xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงหมอยึด “หลักกู” เบื้องลึกขัดแย้งทุกภาคส่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน
สะเก็ดไฟ

 ข่าวการเด้งฟ้าผ่า “ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล ส่งผลการบริหารงานภายใน “กระทรวงหมอ” ถูกจับตามองอีกครั้ง

ยิ่งน่าสนใจว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศของการปฏิรูปบ้านเมืองที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เน้นกับทุกภาคส่วนหนักหนาว่า อย่าขยายความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นในระยะนี้ แต่กลับเป็นหน่วยราชการในกำกับของฝ่ายบริหารเองที่สร้างเรื่องขึ้นมา

ปมปัญหาภายใน “กระทรวงหมอ” เป็นที่รับรู้ไปทั่วว่าฝังรากลึกมานาน รอเพียงตัวเร่งที่ทำให้ปะทุขึ้นเท่านั้น หากสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าปัญหาจุกจิก หรือปัญหาใหญ่โตระดับชาติ ก็มักถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีกันไปมาภายในกระทรวง

เหตุเพราะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นก๊กเหล่าชัดเจน โดยเฉพาะระหว่างกลุ่ม “หมอในเมือง” กับ “หมอชนบท” ที่หากใครพลาดพลั้งเสียที อีกฝ่ายก็พร้อมออกมารุมขย้ำเสมอ
 
และอาจจะถึงเวลาต้อง “ผ่าตัดใหญ่”

ปมขัดแย้งในประเด็นการบริหารจัดการ สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกองทุนที่อยู่ในสังกัดต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในการบริหารภายในได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลายคนมองว่า น่าจะเป็นชนวนเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ “หมอณรงค์” ต้องเด้งดึ๋งออกจากเก้าอี้ ปลัด สธ.

เหตุเพราะ “หมอณรงค์” มีแนวนโยบายในการจัดระเบียบการจัดสรรงบประมาณงบกองทุนสิทธิบัตรทองใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมา มีปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนทั่วประเทศ แต่การบอกว่า สปสช. บริหารผิดพลาด ก็เหมือนชี้หน้าด่า “นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” เจ้ากระทรวงหมอ เพราะสวมหมวกประธานบอร์ด สปสช. อยู่ด้วย

ที่สุดกลายเป็นตัวเร่งทำให้ “หมอณรงค์” และ “หมอรัชตะ” เข้าหน้ากันไม่ติด เป็นรอยร้าวที่ยากจะผสาน แม้มีความพยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งกันหลายรอบก็ตาม

ว่ากันว่าฐานที่ให้การหนุนหลัง “หมอรัชตะ” คือ เครือข่ายที่เรียกกันว่า “องค์กรตระกูล ส.” ทั้งที่อยู่ภายในกระทรวง และที่กระจายกำลังไปแทรกซึมอยู่ในองค์กรอิสระ และองค์กรมหาชนต่างๆ ว่ากันต่อไปว่า ที่แนบแน่นที่สุดเห็นจะเป็น “สสส.” หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

ถึงขั้นยกให้ “หมอเอ็นจีโอบุหรี่” เป็น “มือขวา” ของ “หมอรัชตะ” เลยทีเดียว

ผลงานสำคัญของ “องค์กรตระกูล ส.” ในยุค “หมอรัชตะ” กุมบังเหียน คงเป็นการขะมักเขม้นผลักดันกฎหมายควบคุมในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า บุหรี่ หรือแม้กระทั่งนมผงเด็ก ซึ่งมักถูกโจมตีจากผู้ได้รับผลกระทบว่า ไม่เคยฟังเสียงคัดค้านใดๆ จากรอบด้านเลย

และไม่ได้สนใจหลักการ “ลดความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เน้นย้ำ ครั้งหนึ่ง “นายกฯลุงตู่” เคยให้นโยบายไว้ว่า “เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนยอมรับ จะต้องไม่ใช้กฎหมายในทางที่ผิด หรือสร้างความขัดแย้ง จะต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างความไม่โปร่งใส เราจะต้องยึดมั่นทำงานให้โปร่งใส และรวดเร็วให้ได้ โดยยึดโดยยึดหลัก ธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม...จะต้องสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้งและเร่งการปฏิรูป ...”

ร่างกฎหมายที่ “องค์กรตระกูล ส.” ผลักดันกลับทำตรงกันข้ามตลอด อย่าง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่ถูกตีกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สั่งชัดเจนในหนังสือทางการว่า “...ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะภาคเกษตรกร และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป”

แต่เพียงไม่กี่วัน คณะกรรมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ที่มี “หมอรัชตะ” เป็นประธาน ได้ออกมาประกาศว่า จะส่งเรื่องกลับไปยังสำนักเลขาฯ ครม. เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ครม. อีกครั้งทันที โดยยืนกรานว่า ร่างกฎหมายไม่กระทบชาวไร่ หรือร้านค้าแม้แต่น้อย

เรียกว่าไม่คิดจะทบทวนร่างกฎหมายที่ทางเลขาฯ ครม. ท้วงติงมาเลย

ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลจากหลายฝ่าย ระบุตรงกันว่า ร่างกฎหมายคุมยาสูบตัวใหม่นี้ สร้างความกังวลให้กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง เพราะมีมาตรการ “สุดโต่ง” ที่มองได้ว่า บีบคั้นธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แถมยัง “เกาไม่ถูกที่คัน” เพราะดูจะห่างไกลจากวัตถุประสงค์ปกป้องเยาวชนตามที่อ้าง

พฤติกรรม “ดื้อดึง” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่สนใจแม้แต่ข้อแนะนำของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติยึดมั่นถือมั่นของตัวเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หรืออาจเป็นไปได้ที่ได้รับอิทธพลและแรงกดดันมาจาก “เอ็นจีโอบุหรี่” ภายใต้ร่ม สสส. จึงทำให้ต้องตะบี้ตะบันเร่งออกร่างกฎหมายนี้
 
นี่เป็นเพียง “กรณีศึกษา” ที่สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารงานภายใน “กระทรวงหมอ” ไม่สนใจรับฟังเสียงท้วงติงของใคร มีเพียง “หลักกู” เท่านั้นที่ถูกต้องแน่นอนที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น