xs
xsm
sm
md
lg

หมอสูติเผยหากกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนในหญิงสาวที่กินยาคุม แนะควรหยุดยาก่อน 1 เดือน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.โอฬาริก สูตินรีแพทย์ ได้ออกมาตอบข้อสงสัยของประชาชนในการใช้ยาคุมกำเนิดกระตุ้นการเกิดลิ่มเลือด แนะหากกังวลและต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนควรหยุดยาคุมชนิดฉีดล่วงหน้า 3 เดือน และชนิดรับประทานล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันน้อยลง

จากกรณีดรามาในโลกออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์สาเหตุการเสียชีวิตหลังการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งเพื่อนของผู้ตายตั้งข้อสงสัยว่าผู้ตายได้รับประทานยาคุมกำเนิดแล้วไปฉีดวัคซีน ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหรือไม่นั้น ตามที่เคยนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Olarik Musigavong” หรือ นายแพทย์ โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้โพสต์คลิปวิดีโอระบุชื่อคลิป “การแพทย์แปดนาที ครั้งที่ 922 ลิ่มเลือดอุดตัน ยาคุม วัคซีนโควิด” โดยนายแพทย์ โอฬาริก พร้อมข้อความว่า “วันนี้ผมจะพูดในเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นคือการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ดีนั้น ตามข้อมูลที่มียังบอกไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือเปล่า รวมถึงกรณีที่คนไข้กินยาคุมกำเนิดนั้นส่งผลไหม

โดยใช้ 2 หลักการ คือ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และประสบการณ์ โดยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การที่เราเป็นคนธรรมดาไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดเลยก็มีโอกาสเป็นลิ่มเลือดอุดตัน “คนปกติทั่วไปก็สามารถเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้” ในผู้หญิงโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้คือการตั้งครรภ์ และหลังคลอด ส่วนการกินยาคุมกำเนิดก็เพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ โดยลิ่มเลือดจะไปอุดตันที่เส้นเลือดดำหรือปอดก็ได้ หลายๆ ครั้งเกิดลิ่มเลือดที่ขา แล้วลอยมาที่ปอด ทำให้บางครั้งคนไข้อาจมีอาการขาบวม อยู่ดีๆ หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ซึ่งมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันเยอะขึ้นในคนที่กินยาคุมกำเนิด คือ อ้วน, สูบบุหรี่, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

ทั้งนี้ จะใช้ยาคุมกำเนิดอย่างไรให้เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันน้อยลงในกลุ่มนี้แพทย์มักจะไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง (50 ไมโครกรัม) ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเช่นกัน ฉะนั้นเวลาไปซื้อยาคุมกำเนิดให้แจ้งเภสัชกรว่าต้องการยาคุมกำเนิดที่มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันน้อย ก็ให้ดูที่ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่เกิน 50 ไมโครกรัม และต้องดูชนิดของฮอร์โมนโปรเจสตินว่าเป็นรุ่นไหน ซึ่งรุ่น 3 จะทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูง การเกิดลิ่มเลือดจากยาคุม และการเกิดลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนเป็นคนละชนิด

อย่างไรก็ตาม กลไกการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในยาเม็ดคุมกำเนิด กับการเกิดลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นคนละชนิดกัน หมายความว่า ตามข้อมูลที่มีนั้นการกินยาคุมกำเนิดสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ เพราะไม่ได้มีข้อมูลว่ามันเกี่ยวข้องกัน

และถ้ากินยาคุมอยู่แล้วจะไปฉีดวัคซีนต้องทำอย่างไร หากกังวลก็ให้หยุดยาคุมก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไปใช้การคุมกำเนิดชนิดอื่น ซึ่งต้องหยุดยาคุมนานเท่าไหร่ หมอก็ต้องใช้ข้อมูลเท่าที่มีมาบอก เช่น ปกติก่อนการผ่าตัดก็ต้องให้หยุดฮอร์โมน 1 เดือนก่อนผ่าตัด ถ้าอยากให้ร่างกายคลีน ปราศจากฮอร์โมนของยาเม็ดคุมกำเนิดเลยก็ต้องหยุดยาคุม 1 เดือน ย้ำอีกครั้งว่าไม่มีข้อมูลว่าการฉีดยาคุมกำเนิด และการฉีดวัคซีนจะเพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่ถ้าอยากหยุดก่อนไปฉีดวัคซีนก็ให้หยุดยาคุมกำเนิดชนิดฉีด ก่อนไปฉีดวัคซีน 3 เดือน และสามารถฉีดวัคซีนตอนเป็นประจำเดือนได้ไหม อย่างที่บอกว่าไม่มีข้อมูล แต่ผู้หญิงโดยทั่วไปเวลามีประจำเดือนก็ไม่สบายตัวอยู่ ก็ให้เลื่อนฉีดสักหน่อยจะได้สบายใจ เอาเป็นว่าหลังประจำเดือนก็ค่อยฉีดวัคซีน

คลิกชมวีดีโอต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น