xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านร่าง กม.ให้อำนาจ ปธ.ศาลฎีกาดูคดีแพ่ง - เห็นชอบรายงาน กมธ.ศึกษา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม สนช.รับหลักการร่างกฎหมาย ป.วิแพ่งฯ ให้อำนาจประธานศาลฎีกาออกกำหนดกระบวนการพิจารณาคดีแพ่ง ส่งคำคู่ความพร้อมเก็บข้อมูลคดีในระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรับร่าง พ.ร.บ.ตั้งกองทุนยุติธรรมช่วยผู้ต้องหายากไร้ พร้อมเห็นชอบรายงาน กมธ.ศึกษาปัญหาการใช้ พ.ร.บ.ปิโตเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม


วันนี้ (12 มิ.ย.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการโอนคดีจากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่ง การส่งคำคู่ความโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์และการส่งคำคู่ความไปยังต่างประเทศ

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันมีคดีแพ่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม เช่น คดี สิ่งแวดล้อม คดีคุ้มครองผู้บริโภค เข้าสู่การพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมาก คดีเหล่านี้เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน สมควรกำหนดให้สามารถโอนเหล่านี้ไปยังศาลแพ่ง แผนกคดีชำนัญพิเศษเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี โดยกำหนดให้ศาลแพ่งที่รับคดีไว้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณานอกเขตศาลได้ เพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาสามารถออกไปสืบพยานที่อยู่นอกเขตอำนาจด้วยตนเองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือ กำหนดเรื่องการโอนคดีที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะที่สำคัญจากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่ง และกำหนดอำนาจศาลแพ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณานอกเขตศาล กำหนดให้ประธานศาลฎีกาโดยความความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีแพ่ง กำหนดให้การจัดทำสาระบบความ สาระบบคำพิพากษา และการเก็บรักษาข้อมูลในสำนวนคดีอาจทำในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการส่งคำคู่ความและเอกสาร

นอกจากนี้ กำหนดให้ประธานศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีแพ่ง อันจะช่วยให้การพิจารณาพิพากษาคดีเกิดความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขั้น อีกทั้ง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการเก็บรักษาข้อมูลคดีของศาลโดยการจัดเก็บในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการส่งคำคู่ความและเอกสารระหว่างศาลกับคู่ความหรือระหว่างคู่ความด้วยกัน และกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งหมายเรียก และคำฟ้องตั้งต้นคดีไปยังจำเลยหรือบุคคลภายนอกที่อยู่นอกราชอาณาจักร เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นด้วย 164 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เห็นชอบในหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 15 คนขึ้นพิจารณารายละเอียด โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน และมีระยะเวลาทำงาน 30 วัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม โดยกำหนดให้มี “กองทุนยุติธรรม” มีวัตถุประสงค์เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม การประกันตัวบุคคล การช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยกองทุนประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สิน เงินทุนประเดิมที่รัฐจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลหรือเงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินสมทบประเภทค่าธรรมเนียมศาลที่ได้รับการจัดสรรประจำปี เงินสมทบประเภทเงินและทรัพย์สินที่ได้จากการบังคับหลักประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาที่หลบหนีการปล่อยชั่วคราวที่ได้รับการจัดสรรประจำปี เงินสมทบประเภทค่าปรับในคดีอาญาที่ได้รับการจัดสรร เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับช่วงสิทธิเพื่อไล่เบี้ยกับผู้กระทำความผิดอาญาหรือผู้ก่อให้เกิดความเสียหายที่แท้จริง เป็นต้น และให้เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม ประกันตัวบุคคล สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน สนับสนุนการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เป็นต้น

นอกจากนี้ กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกองทุนยุติธรรมขึ้นในกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับงานธุรการให้แก่คณะกรรมการ คณะกรรมการอิสระ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการอิสระแต่งตั้ง และรับคำขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม คำขอรับการช่วยเหลือการประกันตัวบุคคล คำขอรับการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา คำขอรับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และคำขอรับการสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และ คำอุทธรณ์ เป็นต้น รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ซึ่งจะมีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และแนวทางดำเนินงานของกองทุน

ทางด้านสมาชิก สนช.ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ได้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ก็มีข้อสังเกตคือ หากผู้ที่จะใช้บริการของกองทุนดังกล่าว เป็นผู้ติดคดีร้ายแรง เช่น คดีการก่อการร้าย คดีเกี่ยวกับอาวุธสงคราม เป็นต้น จะมีมาตรการอย่างไร และขอให้มีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการของกองทุนฯ ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มด้วย

โดยที่ประชุมฯ ได้ลงมติรับหลักการ 164 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ15 คนขึ้นพิจารณารายละเอียด โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน และมีระยะเวลาทำงาน 30 วัน

ทั้งนี้ การประชุม สนช.ได้พิจารณาผลการศึกษารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งมี พล.อ.สกล สัจจานิตย์ สมาชิก สนช.เป็นประธาน กมธ.ชุดดังกล่าวได้พิจารณาแล้วเสร็จ

โดย พล.อ.สกลได้ชี้แจงว่า การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ถือเป็นประเด็นสำคัญ จนมีประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านรุนแรง แต่จากการพิจารณาโดยได้ให้ภาคประชาชนเข้ามาพูดคุย ได้ข้อสรุปก่อนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และจากการศึกษาพร้อมลงพื้นที่มีประชาชนร้องเรียน เจอปัญหาคือไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานดูแลเรื่องนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้ประชาชนมีความเข้าใจว่าการทำงานของรัฐไม่โปร่งใส ทว่า เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเกิดในปี 14 และมีการปรับปรุงมาแล้วแต่ไม่มาก ดังนั้น เจ้าหน้าที่ต้องระวังในการเปิดเผยข้อมูล ขณะเดียวกัน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกประเด็นใหญ่ แต่ด้วยภาพรวมผลการศึกษากฎหมายดังกล่าวถือว่าล้าสมัย คือ ระบบสัมปทานแต่ระบบแบ่งปันผลผลิต ถือว่ากว้างกว่า เพราะประเทศเพื่อนบ้านใช้ระบบดังกล่าว แต่ได้มีการเพิ่มทางเลือกด้วยการใช้ระบบจ้างบริการ ซึ่งทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด นอกจากนี้ยังได้คิดโครงสร้างบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ แต่ยังได้รับการต่อต้านจากผู้ที่ทำงานแบบเก่า ส่วน พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ ในด้านการจัดเก็บรายได้ซึ่งวิเคราะห์ว่าไม่ค่อยชัดเจน และผลสรุปเรื่องนี้ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

อย่าไรก็ตาม สมาชิก สนช.ไม่ได้ซักถามรายละเอียดผลการศึกษาของ กมธ.ชุดดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรายงานตามที่ กมธ.วิสามัญฯ เสนอมา



กำลังโหลดความคิดเห็น