xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ศูนย์วิจัย ‘TranSIT’ ม.เกษมบัณฑิต ห่วงนักเรียน-คนข้ามถนน หวั่นอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นหลังเปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผศ.ดร.ภาวัต ไชยชาณวาทิก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการขนส่งอย่างยั่งยืน (Transportation Sustainability and Innovation of Technology Research Center: TranSIT) และรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ผอ.ศูนย์วิจัย‘TranSIT’
ม.เกษมบัณฑิต ห่วงนักเรียน-คนข้ามถนนหวั่นอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นหลังเปิดเทอม
แนะภาครัฐเข้มข้นระเบียบวินัยจราจร- ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มความปลอดภัย
ชู‘อารยสถาปัตย์’ สร้างทางข้ามที่ปลอดภัยเพื่อทุกคนในสังคม


สืบเนื่องจากข่าวอุบัติเหตุจราจรทางถนนที่เกิดขึ้นมาก และในช่วงเวลานี้ซึ่งเป็นเวลาของการเปิดภาคการศึกษาใหม่ จึงอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน เยาวชนและนักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปขณะข้ามถนน ไม่เว้นแม้แต่การถูกรถชนขณะข้ามทางม้าลาย และอุบัติเหตุของรถรับส่งนักเรียน
ผลกระทบและอันตรายดังกล่าว ส่งผลให้ ผศ.ดร.ภาวัต ไชยชาณวาทิก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการขนส่งอย่างยั่งยืน (Transportation Sustainability and Innovation of Technology Research Center: TranSIT) และรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งและความปลอดภัยทางถนน ได้กล่าวกับผู้จัดการออนไลน์ว่า

“ปัจจุบัน ปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเปิดเทอมกำลังเป็นปัญหาที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะยิ่งภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล๊อคดาวน์ให้มีเรียนและทำงานกันตามปกติได้ อย่างไรก็ตามยังมีอีกปัญหาการจราจรสำคัญที่เรากำลังมองข้ามไป ก็คือ ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดกับนักเรียน นักศึกษาที่ต้องเดินทางไป-กลับสถานศึกษา และแม้แต่การเดินข้ามถนนในช่วงสั้นๆ ก็ล้วนมีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้”


ผศ.ดร.ภาวัต กล่าวด้วยว่า “แต่ละปีอุบัติเหตุจราจรทางถนน ทำให้ประเทศไทยสูญเสียกว่า 2-3% ของ GDP ของประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ว่า ที่ผ่านมาหลายๆ หน่วยงานจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ แต่ในปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยกลับติดอันดับที่ 2 ของโลก มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 36.2 คนต่อประชากรแสนคน หรือคิดเป็นประมาณ 60 คนต่อวัน โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่ถึงประมาณร้อยละ 80 เป็นกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ก็คือ ช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงาน ทั้งนี้เมื่อศึกษาลงในรายละเอียด พบว่าสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากปัจจัยด้าน “คน” เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นหลักถึงร้อยละ 95 และปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุจราจร ก็คือ พฤติกรรมในการขับขี่ที่ไม่เหมาะสม และการใช้ความเร็วที่สูง”

“แม้ว่าที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเร่งแก้ไขปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของทางข้ามม้าลาย ให้มีความเด่นชัด มองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงมีเนินลูกระนาดเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะลดความเร็วลง แต่หากเราสังเกตพฤติกรรมการขับขี่และใช้ความเร็วในบริเวณดังกล่าวก็จะพบว่า พฤติกรรมการขับขี่และการใช้ความเร็วก็ยังคงเป็นเช่นเดิม ทั้งนี้ การออกแบบถนนให้เป็นระบบที่ปลอดภัย (Safe System) ในหลักทางด้านวิศวกรรม เราสามารถออกแบบทางข้ามที่บังคับให้รถใช้ความเร็วที่เหมาะสม และชะลอความเร็วลงก่อนถึงทางข้าม เราสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่การปรับปรุงทางถนนนั้นยังถือเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบจราจร ซึ่งสุดท้ายแล้วปัญหาที่แท้จริงยังเกิดจากคนที่มีพฤติกรรมในการขับขี่ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นทางภาครัฐต้องมีมาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย การเข้มงวดเรื่องใบอนุญาตขับขี่ (ยึดง่ายได้ยาก) ร่วมกับการให้ความรู้ รณรงค์และประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการใช้ถนน จึงจะสามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการเดินทางอย่างปลอดภัย” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย TranSIT ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

