xs
xsm
sm
md
lg

GAME OVER ? ถึงยังไม่จบก็เสมือนจบแล้ว ทุกคนเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

แม้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญในคดีที่อัยการสูงสุดได้ส่งคำร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง จะออกมาในเวลา 13.30 – 15.30 น. วันนี้ – วันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2550 - โดยกลุ่มคดีที่ 2 ที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เป็นผู้ถูกร้อง จะได้รับการอ่านก่อนเวลา 13.30 น. และกลุ่มคดีที่ 1 ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย เป็นผู้ถูกร้อง จะเริ่มอ่านในเวลา 14.30 น. ที่ห้องออกนั่งพิจารณาคดี ชั้น 2 ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่สถานการณ์การเมืองโดยรวมก็ดูเหมือน “คลายตัว” ลงในระดับสำคัญ

จนไม่น่าเชื่อว่าภายในวันสองวันนี้จะมี “เหตุร้าย” จากกลุ่มอำนาจเก่าที่อาจจะไม่ยอมรับในคำวินิจฉัย และถือโอกาสใช้เป็น “เงื่อนไข” ในการระดมมวลชนเข้ามาจุดชนวนก่อการ
ประการหนึ่ง มาจากกระแสพระราชดำรัสวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2550

ประการหนึ่ง มาจาก “นัย” ในการพูดจาต่อสาธารณะของบุคคลสำคัญ 2 คนจาก 2 ฟากฝั่งการเมือง คือ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

ในประการหลังนี้เสมือนว่ามีการพูดคุยทำความเข้าใจและทำความตกลงกันในระดับสำคัญแล้ว

ว่า...จะร่วมกันเดินหน้าสู่ “การเลือกตั้ง” ปลายปีนี้

พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นคนที่พูดตรงไปตรงมา อ่านไม่ยาก การไปพูดที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2550 แทบไม่ต้องแปลความอะไรมากเลย แม้จะมีคำดุ ๆ ประเภทเตือนไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามล้างแค้น หรือบอกว่าถ้าหลังวันที่ 30 พฤษภาคม 25450 ฝ่ายตรงข้ามยังไม่ยอมจบ ไม่ยอมเลิกรา ก็อาจจะจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างในสิ่งที่ไม่อยากทำ แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตรงนั้น

หากอยู่ที่ท่านพร้อมจะ “เปิดโอกาส” ให้นักการเมืองที่เคยมีส่วนร่วมกับระบอบทักษิณได้มีโอกาสทำความดีไถ่บาป ทำความดีแก้ตัว

ท่านบอกว่าได้มีการส่งสัญญาณมาแล้ว และท่านยังบอกเสมือนกับคาดเดาได้ว่า คมช. และรัฐบาลชุดนี้ จะ “ส่งมอบอำนาจ” ให้กับ “ใคร” หลังการเลือกตั้ง

ลองมาอ่านคำพูดต่อไปนี้กันนะ

"วันนี้ คมช.มีกรอบการทำงานชัดเจน ว่าจะส่งมอบการทำงานให้รัฐบาลใหม่ ต้องรู้ว่าส่งมอบให้กับใคร ไม่ใช่ใครที่ไหนก็มารับ ไม่อย่างนั้นที่ทำมาก็สูญเปล่า...

“จุดที่เราพูดว่าประชาธิปไตยอยู่ที่การเลือกตั้ง การเลือกตั้งสำคัญก็จริงแต่ไม่ใช่สาระที่สุด ทั้งหมดอยู่ที่จะให้ใครมาใช้อำนาจแทนเรา ต้องทำให้กลไกนั้นคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้"

ท่านบอกว่าการเมืองเมื่อผ่านวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 แล้ว ต้องดูว่าจะมีคลื่นลูกใหม่มีความพร้อมทำหน้าที่หรือไม่ หรือหลงเหลือจากคำพิพากษาแล้วมาจัดตั้ง

"หากท่านเหล่านั้นสำนึกและตระหนักว่า ความเสียหายที่ผ่านมาท่านก็มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกฎหมายท่านบริสุทธิ์แล้ว หากท่านขอโอกาสกลับมามีอำนาจ เรา - ทั้ง คมช.และคนในชาติทั้งหมด - ต้องสร้างพลัง แสดงพลังของความรู้สึกที่จริงจังว่า ท่านต้องเล่นการเมืองให้ต่างจาก 6 ปีที่ผ่านมา มิเช่นนั้นประชาชนที่รักชาติบ้านเมือง ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับคลื่นใต้น้ำเขาจะไม่ยอม ท่านจะไม่มีโอกาสได้กลับมาอีกต่อไป"

ซึ่งก็เหมือนทำใจได้ว่ารัฐบาลต่อไปอาจจะต้องมีส่วนของนักการเมืองที่ร่วมรัฐบาลชุดที่แล้วอยู่ด้วย

ไม่เป็นไร – แต่จะต้อง “แก้ตัวใหม่” ไม่ให้เหมือนเดิม โดยจะมี “กองทัพ” และ “ประชาชน” เป็นพลังคอยควบคุมอยู่ !

