xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นคุณค่าเสาอินทขีลหวังหนุ่มสาวรู้ค่าวัฒนธรรมล้านนา

เผยแพร่:   โดย: สำนักข่าวประชาธรรม

เชียงใหม่/นักวิชาการร่วมถกหาความหมายประวัติศาสตร์อินทขีล หวังชักนำคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิม รองซีอีโอจังหวัดหนุนฟื้นประวัติศาสตร์เพื่อเพิ่มยอดนักท่องเที่ยว ด้านชาวเชียงใหม่ติงอย่าฟื้นวัฒนธรรมเพื่อขายแต่นักท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเร็วๆนี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง อินทขีล กับการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ ทั้งนักวิชาการ พระสงฆ์ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป กว่า 100 คน

อ.เกริก อัครชิโนเรศ อาจารย์ประจำโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา กล่าวว่า จุดประสงค์ในการจัดเสวนาเรื่องเสาอินทขีล ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางทำให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่มากมายทั้งจากเอกสารโบราณ นิทาน ความเชื่อ บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ ให้เป็นองค์ความรู้ที่ชัดเจน หากสำเร็จจะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของภูมิปัญญา และคุณค่าของบ้านเมือง ว่ามีความสัมพันธ์กับชีวิตของพวกเขา

อ.เกริก กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้คนเชียงใหม่ยังเข้าใจว่าเสาอินทขีลที่อยู่บริเวณวัดเจดีย์หลวงเป็นเพียงเสาหลักเมืองเท่านั้น ทั้งที่เสาอินทขีลนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความสมานฉันท์ในการอยู่ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเขตล้านนา นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำเสาอินทขีลไปผูกโยงกับเรื่องคุณธรรม-จริยธรรมอย่างมากมาย แต่การศึกษาต้องใช้วิชาการวรรณคดีวิทยาขั้นสูง และจำเป็นต้องศึกษาความคิดของคนในสมัยนั้นด้วย เพื่อการตีความ การแปลความหมายเหตุการณ์ และสัญลักษณ์ต่างๆ

นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ความพยายามของนักวิชาการที่จะฟื้นฟูอดีตของประวัติเมืองเชียงใหม่ เรื่อง เสาอินทขีล ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง ต้องผลักดันต่อไป เพราะปัจจุบัน เมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเก่าแก่กว่า 700 ปี กลับมีหลักฐานทางเป็นประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ไม่ชัดเจน ฉะนั้นการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นเอกลักษณ์ความเป็นเชียงใหม่ที่ไม่มีเหมือนที่ไหนในโลก ย่อมส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต้องการมาเยี่ยมชมความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนาประชาชนชาวเชียงใหม่ต่างแสดงความเห็นว่า ต้องการสนับสนุนให้มีการฟื้นฟู ทบทวนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเสาอินทขีล แต่ถึงอย่างไรเมื่อได้ข้อสรุปอย่างถูกต้องแล้ว ก็อยากให้คณะที่ทำการศึกษาเน้นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ต่างๆ ให้กับคนเชียงใหม่มากกว่าที่ให้กับนักท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทางจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็จะทำการประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมเฉพาะด้านการท่องเที่ยวต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น .
กำลังโหลดความคิดเห็น