xs
xsm
sm
md
lg

เตือนคมช.ระวังความชาญฉลาดของอสรพิษ ! -แนะ"มีชัย ฤชุพันธ์ "ลดละเลิกข้อเสีย

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง


•• เมื่อกว่า 400 ปีก่อนหน้านี้ ฟรานซิส เบคอน เคยกล่าวอมตะวาจาไว้ชุดหนึ่งว่า “…มันเป็นไปไม่ได้ที่จะประสานความชาญฉลาดของอสรพิษเข้ากับความไร้เดียงสาของนกพิราบ เว้นแต่มนุษย์จะรู้ถึงลักษณะทั้งปวงของอสรพิษอย่างถ่องแท้ คนที่สัตย์ซื่อนั้นไม่อาจทำสิ่งที่ดีต่อคนชั่วร้ายได้เลย หากปราศจากความรู้เรื่องความชั่ว.” จู่ ๆ “เซี่ยงเส้าหลง” ก็รำลึกถึงคำกล่าวนี้ขึ้นมาได้เมื่อพบว่า คมช. – คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ นั้นเชื่อว่า กุมสถานการณ์อยู่, ทำทุกประการเท่าที่จำเป็นและทำได้แล้ว ในกระบวนการ ขจัดระบอบทักษิณ นาทีนี้ก็ได้แต่ เชื่อ, เอาใจช่วย เท่านั้นละ

•• อย่างไรเสียก็ขอให้ระวัง “...ความชาญฉลาดของอสรพิษ.” ให้ดี ๆ หากเชื่อมั่นว่าการมอบหมายให้ คนบางคนในคณะ ไปเจรจาความเมืองกับ อดีตหัวหน้ามุ้งของพรรคไทยรักไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน ยุทธวิธีตัดแขนตัดขาพรรคไทยรักไทย ขอกล่าวย้ำประโยคเดิมอีกครั้ง -- นาทีนี้ก็ได้แต่ เชื่อ, เอาใจช่วย เท่านั้นละ

•• แล้ว มีชัย ฤชุพันธ์ ก็ได้เป็น ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ น่าจะสร้างสถิติเป็นสมาชิกสภาแต่งตั้งและประธานสภาแต่งตั้งที่ ยาวนานที่สุด กล่าวคือท่านผู้นี้เป็น สมาชิกสภาแต่งตั้ง รวมกันแล้ว 5 สมัย 18 ปี (แยกเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติ 2 สมัย, สมาชิกวุฒิสภา 3 สมัย) และเป็น ประธานสภาแต่งตั้ง รวมกันแล้ว 2 สมัย 8 ปี (โดยเป็น ประธานวุฒิสภาปี 2538 – 2543) และถ้ารวมการเป็น รัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้าไปด้วยก็จะยิ่งมหัศจรรย์เพราะท่านผู้นี้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี – มือกฎหมาย และเขยิบชั้นขึ้นครองตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี – มือกฎหมาย รวมกันแล้ว 4 รัฐบาล 4 นายกรัฐมนตรี 15 ปี (คือเป็นต่อเนื่องกันตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, อานันท์ ปันยารชุน และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร) หรือถ้าจะย้อนไปก่อนหน้านั้นท่านก็ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย รวมกันแล้ว 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรี 5 ปี (คือเริ่มตั้งแต่รัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) ในช่วงต้นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ ปี 2544 ก็ยังคงรับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นในเรื่องของ ประสบการณ์, ความเชี่ยวชาญ, ชั้นเชิง, เครือข่าย – ทั้งฟากนักการเมืองและข้าราชการประจำ นั้นทุกคนยอมรับว่า สุดยอด, ไร้เทียมทาน ผลงานที่ถือว่า โดดเด่น นั้น นับไม่ถ้วน แต่ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ยังคงให้คะแนนสูงมาจนถึงปัจจุบันคือผลงานในฐานะ ประธานวุฒิสภาปี 2538 – 2543 ที่คร่อมทับช่วงเวลา วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บทบาทของท่านผู้นี้ในขณะนั้นก็คือบทบาทโดยปริยายของ ผู้นำของสภาที่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนเก่า ที่พยายามจะเสนอบางด้านและบางระดับของ ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ นี่คือความดีความงามและความถูกต้องที่หลาย ๆ คนรวมทั้ง “เซี่ยงเส้าหลง” ยัง จำได้ และตั้งความหวังให้ท่านผู้นี้ เดินตามรอยเท้าของตนเองในอดีต อีกในวันนี้

