนอย่างน่าสนใจ กล่าวคือสมาชิก ERS เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูง เพราะสมาชิก ERS มีข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ทั้งอดีตปลัดและอธิบดีปัจจุบันที่เป็นกรรมการบริหารกองทุนอนุรักษ์พลังงานด้วย สมาชิก ERS ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมีอำนาจเป็นผู้กำหนดว่าเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะถูกใช้ไปทางใดบ้าง กองทุนอนุรักษ์พลังงานผูกขาดการให้ทุนผ่านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานนับสิบปี โดยมีประธาน ERS มานั่งเป็นประธานมูลนิธิอีกด้วย สมาชิก ERS หลายคนก็ไปเป็นกรรมการในกองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน บางคนก็ไปนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทปตท.และบริษัทลูกของปตท. รวมทั้งได้เป็นซูเปอร์บอร์ดดูแลบรรดารัฐวิสาหกิจ โครงข่ายของกลุ่มคุณบรรยงโยงใยเป็นหนวดปลาหมึก และมีที่ทางอยู่ในหน่วยงานที่มีทั้งอำนาจและงบประมาณมหาศาลแบบนี้ คุณบรรยงเห็นว่านี่คือวิถีทางแบบทุนนิยมเสรี ที่ไม่มีการผูกขาดและไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า Conflict of Interest !?!

น่าแปลกที่รัฐบาลคสช.ก็ไม่ยักตรวจสอบกองทุนพวกนี้อย่างเข้มข้นบ้าง ซึ่งเป็นกองทุน Ear Mark Tax แบบเดียวกับ สสส. และแต่ละกองทุนยังมีเงินมหาศาลถึง 40,000 ล้านบาท กองทุนสสส.ได้เงินปีละ 4,000 ล้านบาท มีการประเมินประสิทธิภาพ และผลงาน ต้องมีรายงานทุกปี แต่รัฐบาลคสช.ตรวจสอบอย่างเข้มข้นเอาเป็นเอาตาย ซึ่งดิฉันขอยกมือสนับสนุนการตรวจสอบดังกล่าว ได้ข่าวมาว่าจะออกระเบียบว่าใครที่มาเป็นกรรมการกองทุนสสส. และเป็นกรรมการมูลนิธิหรือสมาคมด้วย จะมีกฎเกณฑ์ห้ามองค์กรนั้นมาขอทุนสสส. ดิฉันก็อยากให้รัฐบาลประกาศใช้ระเบียบนี้กับทุกกองทุนด้วย จะได้ไม่มีข้อครหาว่าเลือกปฏิบัติ

การออกอาการหงุดหงิด พาลพาโลหยิบยกเอาเรื่องทฤษฎีที่ตกยุคไปนานแล้วมาสาดโคลนกัน อ้างว่าเป็นประเด็นข้อพิพาทด้านนโยบายพลังงาน ดิฉันกลับมองว่าเป็นเพียงอาการที่คำพังเพยไทยเรียกว่า "สุนัขหวงราง"

การกล่าวหาข้อเรียกร้องของคปพ.เรื่องให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ว่าเป็นเรื่องชาตินิยม สังคมนิยม ถึงกับจะพาประเทศไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ไม่ลองหันไปมองประเทศใกล้บ้านเราอย่างมาเลเซียบ้างหรือ มาเลเซียตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาดูแลบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำทำให้มาเลเซียกลายเป็นสังคมนิยมหรือเปล่า? ทำให้มาเลเซียกลายเป็นพวกชาตินิยมที่ยึดทรัพย์สินเอกชนมาเป็นของรัฐหรือเปล่า?

สมาชิก ERS คนหนึ่งที่เป็นสมาชิก สปช. ยอมรับว่าถ้ารัฐบาลเลือกใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ก็ต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ การออกมาใส่ร้ายป้ายสีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากลุ่มของคุณไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้ "ระบบแบ่งปันผลผลิต" ส่วนสมาชิกของ ERS ที่เป็นระดับผู้บริหารในกระทรวงพลังงานอ้างว่าได้เพิ่มรูปแบบการแบ่งปันผลผลิตไว้ในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมแล้วตามที่คปพ.เรียกร้อง ในขณะเดียวกันสมาชิก ERS อีกส่วนก็ออกมาดิสเครดิต"ระบบการแบ่งปันผลผลิต" และ "บรรษัทพลังงานแห่งชาติ" การสักแต่บัญญัติในร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมว่ามีรูปแบบ "การแบ่งปันผลผลิต" และ"การจ้างผลิต" เอาไว้โดยไม่มีการสร้างกลไกรองรับรูปแบบดังกล่าว แสดงว่าเป็นเรื่องหลอกลวง ใช่ไหม?