“ในเวลานี้ ผมเป็นห่วงจริงๆ เพราะว่าเปิดเทอมแล้ว และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณหมอกระต่าย (หมายเหตุ: พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล จักษุแพทย์ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ พุ่งชนขณะข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย) ทำให้เกิดความตระหนักในความสูญเสียต่อสังคมที่ชัดเจนเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใกล้ตัว ดังนั้น เราต้องมองว่าเป็นเรื่องสำคัญนะครับ ชีวิตของลูกหลานคนไทยควรให้ความสำคัญ ในเรื่องของการเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย จักรยานยนต์ปลอดภัย สำหรับการออกแบบทางข้ามก็ควรจะทำให้ปลอดภัยมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้าเราจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งจะให้ผู้สูงอายุเดินขึ้นสะพานลอยข้ามถนนคงก็ไม่ไหวหรอกครับ เพราะฉะนั้น ‘ทางข้าม’ ควรเป็นมิตรกับคนใช้ถนนทุกกลุ่ม สิ่งนี้ผมมองว่าสำคัญ”

“เราต้องเน้นเรื่องของ ‘อารยสถาปัตย์’ ‘การออกแบบเพื่อคนทุกคน’ Universal Design (Universal Design เป็นการออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่างๆ ให้สามารถรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายต่างจากบุคคลทั่วไป)
ผมมองว่าประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจ เป็นสิ่งที่ควรทำ”


สำหรับ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการขนส่งอย่างยั่งยืน (Transportation Sustainability and Innovation of Technology Research Center: TranSIT) ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านการจราจรและขนส่ง ทั้งปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และปัญหาการจราจรติดขัด โดยที่ผ่านมา ศูนย์ TranSIT ได้ดำเนินการให้การบริการด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการให้การฝึกอบรมให้ความรู้ด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งให้กับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งให้ความรู้กับนักเรียนและชุมชนที่อยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย


ปัจจุบัน ศูนย์ TranSIT ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 7 ด้วยแนวคิดในการส่งมอบองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่สังคม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการ 3 ข้อหลัก คือ 1.การพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการจราจรและขนส่ง 2.การฝึกอบรม/ให้ความรู้ด้านการจราจรและขนส่ง 3.การให้บริการวิทยาการด้านการจราจรและขนส่งแก่หน่วยงานและชุมชน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับ ด้านการจราจร – ความปลอดภัยทางถนน - การวิเคราะห์ระดับการให้บริการบนช่วงทางหลวง – การศึกษาและเสนอแนะเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาการจราจร – การวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านการจราจร เป็นต้น โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยจากหลายหน่วยงาน”

จากผลงานที่หยิบยกมาเบื้องต้น จึงเห็นได้ว่า ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการขนส่งอย่างยั่งยืน (Transportation Sustainability and Innovation of Technology Research Center: TranSIT) ได้ดำเนินโครงการ สร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งเพื่อมุ่งหวังให้การแก้ไขปัญหาจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง


เมื่อถามว่า มีสิ่งใดอีกบ้างที่ ‘TranSIT’ จะดำเนินการในปีนี้

ผศ.ดร.ภาวัต กล่าวว่า “ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ซึ่งได้เน้นการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น และตอนนี้ศูนย์ TranSIT มีความพร้อมในด้านองค์ความรู้และจากประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือกับหลายหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เรายังมีแผนในการจัดการฝึกอบรมด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งทั้งแบบ Degree และ Non degree ให้กับหน่วยงานภายนอก ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เรายังเป็นองค์กรแม่ข่ายในการฝึกอบรมการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมต่อเนื่องให้กับวิศวกร ภายใต้การกำกับของสภาวิศวกรอีกด้วย