•• เพราะไหน ๆ วันนี้ มีชัย ฤชุพันธ์ ก็ได้นั่งเป็น ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใครจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็ตาม “เซี่ยงเส้าหลง” ว่าวิถีคิดในเชิงบวกก็คือ มองไปข้างหน้า, มีความหวังในมนุษยชาติ เฉพาะในประเด็นนี้ก็คือขอให้ท่านประธานสถิติโลกผู้นี้ได้ใช้ ข้อดี ให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ข้อเสีย ที่เคยมีมาขอให้ ลด, ละ และ เลิก เสีย

•• ย้อนระลึกถึง ข้อดี ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อ ปี 2543 งานเขียนในเว็บไซด์ มีชัยไทยแลนด์ดอทคอม ในปีนั้นได้มีการแสดงออกถึงความพยายามเป็น ตัวแทน ของ ผู้นำในแนวทางลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ โดยเรียกร้องให้คนไทยนำเอาความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเชียร์และชื่นชม วิจารณ์ พลฤทธิ์ นักมวยเหรียญทอง โอลิมปิคซิดนีย์ 2000 มาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ร้ายแรงในระดับที่ยากจะแก้ไขให้คืนกลับได้ง่าย “เซี่ยงเส้าหลง” ยัง SAVE ข้อความบางตอนเก็บไว้ “...ปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ แม้จะไม่ถึงกับต้องเสียบ้านเสียเมืองอย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่บ้านเมืองก็อาจจะไม่ใช่ของคนไทยอีกต่อไป และถ้าเพลี่ยงพล้ำเสียแล้ว การจะแก้ตัวกันใหม่ก็อย่าหวังว่าจะทำกันได้ง่าย ๆ หรือมีกำหนดเวลาชัดเจนแน่นอนอย่างที่กำหนดไว้ในกีฬาโอลิมปิก – ผืนแผ่นดินไทยจะเต็มไปด้วยคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ทั้งอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย -- จริงอยู่ คนไทยคงยังเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นคนไทยที่ส่วนหนึ่งติดยาเสพติดจนหาประโยชน์แก่สังคมไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาครอบงำทางเศรษฐกิจ.” ก่อนหน้านั้นไม่นานท่านที่ขณะนั้นต้องเรียกขานฐานภาพว่า อดีตประธานวุฒิสภาแต่งตั้งชุดสุดท้าย ได้เขียนเรียกร้องให้คนไทยรณรงค์แก้ปัญหาน้ำมันแพงโดย หยุดเติมน้ำมันจากปั๊มน้ำมันที่เป็นของต่างชาติเสียระยะหนึ่ง รากฐานความคิดของข้อเสนอนั้นอยู่ที่ว่าต้นตอของปัญหาน้ำมันแพงคือ “...การจัดการและการตกลงกันของบริษัทน้ำมันต่างชาติ และประเทศมหาอำนาจ บังคับให้ประเทศผู้ผลิตทั้งหลายผลิตตามที่กำหนด เพื่อให้น้ำมันขาดตลาด ราคาจะได้สูงขึ้น ไม่มีการค้าเสรีและกลไกตลาดจริงอย่างที่กล่าวอ้างกันเป็นคัมภีร์.” และ ฯลฯ วันนี้แม้สถานการณ์จะพัฒนาไปไกลแต่ประเทศไทยก็ยังคงเผชิญหน้ากับ การรุกรานทางเศรษฐกิจจากต่างชาติ บทบาทของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้จะมีไม่ได้มากนักในเวลาจำกัดเพียง 1 ปี แต่ก็น่าจะเป็น จุดเริ่มต้นของการปรับตัว หวังว่า มีชัย ฤชุพันธ์ จะพิจารณา