"หลังเลือกตั้ง คมช.ก็จะประคับประคองสถานการณ์ที่ท้าทายอำนาจรัฐ เพื่อรอการกลับคืนแบบเบ็ดเสร็จเพื่อสร้างความวุ่นวาย เรื่องนี้ คมช.ยอมไม่ได้ การทำงานของเราก็เหมือนกับการส่งมอบงาน ทุกอย่างต้องเรียบร้อย เพราะหากไม่เรียบร้อยผมขี้เกียจกลับมาแก้"

เมื่อได้รับคำถามจากผู้สื่อข่าวว่า หากได้รัฐบาลที่ไม่พึงประสงค์ จะทำอย่างไร ผช.ผบ.ทบ.หนึ่งในแคนดิเดทผบ.ทบ.คนต่อไป กล่าวอย่างสุขุมและมีนัยชัดเจนว่า

“คำว่าไม่พึงประสงค์ ประชาชนต้องเป็นคนตัดสิน...”

แทบไม่ต้องแปล ก็บอกได้ว่าท่านฝากให้ผลการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสิน

“กติกาเราทำให้มีทางเลือก ไม่ใช่ภาวะจำยอมอีกต่อไป และที่ผ่านมาก็มีนักการเมืองส่งสัญญาณใจว่าขอโอกาสทำความดีอีกครั้ง”

จากพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เรามาดูที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินกันบ้างที่พูดจาแสดงท่าทีชัดเจนใน 1 วันให้หลัง

ว่าที่เลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย (??) ที่มีจุดขายอยู่ที่ตัวดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ในฐานะหนึ่งในแคนดิเดทว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง วิเคราะห์ผลการวินิจฉัยคดียุบพรรคเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจ คมช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่างเบ็ดเสร็จเลยว่า...

หากภายหลังการตัดสินยุบพรรคแล้ว ยังคงมี 2 ขั้วอำนาจเหมือนแบบเก่าก็จะก่อให้เกิดความแตกแยกเหมือนเดิม แต่ถ้าตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วทำให้การเมืองแบ่งออกเป็น 3 - 4 ขั้ว จะเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความสมานฉันท์

เหมือนจะบอกความต้องการว่ายุบพรรคไทยรักไทยไม่เป็นไร ขอเพียงกรรมการบริหารพรรคไม่โดนตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีทุกคนยกครอกก็แล้วกัน

โดยย้อนไปอรรถาธิบายสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2550 ว่าการเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง (ไทยรักไทย) กับที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง (ประชาธิปัตย์, ชาติไทย และมหาชน) ดังนั้นถ้าแตกตัวออกเป็น 3 - 4 ขั้ว ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าจะลดลง

พร้อมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะกลับประเทศไทยในเร็ววันนี้

และยืนยันข่าวโรงแรมชั้น 2 ชั้น 3 ในกทม.เต็มหมด เหมือนจะบอกว่าคลื่นใต้น้ำไหลบ่าเข้าเมืองหลวงตามข่าวที่ออกมาจากผู้ใหญ่ของ คมช. ก่อนหน้า

ใคร ๆ ก็รู้ว่าผู้ใหญ่ฝ่ายบุ๋นของ คมช. ติดต่อสัมพันธ์กับนักการเมืองของพรรคไทยรักไทยหลายกลุ่ม

และแม้แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็พอใจในฝีไม้ลายมือของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และมีสัมพันธ์กันมานาน

พรรคประชาธิปัตย์ไม่เสียหายอะไร เพราะได้เปรียบพอสมควรในผลการเลือกตั้งอยู่พอสมควร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ยังเร็วเกินกว่าจะประเมิน แต่ได้ร่วมรัฐบาลแน่ในสภาวะ 3 – 4 ขั้วเช่นนี้

แน่นอนว่าหากเป็นไปตามนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพลพรรคที่ยังภักดี ยังไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันแต่ก็ไม่เสียหายไปมากกว่าเดิม

ยังมีความหวังตรงที่ได้รอ “ลุ้น” ผลการเลือกตั้งด้วยว่าพลพรรคที่ยังภักดีจะเข้ามาสักกี่คน

หรือจะ “จัดหา” ในภายภาคหน้าได้สักกี่คน

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ "คมช."และ "นายสมศักดิ์ เทพสุทิน" อยากให้เป็น

แต่ความเป็นจริง จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ไม่มีใครทราบ เพราะไม่มีใครสักคน ที่จะรู้คำวินิจฉัยล่วงหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น