xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเน้นผู้มีรายได้น้อยขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี สั่งระดมขุดบ่อจิ๋วแก้ปัญหาน้ำแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐบาล ยืนยันรัฐบาลไม่ยกเลิกโครงการรถเมล์ รถไฟฟรี แต่จะช่วยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยกว่าเดือนละ 3,632 บาทเท่านั้น ขณะเดียวกัน สั่งเร่งทำบ่อจิ๋วทั่วประเทศแก้ปัญหาภัยแล้ง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง หรือโครงการรถเมล์ - รถไฟฟรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือลดค่าครองชีพด้านการเดินทางแก่ผู้มีรายได้น้อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำรายละเอียดมาตรการใหม่ที่จะให้บริการฟรีเฉพาะกลุ่มแบบมีเงื่อนไขไปเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย

“รัฐบาลไม่ได้คิดยกเลิกรถเมล์ - รถไฟฟรี แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้โครงการนี้ได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง และบริหารจัดการงบประมาณของชาติให้คุ้มค่ามากขึ้น เพราะที่ผ่านมาโครงการนี้มีการนำภาษีของส่วนรวมไปอุดหนุนให้แก่คนทั่วไป ซึ่งมีทั้งคนที่ไม่ได้มีรายได้น้อยจริง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของโครงการ ถือเป็นการใช้จ่ายเงินที่เน้นประชานิยม ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระมาก เกิดการขาดทุนซ้ำซาก ไม่ใช่การช่วยเหลือที่ถูกจุด”

สำหรับความคืบหน้าของมาตรการขณะนี้ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยร่วมกับการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ประจำปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและประมวลผลได้ภายในเดือน เม.ย. 59 โดยผู้ที่มีรายได้น้อยที่แท้จริง เช่น มีรายได้ต่ำกว่า 3,632 บาทต่อเดือน และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี จะได้รับลดหย่อนค่าโดยสาร หรือยกเว้นค่าโดยสาร รวมทั้งมีระบบบัตรเดือนพิเศษสำหรับบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม

ทั้งนี้ ขสมก. จะจัดบริการรถโดยสาร 1,519 คันต่อวัน และ ร.ฟ.ท. จะจัดบริการรถไฟชั้น 3 ขบวนรถเชิงสังคม 164 ขบวนต่อวัน และขบวนรถเชิงพาณิชย์ 8 ขบวนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ประชาชนทั่วไปยังสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการรถเมล์-รถไฟฟรีได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 59

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทั้ง 3 หน่วยงาน บูรณาการร่วมกันเพื่อเร่งรัดการรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดทั้งหมดเสนอ ครม. พิจารณา และดำเนินการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเชื่อมโยงกับระบบตั๋วร่วม E-ticket ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ตรงจุด ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดภาระด้านงบประมาณอย่างยั่งยืน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ “ขุดแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทาน” หรือ “บ่อจิ๋ว” ทั่วประเทศเพื่อรับมือปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้ประชาชนมีแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 356 ล้านบาท สำหรับการขุดบ่อจิ๋วเพิ่มอีก 20,000 บ่อ โดยแต่ละบ่อมีค่าใช้จ่าย ในการขุด 20,300 บาท แบ่งเป็นรัฐบาลสนับสนุน 17,800 บาท และเกษตรกรเจ้าของที่ดินสมทบอีก 2,500 บาท โดยตั้งแต่ ต.ค. 57 - ก.ย. 58 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการขุดบ่อจิ๋วไปแล้วทั่วประเทศจำนวน 56,206 บ่อ ทั้งนี้ บ่อจิ๋วสามารถจุน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้ 1,260 ลบ.ม. ใช้เลี้ยงปลา และปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณขอบบ่อเพื่อบริโภคในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ท่านนายกฯ ห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่นอกเขตชลประทานที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง จึงติดตามความคืบหน้าของโครงการเป็นระยะพร้อมกำชับให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย เพื่อพี่น้องประชาชนได้มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก ย้ำมาตรการช่วยเหลือนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องใน ทุกพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาว”

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะวางแผนและดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งในหลายมาตรการ ทั้งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อน การสร้างแก้มลิงเพื่อดึงน้ำให้อยู่ในพื้นที่นานที่สุด วางแผนการระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์อย่างเหมาะสม รวมถึงการขุดบ่อจิ๋วทั่วประเทศแล้วก็ตาม แต่สิ่งสำคัญ คือ ภาคประชาชนที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและปัญหาเรื่องน้ำ ต้องเข้าใจว่าปริมาณน้ำในประเทศของเรานั้นขึ้นอยู่กับปริมาณฝนเป็นหลัก ยิ่งในปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่เหนือเขื่อนลดลง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงหรือฝนแล้ง จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ปล่อยของเสียลงในแหล่งน้ำ และเกษตรกรควรปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตภัยแล้งในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น