xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ-ส.ว.จวก “สรรพากร” อ้างช่องโหว่ กม.ยกประโยชน์ตระกูลชินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมสรรพากร ยันตระกูลชินฯ โอนหุ้นถูกต้องตามกฎหมาย อ้างคำวินิจฉัยกรรมการภาษีอากรมีข้อยกเว้นอยู่ ด้านนักวิชาการสวดยับไม่เห็นแก่ประโยชน์ของชาติ ยกช่องโหว่กฎหมายเอื้อคนบางกลุ่ม ขณะที่ ส.ว.ระบุวินิจฉัยแค่ด้านเดียว แนะแจ้งความจับและฟ้องศาลภาษี ฐานบกพร่องต่อหน้าที่

วันนี้ (20 ธ.ค.) นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร รองอธิบดีกรมสรรพากร แถลงข่าวยืนยันว่า การที่กรมสรรพากรไม่ได้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขายหุ้นให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ และการที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ขายหุ้นให้นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชาย โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์เช่นกันนั้น ไม่ใช่เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยรองอธิบดีกรมสรรพากรได้กล่าวอ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ผ่านมาซึ่งได้มีข้อยกเว้นอยู่

นายไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสต ร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการแถลงข่าวของกรมสรรพากรในครั้งนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันคงไม่มีอะไรมากไปกว่าข้อเท็จจริงว่ากฎเกณฑ์การเสียภาษีเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้คงไม่มีอะไรมากแล้วหากกรมสรรพากรได้ออกระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือตีความโดยไม่เข้าข่ายของกฎหมาย กรมสรรพากรเองจะถูกดำเนินคดี

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ทั้งนี้อยากตั้งคำถามว่ามันแปลกตรงที่กรมสรรพากรทำไมไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้ในการเลือกเหมือนมีการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ตนเข้าใจว่ามันไม่เสียภาษี และหุ้นที่พยายามซื้อขายมันไม่โดนภาษีแต่หากซื้อขายนอกตลาดจะโดนภาษีหรือไม่ เพราะถ้ามีการซื้อขายนอกตลาดแล้วมีการเก็บภาษีจะมีการเลี่ยง โดยอ้างว่าโอนให้โดยเสน่หาใช่หรือไม่ เพราะถ้ากฎหมายเป็นจริงตามที่กรมสรรพากรออกมาชี้แจงก็เป็นกฎหมายที่ไม่ได้เรื่อง เพราะไม่คำนึงถึงการที่คนจะอาศัยช่องโหว่ ถ้านอกตลาดอ้างกันว่าถึงแม้ไม่ใช่ญาติโยม พี่น้องเสน่หาตนก็ให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะต้องมีการพิสูจน์ว่าให้จริงโดยไม่มีการจ่ายเงินใช่หรือไม่ ประเด็นพวกนี้เป็นคำถามถ้าเป็นจริง ทำไมกฎหมายถึงเขียนออกมาในลักษณะนี้

“จากคำกล่าวอ้างของกรมสรรพากรที่ระบุว่า กรณีการซื้อขายหุ้นของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้าข่ายกรอบที่ 2 ของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภาษีอากร คือซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด นายเรืองไกรต้องเสียภาษีก็ต่อเมื่อนำหุ้นนั้นไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมา และได้รับเงินจริง แต่นายเรืองไกรไม่ทราบหลักการในข้อนี้ จึงได้ยื่นแบบเสียภาษีผิดจนทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรประมวลผลออกมาว่าต้องเสียภาษีเพิ่ม พอปรากฏเป็นข่าวทางกรมสรรพากรได้เรียกนายเรืองไกรเพื่อรับเงินคืน ในประเด็นนี้ผมคิดว่าสังคมควรออกมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร ตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้โดยมีคนกลางเข้าร่วมตรวจสอบด้วย เพราะถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาเสียภาษี ถ้าไม่เป็นข่าวก็แสดงว่าจะไม่ได้เงินคืน เพราะถ้าสังคมไม่เชื่อมั่นก็ต้องนำหลักฐานมาดูให้ชัดเจน ให้ประชาชนและภาคสังคมหายสงสัย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นประชาชนก็มีสิทธิ์สงสัยในตระกูลนี้ เพราะมีข่าวที่ไม่ค่อยดีเกิดขึ้นกับตระกูลนี้เยอะเหมือนกัน” นายไพโรจน์ กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีต ส.ว.กทม. และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ซึ่งเป็นคนแรกที่เชิญนายเรืองไกรเข้ามาให้ข้อมูลเรื่องการถ่ายโอนหุ้นที่ผิดปกติของตระกูลชินวัตร ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการแถลงข่าวของกรมสรรพากรในครั้งนี้ว่า ต้องตั้งคำถามว่า การโอนหุ้นโดยธรรมจรรยาของกมสรรพากรได้ตั้งหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร หรือกรมสรรพากรจะให้คนประเมินภาษีพึงได้เป็นคนวินิจฉัยเอง และการโอนให้โดยธรรมจรรยาหรือเสน่หามันอยู่ในจำนวนวงเงินเท่าไร พอเหมาะพอควรอย่างไร และการที่กรมสรรพากรออกมาชี้แจงหากยังไม่มีการชายหุ้นที่ได้รับโอนมาก็ถือว่ายังไม่เกิดรายได้ แต่คำวินิจฉัยของกรมสรรพากรเมื่อครั้งที่นายอรัญ ธรรมโน ดำรงตำแหน่งปลัดกรมสรรพากร เมื่อปี 2538 ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนใครก็ตามที่ได้รับโอนหุ้นที่ราคาต่ำกว่าที่ซื้อขายกันในขณะนั้น ถือว่าการโอนหุ้นเป็นรายได้ของบุคคลคนนั้น ซึ่งมีคำวินิจฉัยอยู่แล้วหากวันข้างหน้ามีการนำหุ้นที่ได้รับโอนมาไปขายแล้วได้ราคาที่สูงกว่าที่ทำการซื้อมา เช่น กรณีที่ซื้อหุ้นมาในราคา 15 บาท แล้วนำไปขาย 30 บาท ผลต่างก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ตนคิดว่าเรื่องนี้ทางกรมสรรพากรไม่ควรวินิจฉัยแค่ฝ่ายเดียว ควรนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล หรือให้คณะกรรมการวินิจฉัยตามประมวลรัษฎากร สิ่งที่ตนอยากตั้งข้อสังเกตมีหน่วยงานอยู่หน่วยงานหนึ่งที่กรมสรรพากรตั้งขึ้น คือคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้วินิจฉัยว่า กรมสรรพากรได้เก็บภาษีต่อนายเรืองไกรอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ซึ่งหลักฐานนี้ยังปรากฏอยู่ในกรรมาธิการและยืนยันได้

