xs
xsm
sm
md
lg

รบ.เผยหมอกควันเริ่มคลี่คลาย พร้อมถกที่ประชุมอาเซียน-ผลแก้ ป.1 อ่านไม่ออกดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐบาลเผยสถานการณ์หมอกควันใต้เริ่มคลี่คลาย ขอให้สบายใจช่วยเต็มที่ จัดเครื่องบินโปรยละอองน้ำ-ฝนหลวง แจกหน้ากากอนามัย แจ้งเลขาฯ อาเซียน-อินโดฯ เร่งแก้เหตุเผาป่า ย้ำนายกฯ ห่วง ปชช. และห่วงเหตุแมงกะพรุนฆ่านักท่องเที่ยว สั่งแก้ไข แจงลดเวาเรียน เพิ่มเวลารู้ ร่วมแล้ว 3,800 ร.ร. จัดทีมอบรมครู เผยผลปรับการเรียนภาษาไทยแก้ปัญหา ป.1 อ่านไม่ออกลดลงมาก

วันนี้ (9 ต.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงานล่าสุดจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสถานการณ์หมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่ภาคใต้พบว่า คุณภาพอากาศในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ยะลา นราธิวาส สตูล ปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน มีค่าระหว่าง 52-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง และสถานการณ์โดยรวมเริ่มคลี่คลาย จึงขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่สบายใจได้ อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานกำลังเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งด้านการลดปริมาณหมอกควัน การดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสาร และการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน

ล่าสุดกองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินลำเลียงขึ้นปฏิบัติภารกิจการบินโปรยละอองน้ำสะอาดที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อลดปริมาณหมอกควันและลดปัญหามลพิษในอากาศร่วมกับจังหวัดสงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 จังหวัดสงขลา โดยเน้นบริเวณเขตพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น และจะบินปฏิบัติภารกิจจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ใช้เครื่องบินรวม 4 ลำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งหน้ากากอนามัยไปยัง 7 จังหวัด เพื่อแจกให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และจัดส่งหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษให้ผู้ป่วย 3 โรคที่อาการกำเริบง่าย คือ โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคถุงลมโป่งพอง และสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดติดตามประเมินผลและดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังได้จัดเครื่องบินธุรการ อีกจำนวน 1 ลำ บินกระจายเสียงให้คำแนะนำประชาชนในการปฏิบัติตัวภายใต้สถานการณ์หมอกควัน และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์รายงานข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาป่า และเป็นต้นทางของปัญหา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้แจ้งประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อให้รับทราบสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยขอให้อินโดนีเซียดำเนินมาตรการเพื่อลดการเผาและหมอกควันอย่างเร่งด่วนตามข้อกำหนดของข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยแจ้งว่าทางการอินโดนีเซียกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมปลายเดือน ต.ค.นี้ที่ประเทศเวียดนาม

“นายกฯ เป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งทำงานเต็มที่ทั้งการฉีดละอองน้ำ ทำฝนเทียม แจกจ่ายหน้ากากอนามัย และพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น หลีกเลี่ยงการออกสู่พื้นที่โล่งแจ้งโดยไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นที่ให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่นละออง หรือใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ ปิดจมูก จะช่วยกรองได้อีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นห่วงเรื่องนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จึงได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประสานงานไปยังโรงแรมที่พักและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น จัดทำสัญลักษณ์พื้นที่เสี่ยงอันตรายให้ชัดเจน ติดตั้งตาข่ายในทะเลเพื่อกันแมงกะพรุน ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวสวมเสื้อผ้ามิดชิด และจัดให้มีจุดปฐมพยาบาลเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งจากเหตุจมน้ำหรือได้รับพิษจากสัตว์ทะเล และติดป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย”

พล.ต.สรรเสริญยังเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และกำชับให้กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจังตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้หลายนโยบายมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” หรือ Moderate Class More Knowledge นั้น ปรากฏว่าได้ความร่วมมือจากโรงเรียนมากถึง 3,800 แห่งทั่วประเทศ

“รัฐบาลได้มอบนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ พร้อมอธิบายแนวคิด ไปยังสถานศึกษา นอกจากนี้ยังจัดทีมสมาร์ทเทรนเนอร์เพื่อฝึกอบรมครูทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนเปิดภาคเรียนใหม่วันที่ 2 พ.ย.นี้ ขอให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นและสบายใจว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”

พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้า ในการพัฒนานักเรียนชั้น ป.1 ให้อ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี โดยกำหนดให้ปี 2558 เป็น “ปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนั้น โดยเน้นตามแนวทางพัฒนาทางสมอง (Brain-based-learning หรือ BBL) ได้ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยในหลายแนวทางทั้งการเรียนในห้องเรียน และการเรียนผ่านการเล่นพร้อมทั้งฝึกอบรมผู้บริหารและครูผู้สอนกว่า 65,000 คน สนับสนุนการจัดทำสื่อการเรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนแจกแบบเรียนเร็วแก่นักเรียน ป.1-ป.3 ทุกคน

ทั้งนี้ การประเมินผล เด็กชั้น ป. 1 จำนวน 100,660 คน จากโรงเรียน จำนวน 2,022 โรง ในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศที่คัดเลือกมาเป็นกลุ่มตัวอย่างในการเรียนการสอนภาษาไทย พบว่า อัตราการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ลดลงอย่างชัดเจน จากที่เข้าโครงการครั้งที่ 1 เมื่อเดือน มิ.ย. 2558 พบว่า มีเด็ก ป.1 อ่านไม่ออก 11,576 คน และเขียนไม่ได้ 8,727 คน ต่อมาได้ติดตามผล ในครั้งที่ 2 เดือน ก.ค. 2558 พบว่า มีเด็ก ป.1 อ่านไม่ออกลดลงเหลือ 5,616 คน และเขียนไม่ได้ลดเหลือ 5,088 คน

“ท่านนายกฯ ฝากขอบคุณผู้บริหารโรงเรียนและครูทั่วประเทศ ที่ให้ความร่วมมือในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านการเขียน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเด็กไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนต้น จะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ เพื่อการเรียนในวิชาอื่นๆ และเปิดโลกทัศน์ สามารถค้นพบความถนัดของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเด็กผู้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น