•• แต่เรื่องเร่งด่วนที่ควรพิจารณาคืออย่าให้สภาแต่งตั้งอายุ 1 ปีนี้ตกอยู่ในสภาพ แบ่งเป็นฝักฝ่าย เอาละไม่ว่ากันที่ไม่แบ่งปัน ตำแหน่งรองประธานคนที่ 2 ให้กับ จุรี วิจิตรวาทการ แต่ไม่ควรใช้ ความเขี้ยว, ความเชี่ยว มาล็อกตำแหน่ง ประธานคณะกรรมาธิการชุดสำคัญ ๆ ไว้กับกลุ่มตนเอง ทั้งหมด ถ้าไม่ติดยึดอะไรมากก็น่าจะเชิญ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ คู่แคนดิเดทที่ ถูกทิ้งห่าง มาสนทนาเพื่อหาทาง สร้างบรรยากาศสมานฉันท์ ขึ้นมาในระดับหนึ่ง

•• ไม่รู้มาก่อนกาลหรือไม่ “เซี่ยงเส้าหลง” ขอฝาก พล.อ.สนธิ บุญยะรัตกลิน – ประธาน คมช. ว่าในกรณีที่จะต้องเลือก 10 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่ามัวนึกถึงแต่ นักกฎหมาย หรือ ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ลองคิดนอกกรอบให้โอกาส นักเศรษฐศาสตร์ สักคน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เจ้าของงานวิจัยหัวข้อ เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ คือคนที่ขอเสนอ

•• เพราะแม้จะเป็น นักเศรษฐศาสตร์ แต่กลับปรากฏว่า รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วิพากษ์วิจารณ์ การเมือง ได้ คมกริบ เฉพาะในประเด็น การปฏิรูปการเมือง ท่านเคยให้คำจำกัดความ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ว่าเป็น Interventionist Constitution เพราะเน้นหนักด้าน แทรกแซง, ควบคุม, กำกับ ต่อเป้าหมาย สมาชิกรัฐสภา, ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และแม้กระทั่ง แนวนโยบายแห่งรัฐ ก็ถูก กำหนดไว้ตายตัว นอกจากนั้นยังมีฉันทาคติต่อ พรรคการเมืองขนาดใหญ่, ระบบทวิพรรค ซึ่งไม่เปิดพื้นที่ให้เกิด ทางเลือกใหม่ อย่างพรรคการเมืองแนว Reform Party, Green Party อย่างใน ยุโรป นี่เป็น ข้ออ่อน อย่างยิ่ง “…พรรคการเมืองที่มีอุดมคติโดยธรรมชาติไม่สามารถที่จะเป็นพรรคขนาดใหญ่ได้ พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ต้องพัฒนามาจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญมี size bias จึงไม่มีโอกาสเลยที่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์จะผุดเกิดได้ในสังคมไทย.” ท่านเสนอให้มีรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เรียกว่า Optimal Constitution ซึ่งจะออกมามีรูปธรรมอย่างไรยังไม่สำคัญเท่ากับข้อเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยน ปรัชญาในการออกแบบรัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Design ให้เป็นไปในหลักการ ส่งเสริมการแข่งขันในตลาดการเมือง เริ่มจาก “…ไม่บังคับให้นักการเมืองสังกัดพรรค เปิดให้ตลาดการเมืองสามารถเข้าออกโดยเสรี ทำลาย barriers to entry ขจัด size bias ที่มีอยู่.” ลองพิจารณาดู
กำลังโหลดความคิดเห็น