“ผมไม่ทราบว่า ทำไมกรมสรรพากรถึงอ้างว่ากรณีของนายเรืองไกร คอมพิวเตอร์ประมวลผลผิดพลาด เพราะคอมพิวเตอร์ต้องประมวลผลตามที่เจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูลเข้าไป เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ต้องคิดว่าบุคคลคนนี้ต้องเสียภาษี จึงได้กดและคีย์ข้อมูลเข้าไป จู่ๆ คอมพิวเตอร์จะคิดได้อย่างไร จะโทษเครื่องมือไม่ได้” พล.ต.อ.ประทิน กล่าว

ขณะที่ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม. ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจว่าทำไม่กรมสรรพากรจะออกมาแถลงข่าวแก้ตัวขนาดนี้ ตนเองค่อนข้างเห็นใจกรมสรรพากรโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ เพราะว่าเจ้าหน้าที่คงลำบากใจไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นได้ก็ต้องแก้ตัว และเรื่องนี้จริงๆ แล้วสังคมต้องการคำอธิบายจากนายกรัฐมนตรี และภริยา ว่ามีแรงบันดาลใจอะไรถึงไปขายและโอนถ่ายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ และมีแรงบันดาลใจอะไรจึงขายในราคาที่ต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องการคำตอบ เพราะถ้าขายนอกตลาดหลักทรัพย์และไม่ขายในราคาต่ำขายในราคาที่ตลาดต้องเสียภาษีใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าขายนอกตลาดหลักทรัพย์และไม่ขายในราคาที่ต่ำคือตัวผู้ขายต้องเสียภาษี ซึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายให้นางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาว คนขายขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อมีกำไรต้องเสียภาษีใช่ไหม ทำไมถึงไม่ขายราคาต่ำจะได้ไม่ต้องเสียใช่ไหม

ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา กล่าวว่า สิ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามตอนนี้ คือ 1.ทำไมต้องขายนอกตลาดหลักทรัพย์สังคมกำลังสงสัย 2.ขายทอดตลาดหลักทรัพย์แล้วทำไมไม่ขายในราคาปกติ ทำไมขายในราคาต่ำ 3.การขายราคาต่ำผู้ขายคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่ต้องเสียภาษีที่ได้กำไรจากหุ้นใช่หรือไม่

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้นายเรืองไกรไม่ได้เข้ามาร้องเรียนที่กรรมาธิการเพราะนายเรืองไกรไม่ได้ต้องการที่จะเอาเงินภาษีคืน นายเรืองไกรเห็นว่าการที่จะต้องจ่ายค่าภาษีเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่เป็นเพราะกรรมาธิการกำลังสอบสวนในเรื่องนี้จึงได้เรียกนายเรืองไกรเข้ามาให้ข้อมูลและสอบสวนข้อเท็จจริงความจริงจึงปรากฏ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กรรมาธิการขอความร่มมือกับนายเรืองไกร เมื่อนายเรืองไกรไม่ได้มาร้องเรียนที่กรรมาธิการและนายเรืองไกรก็ไม่ได้ต้องการเงินคืนคำถามจึงอยู่ที่ว่า ทำไมกรมสรรพากรถึงต้องยัดเยียดคืนเงินให้แก่นายเรืองไกร เพื่อเป็นการกลบเกลื่อนอะไรหรือไม่

“บทบาทหน้าที่ของกรรมาธิการตอนนี้ทำได้แค่ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นคนตัดสิน แต่บุคคลอื่นสามารถดำเนินการในด้านอื่นๆ ได้ก็คือ คุณเรืองไกรน่าจะไปฟ้องต่อศาลภาษีว่าคุณเรืองไกรเป็นพลเมืองดี มีหน้าที่เสียภาษี แล้วเจ้าหน้าที่ทำแบบนี้คือคืนเงินมาจะทำให้คุณเรืองไกรตกเป็นผู้ทำผิดกฎหมายในอนาคต เพราะถ้าเกิดไม่ใช่รัฐบาลนี้ใครรื้อฟื้นขึ้นมา คุณเรืองไกรก็จะเป็นผู้หลบเลี่ยงภาษี คุณเรืองไกรก็จะโดนค่าปรับและโดนเบี้ยเพิ่ม เพราะฉะนั้น คุณเรืองไกรก็ต้องฟ้องศาลภาษีว่าตนเองจะต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายกันแน่ และอีกประเด็นหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือ ต้องมีผู้ไปกล่าวโทษว่ากรมสรรพากรทำไม่ถูกต้องตามหน้าที่ โดยแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้” ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาวุฒิสภา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น