นอกจากนี้เรายังได้ทำการพัฒนาการเรียนการสอน โดยเพิ่มวิชาทางด้านวิศวกรรมขนส่งและจราจรเข้าไปในหลักสูตรระดับปริญญาโท วศ.ม.การจัดการงานวิศวกรรม และในปัจจุบันทางศูนย์ TranSIT เองก็ได้มีการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งงบประมาณหรือทุนส่วนหนึ่งที่เราได้มาจากงบวิจัย เราก็จะนำมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปครับ

ทั้งหมดนี้ เราพยายามพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานของ TranSIT เพื่อเป็น ‘สถาบัน’ ที่มีครบทุกมิติทั้งการเรียนการสอน การฝึกอบรม การวิจัยและบริการวิชาการด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่ง เพื่อกระจายความรู้เพื่อช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น ก็อยากจะทำให้ได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์แก่สังคมให้ได้มากที่สุดครับ”

ผศ.ดร.ภาวัต ระบุก่อนจะฝากทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า
“วันนี้เราต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การแก้ปัญหาในเรื่องความปลอดภัยทางถนนถือเป็นเรื่องที่ยาก ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญและแก้ปัญหาให้ถูกจุด ... เด็กนักเรียนต้องเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย ทางม้าลายไม่ควรจะมีการชนคนเกิดขึ้น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ควรจะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การออกแบบถนนในเมืองจะต้องทำให้รถยนต์ใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่โดยรอบ การแก้ปัญหาพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การขับรถย้อนศร เป็นต้น ซึ่งทางเจ้าหน้าตำรวจเองก็มีภาระหน้าที่มากอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น ในต่างประเทศเราจะเห็นว่ามีการใช้กล้องวงจรปิด หรืออุปกรณ์ตรวจจับความเร็วมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบังคับใช้กฎหมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ประเด็นเรื่องใบขับขี่ก็ควรต้องให้มีความยากในการได้มา แล้วก็ต้องยึดได้ง่ายหากมีการกระทำผิดกฎจราจรและควรจะมีบทลงโทษที่เหมาะสม”

“ผมมองว่านอกจากด้านวิศวกรรม (Engineering) เราต้องเน้นแก้ที่ ‘คน’ ... การให้ความรู้ (Education) เรื่องการจราจรและการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ”

………………………………
* หมายเหตุ ประวัติโดยคร่าวของ ผศ.ดร.ภาวัต ไชยชาณวาทิก
ประวัติการศึกษา
ปริญญาตรี วศ.บ.โยธา และ ปริญญาโท วศ.ม.โยธา (ขนส่ง) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ปริญญาเอกด้านวิศวกรรมขนส่ง จาก Asian Institute of Technology (AIT)

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง
- รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการขนส่งอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
รับผิดชอบการสอนวิชา วิศวกรรมขนส่ง วิศวกรรมจราจร วิศวกรรมทางหลวง การจัดการขนส่ง และเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมด้านการท่าเรือแห่งประเทศไทย

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล อาทิ :
• “รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับดีมาก” พ.ศ.2562, ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ที่มีผลงานด้านวิชาการดีเด่น มีคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ อุทิศตนเพื่อการเรียนการสอน มีผลงานด้านวิจัย บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง, สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสอท.)
• รางวัลนักวิจัยดีเด่นประจำปีการศึกษา 2559 ของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
• รางวัล Best Presentation: Paper presented at The 36st International and National Conference of Engineering: INCEE#12, Nakornnayok, Thailand.
• และรางวัลผลงานวิจัยด้านความปลอดภัยทางถนนจากหลายหน่วยงาน