เราควรตั้งคำถามว่าเหตุใดคนกลุ่มนี้จึงกลัว "ระบบแบ่งปันผลผลิต"กันนักถึงกับมีบางคนเขียนบทความเชิดชู"ระบบสัมปทาน" ว่าดีที่สุด โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน แต่"ระบบแบ่งปันผลผลิต" มีแต่คอร์รัปชัน ไม่โปร่งใส ทั้งที่ 2 ระบบมีโอกาสคอร์รัปชันได้เหมือนกันหมด หากไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดีพอ แต่คนกลุ่มนี้ไม่สนใจกลไกการตรวจสอบ มุ่งเน้นตัดสินดีชั่วไปที่ตัวรูปแบบเท่านั้น เพราะอะไร?ดิฉันคิดว่า เพราะหลักการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมที่พบ "ระบบแบ่งปันผลผลิต" กรรมสิทธิ์เป็นของประเทศ ส่วน"ระบบสัมปทาน" กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน ทุนพลังงานเอกชนไม่อยากให้เจ้าของทรัพย์รู้ว่าตัวเองมีทรัพย์อยู่มากน้อยเท่าไหร่ และหว่านล้อมรัฐบาลว่า ไม่คุ้มหรอกที่รัฐจะลงทุนเพื่อรู้ว่าเรามีทรัพย์สินเท่าไหร่กันแน่ คนเหล่านี้ชี้นำทำนองว่า แหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยเหลือน้อย ถ้าเปรียบเป็นลูกสาวก็ไม่สวย ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถ้าเรียกสินสอดมากๆ จะขายลูกสาวไม่ออก ระบบแบ่งปันผลผลิตก็คือจะเรียกสินสอดแพง ทำให้คนไม่มาขอ ส่วนระบบสัมปทานเป็นสินสอดที่เหมาะสมแล้วกับลูกสาวขี้เหร่

การอ้างเรื่องคปพ.เขียนกฎหมายให้พวกตนเองได้เข้าไปเป็นกรรมการในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เป็นเพียงการเอาประเด็นเล็กมาโจมตีเพื่อปิดบังหลักการใหญ่เรื่องเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์จากของเอกชนมาเป็นของประเทศเจ้าของทรัพยากร ซึ่งการมีระบบแบ่งปันผลผลิตและบรรษัทพลังงานแห่งชาติจะทำให้เอกชนไม่มีโอกาสโชติช่วงชัชวาลจากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยเหมือนแต่ก่อนเท่านั้นเอง

คุณบรรยงน่าจะเข้าใจอะไรผิดที่หยิบยกประเด็นข้อพิพาทเรื่องนโยบายพลังงาน ว่าคปพ.และดิฉันไปมีข้อพิพาทกับพวกคุณ ดิฉันไม่ได้สนใจทะเลาะกับพวกคุณเลย สิ่งที่คปพ.และดิฉันทำคือ การบอกกับรัฐบาลที่กินเงินเดือนจากภาษีของเราให้กำหนดนโยบายพลังงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน

แนวคิดของพวกคุณที่ว่า Government owns is nobody owns, nobody owns is nobody cares ทรัพย์สินของรัฐคือทรัพย์สินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็ไม่มีใครสนใจดูแล นอกจากเป็นแนวคิดล้าหลังแล้ว ยังควรเรียกว่าเป็นตรรกะบริโภคของกลุ่มทุนที่ต้องการครอบครองทรัพย์สินของประชาชนด้วยข้ออ้างว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็ยกให้เอกชนเป็นเจ้าของ แต่สำหรับประชาชนอย่างดิฉันเราเชื่อว่า ความมั่นคงทางพลังงานสำคัญเกินกว่าจะปล่อยไว้ในมือของเอกชนที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน

รสนา โตสิตระกูล
25 พ.ย 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น